รอยเตอร์ - รัฐมนตรีต่างประเทศของทั้งรัสเซียและยูเครน ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เมื่อวันพุธ (2 ก.ค.) เห็นพ้องจัดการเจรจา 3 ฝ่ายที่รวมถึงพวกกบฏนิยมมอสโกในวันเสาร์นี้ (5) เพื่อเปิดทางสำหรับข้อตกลงหยุดยิงรอบใหม่ แม้ยังคงมีเหตุปะทะกันอย่างไม่ลดละที่ทางเคียฟอ้างว่าจนถึงตอนนี้ทหารของพวกเขาเสียชีวิตไปแล้ว 200 นาย
“มันเป็นคำสัญญาที่ชัดเจนต่อข้อตกลงหยุดยิงหลายฝ่าย” นายแฟรงค์-วอลเตอร์ สไตน์ไมเออร์ รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี กล่าวหลังจากหารือกับนายเซอร์เก ลาฟรอฟ จากรัสเซีย นายพาฟโล คลิมคินของยูเครนและโลร็องต์ ฟาบิอูส์ แห่งฝรั่งเศส
รัสเซียและยูเครนยังคงกล่าวโทษกันไปมาต่อเหตุความรุนแรงที่กัดเซาะข้อตกลงหยุดยิง 10 วัน ที่เมื่อวันจันทร์ (30 มิ.ย.) เคียฟเพิ่งประกาศไม่ต่ออายุออกไปอีกรอบ ก่อนคืนสู่ปฏิบัติการโจมตีทางทหารต่อฝ่ายกบฏทางภาคตะวันออกของประเทศ ที่เพิกเฉยต่อประกาศหยุดยิง
อย่างไรก็ตาม นายลาฟรอฟกล่าวระหว่างแถลงข่าวร่วมกับนายคลิมคินและรัฐมนตรีต่างประเทศอีก 2 ราย ว่าพวกเขาเห็นพ้องร่วมกันทำงานเพื่อข้อตกลงหยุดยิงระยะยาวและมั่นคง “เราเสนอว่าความสำเร็จนี้จะมีขึ้นได้ต้องผ่านการประชุมโดยเร็วที่สุดของกลุ่มประสานงาน เราหวังว่าจะจัดการประชุมได้ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า และสามารถเห็นพ้องกันในเงื่อนไขต่างๆของข้อตกลงหยุดยิงซึ่งเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย”
ในถ้อยแถลงที่เห็นพ้องโดยรัฐมนตรีต่างประเทศทั้ง 4 ราย ระบุต่อว่ากลุ่มประสานงานที่ประกอบด้วยผู้แทนของยูเครน รัสเซียและฝ่ายกบฏ ซึ่งมีองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรปเป็นคนกลาง ควรนัดพบกันไม่เกินวันที่ 5 กรกฎาคม ด้วยมีเป้าหมายบรรลุข้อตกลงหยุดยิงที่ยั่งยืนอย่างไม่มีเงื่อนไขและเห็นชอบร่วมกัน
กระนั้น นายคลิมคินเน้นว่า ต้องมีการปล่อยตัวประกันและเปิดทางให้ยูเครนเข้าควบคุมตามแนวชายแดนเพื่อหยุดยั้งการลักลอบลำเลียงนักรบและอาวุธชุดใหม่เข้ามาสนับสนุนฝ่ายกบฏ ขณะที่ในเอกสารคำแถลงบอกด้วยว่ารัสเซียได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะยอมให้หน่วยพิทักษ์ชายแดนยูเครมข้ามด่านตรวจในกูโคโวและโดเนตส์กเพื่อบรรลุจุดประสงค์นั้น “สถานการณ์จะเบาบางลงได้เมื่อแผนสันติภาพของประธานาธิบดียูเครนได้รับความเคารพโดยสมบูรณ์”
นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีเตือนมอสโก ไม่นานก่อนหน้าการหารือว่า มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจยังคงอยู่ในทางเลือก จนกว่ารัสเซียจะสนับสนุนความพยายามสร้างสันติภาพในยูเครน หลังจากก่อนหน้านี้สหภาพยุโรปเคยขู่คว่ำบาตรเศรษฐกิจเครมลินหนักหน่วงยิ่งขึ้น จนกว่าจะหยุดถือหางพวกแบ่งแยกดินแดนทางตะวันออกของยูเครน แม้ว่ามอสโกปฏิเสธมาโดยตลอด
ทั้งนี้ ประธานาธิบดีเปโตร โปโรเชนโก ซึ่งถูกกระแสกดดันภายในประเทศ ให้ใช้มาตรการแข็งกร้าวกับกลุ่มกบฎในยูเครนตะวันออก ปฏิเสธที่จะขยายข้อตกลงหยุดยิงที่สิ้นสุดลงเมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา (30 มิ.ย.) และสั่งให้รัฐบาลใช้กำลังตอบโต้ “ผู้ก่อการร้าย กองโจร และโจรปล้นสะดม”
การตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นภายหลังการหารือทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย, นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคลของเยอรมนี และประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองด์จากฝรั่งเศส โดยในส่วนของปูตินนั้นได้ออกมาแถลงโจมตีโปโรเชนโกทันทีว่า ออกนอกเส้นทางสันติภาพ
ตรงข้ามกับวอชิงตันที่ออกมาสนับสนุนการตัดสินใจของโปโรเชนโก โดยเจน ซากี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงเมื่อวันอังคารว่า ยูเครนมีสิทธิป้องกันตัวเอง เนื่องจากตลอดระยะเวลาในการหยุดยิง เคียฟปฏิบัติตามข้อตกลงเพียงฝ่ายเดียว ขณะที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนจำนวนมากยังคงก่อความรุนแรงต่อเนื่อง