xs
xsm
sm
md
lg

ศาลซูดานสั่ง “ปล่อยตัว” หญิงคริสเตียนที่ถูกตัดสินประหารชีวิตฐาน “ละทิ้ง” ความเชื่อทางศาสนาเดิม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มาเรียม ยาห์ยา อิบรอฮิม หญิงสาวชาวซูดานที่ถูกศาลตัดสินลงโทษประหารชีวิตจากการเปลี่ยนความเชื่อ กำลังอุ้มลูกสาวที่เธอให้กำเนิดขณะถูกคุมขัง
รอยเตอร์ - หญิงวัย 27 ปีคนหนึ่งซึ่งถูกศาลซูดานตัดสินลงโทษประหารชีวิตเมือเดือนที่แล้ว จากการที่เธอเลิกนับถือศาสนาอิสลามแล้วหันมานับถือศาสนาคริสต์ ได้รับอิสรภาพแล้ววานนี้ (23 มิ.ย.) หลังรัฐบาลกล่าวว่าได้รับแรงกดดันมหาศาลจากนานาชาติ “อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน”
ศาลซูดาน
เมื่อเดือนที่แล้ว มาเรียม ยาห์ยา อิบรอฮิม หญิงชาวซูดานที่สมรสกับชายชาวอเมริกันถูกศาลซูดานสั่งให้กลับไปนับถือศาสนาอิสลามตามเดิม ทั้งยังถูกตัดสินลงโทษโบย 100 ครั้ง และประหารชีวิต

การปล่อยตัวมาเรียมนับเป็นข่าวดีสำหรับบรรดาองค์กรสิทธิมนุษยชน และเหล่ารัฐบาลชาติตะวันตกที่ก่อนหน้านี้แสดงท่าทีโกรธแค้นคำตัดสิน

เมื่อเดือนที่แล้ว อังกฤษได้เรียกตัวอุปทูตซูดานมาฟังการคัดค้านคำพิพากษาของศาล

สำนักข่าวซูนาของซูดานรายงานว่า “ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ปล่อยตัวมาเรียม ยาห์ยา และยกเลิกคำตัดสินของศาล (เมื่อก่อนหน้านี้)” ขณะที่เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของรัฐบาลบอกรอยเตอร์ว่า เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม เจ้าหน้าที่ของซูดานได้ดำเนินการต่างๆ เพื่อให้มาเรียมได้รับอิสรภาพ

โมฮาเหน็ด มอสตาฟา ทนายความของมาเรียมบอกรอยเตอร์ว่า อิบรอฮิมถูกส่งไปในสถานที่ซึ่งไม่ได้รับการเปิดเผยเพื่อความปลอดภัย “ครอบครัวของเธอได้รับคำขู่ก่อนหน้านี้ เราจึงกังวลว่า อาจมีใครบางคนพยายามทำร้ายเธอ”

ระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำ อิบรอฮิมได้ให้กำเนิดลูกสาว 1 คน ซึ่งเป็นลูกคนที่ 2 ของเธอกับแดเนียล วานี สามีของมาเรียม ซึ่งแต่งงานกันเมื่อปี 2011

กระทรวงการต่างประเทศซูดานแถลงว่า นานาชาติได้ออกมากดดันให้ปล่อยตัวอิบรอฮิมกันมากมาย “ชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”

ทางด้าน จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ก็ออกมาแสดงความยินดีที่ซูดานตัดสินใจปล่อยตัวอิบรอฮิม

เคร์รีระบุในคำแถลง ที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ นำออกเผยแพร่ว่า “ทั่วโลกพากันจับตามองคดีของเธอ ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ และพลเมืองมากมายของเรา ตลอดจนบรรดาสมาชิกสภาสหรัฐฯ ต่างก็รู้สึกกังวลเป็นอย่างยิ่ง”

เคร์รีกล่าวเสริมว่า “นับจากนี้ไป เราคาดหวังกันว่า รัฐบาลซูดานจะสามารถเดินหน้าสร้างอนาคตที่แตกต่างและเปี่ยมไปด้วยความหวังให้แก่ประชาชนชาวซูดาน”

เมื่อปี 1997 สหรัฐฯ ได้ประกาศคว่ำบาตรซูดาน เนื่องจากปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และสิ่งที่พวกเขาชี้ว่าเป็นการส่งเสริม “การก่อการร้ายสากล” จากนั้นเมื่อปี 2006 สหรัฐฯ ได้ยกระดับการใช้มาตรการลงโทษให้รุนแรงมากขึ้นในช่วงที่ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลซูดานกับกลุ่มกบฏรัฐดาร์ฟูร์ยังคงยืดเยื้อ
พื้นที่สีขาวแสดงตำแหน่งที่ตั้งของประเทศซูดาน
กำลังโหลดความคิดเห็น