เอเอฟพี - เกาหลีใต้วันนี้ (1 ก.ค.) แถลงว่า กำลังพิจารณาข้อเสนอจาก 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอากาศยาน ได้แก่ แอร์บัส โบอิ้ง และอิสราเอล แอโรสเปซ อินดัสทรีส์ (ไอเอไอ) ที่เสนอจะจัดหาเครื่องบินเติมเชื้อเพลิงทางอากาศ ในข้อตกลงที่ประมาณการกันไว้ว่าจะมีมูลค่าถึง 1.38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.5 หมื่นล้านบาท)
สำนักงานบริหารโครงการจัดซื้อด้านกลาโหม (ดีเอพีเอ) ของเกาหลีใต้กล่าวว่า ได้รับซองประกวดราคาจากทั้งสามบริษัท โดยตั้งเป้าว่าจะสามารถเลือกผู้ชนะการประมูลในขั้นตอนสุดท้ายได้ ภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้
ยุทโธปกรณ์ที่มีการยื่นซองเสนอราคามีดังเช่น เครื่องบินเติมน้ำมันและลำเลียงอเนกประสงค์แอร์บัส A330, เครื่องบินเติมเชื้อเพลิงทางอากาศ KC-46 ของโบอิ้ง และเครื่องบินเติมน้ำมันและลำเลียงอเนกประสงค์ 767/300 ซึ่งผ่านการยกเครื่องและผลิตโดยไอเอไอ
ดีเอพีเอระบุในคำแถลงว่า “เราจะประเมินอากาศยานทั้งสามประเภทที่ได้รับการเสนอจากทางบริษัทนับตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมนี้”
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานของเกาหลีใต้ไม่ได้ชี้แจงว่าจะสั่งซื้ออากาศยานทั้งหมดกี่ลำ แต่แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมระบุว่า 4 ลำ
บริษัทโบอิ้งของสหรัฐฯ และแอร์บัสของยุโรป กำลังแข่งขันกันทำสัญญาผลิตเครื่องบินเติมเชื้อเพลิงทางอากาศให้แก่กองทัพทั่วโลก
ตามข้อมูลของวารสาร “ไอเอชเอส เจนส์ ดีเฟนซ์ วีกลีย์” ตอนนี้มีเครื่องบินเติมน้ำมันและลำเลียงอเนกประสงค์ของแอร์บัส ประจำการอยู่ในออสเตรเลีย ซาอุดีอาระเบีย อังกฤษ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
เมือเดือนมีนาคม บริษัทนี้ได้รับคำสั่งซื้ออากาศยานเติมเชื้อเพลิงมูลค่า 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.5 หมื่นล้านบาท) เพื่อนำมาใช้แทนเรือเติมน้ำมันลำเก่าของกองทัพอากาศสิงคโปร์ซึ่งผลิตโดยโบอิ้ง
เมื่อปี 2011 โบอิ้งสามารถเอาชนะบริษัทคู่แข่งในยุโรปเจ้านี้ จนได้ทำสัญญามูลค่าประมาณ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9.72 แสนล้านบาท) เพื่อส่งเครื่องบินเติมเชื้อเพลิงทางอากาศ KC-46 เข้าทดแทนฝูงบินเติมน้ำมัน KC-135 ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ที่เริ่มมีสภาพทรุดโทรมลง โดยคาดว่าจะเริ่มส่งสินค้าล็อตแรกในปี 2017
ทั้งนี้ ในอดีต กองทัพเกาหลีใต้เคยสั่งซื้อยุทโธปกรณ์จากผู้ผลิตสินค้าในสหรัฐฯ เป็นหลัก โดยเฉพาะในส่วนของกองทัพอากาศ ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความใกล้ชิดระหว่างกองทัพของสองชาติพันธมิตร