สถานการณ์ใน “อิรัก” ตกเป็นกระแสข่าวดังทั่วโลกอีกครั้งในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังกลุ่มติดอาวุธมุสลิมสุหนี่ได้บุกยึดเมืองทางสำคัญทางตอนเหนือของประเทศ เรื่อยไปจนถึงพรมแดนตะวันตกฝั่งที่ติดกับซีเรีย และล่าสุดกำลังรุกคืบเข้าสู่เมืองหลวงอย่าง “แบกแดด” คุกคามการอยู่รอดของรัฐบาล นูรี อัล-มาลิกี ผู้นำอิรักซึ่งนับถืออิสลามนิกายชีอะห์
หลายคนตั้งคำถามว่า ระยะเวลาเพียงแค่ 2 ปีครึ่งหลังจากที่ทหารอเมริกันแพ็กกระเป๋ากลับบ้านเกิด เหตุใดอิรักจึงหวนกลับสู่สภาพไร้ขื่อแปอย่างรวดเร็วและรุนแรงเช่นนี้?
อันที่จริงสัญญาณความวุ่นวายในอิรักปรากฏให้เห็นมานานแล้ว หากไม่นับย้อนไปถึงความแตกแยกระหว่างมุสลิมนิกายสุหนี่กับชีอะห์เมื่อหลายร้อยปีก่อน ซึ่งเกิดจากข้อพิพาทว่าด้วยตัวบุคคลที่จะสืบทอดตำแหน่งผู้นำชาวุมสลิมต่อจากศาสดามูฮัมหมัด ก็อาจจะเริ่มมองตั้งแต่ที่สหรัฐฯ นำกำลังบุกอิรัก และโค่นอำนาจของ ซัดดัม ฮุสเซน ลงเมื่อปี 2003
เป็นเวลากว่า 20 ปีที่รัฐบาล ซัดดัม ปกครองอิรักด้วยระบอบกำปั้นเหล็ก ให้สิทธิพิเศษแก่ชาวมุสลิมสุหนี่ซึ่งเป็นนิกายเดียวกับผู้นำ ขณะที่มุสลิมชีอะห์และชาวเคิร์ดถูกแบ่งแยกกีดกัน สหรัฐฯ ซึ่งกำลังเป็นเดือดเป็นแค้นกับเหตุวินาศกรรมนิวยอร์กเมื่อวันที่ 11 กันยายน ปี 2001 ซึ่งเป็นฝีมือกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์ จึงหวังที่จะเข้าไปเปลี่ยนระบอบการปกครองในอิรักให้เป็นประชาธิปไตยที่เป็นมิตร แต่ถึงแม้จะโค่น ซัดดัม ลงได้ กองกำลังอเมริกันในอิรักก็ยังต้องรับมือกับสงครามแบ่งแยกฝักฝ่ายระหว่างมุสลิมต่างนิกาย อันนำมาซึ่งนำการสังหารหมู่พลเมืองอิรักหลายหมื่นคนในช่วงปี 2006-2007
อนาคตของอิรักเป็นที่จับตามองอีกครั้งหลังสหรัฐฯ ถอนทหารอเมริกันออกไปจนหมดสิ้นในปี 2011 วอชิงตันแนะนำให้นายกรัฐมนตรี นูรี-อัล มาลิกี จัดตั้งรัฐบาลที่แบ่งปันสิทธิประโยชน์ให้กับมุสลิมสุหนี่ มุสลิมชีอะห์ และชาวเคิร์ด อย่างเท่าเทียม เพื่อฟื้นฟูประเทศที่บอบช้ำจากสงครามมานานนับสิบปี แต่เหตุการณ์ก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่อเมริกาต้องการ ชาวสุหนี่ในอิรักยังโอดครวญว่าพวกเขายังถูกแบ่งแยก จำคุก และล่วงละเมิดโดยรัฐบาลที่พวกชีอะห์ครองอำนาจ ขณะที่ชาวเคิร์ดก็มุ่งมั่นที่จะสร้างเขตปกครองตนเองในดินแดนตอนเหนือของอิรักซึ่งรุ่มรวยไปด้วยทรัพยากรน้ำมัน
ต่อมาในปี 2013 สถานการณ์ความมั่นคงในอิรักตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว ชาวมุสลิมสุหนี่ออกมาเดินขบวนประท้วงรัฐบาล ส่วนกลุ่มติดอาวุธที่ได้แรงบันดาลใจจากเครือข่ายอัลกออิดะห์ยกระดับการโจมตีหนักหน่วงยิ่งขึ้น ขณะที่สงครามกลางเมืองในซีเรียก็ส่งผลกระทบข้ามพรมแดนมาถึงอิรัก
สำหรับกลุ่มรัฐอิสลามในอิรักและเลแวนต์ (Islamic State of Iraq and Levant - ISIL) ที่กำลังรุกคืบยึดเมืองสำคัญในอิรักอยู่ในเวลานี้ อาจจะเป็นที่คุ้นหูมากกว่าในชื่อ “อัลกออิดะห์ในอิรัก” โดยเป็นกลุ่มติดอาวุธนิกายสุหนี่ที่ก่อเหตุโจมตีมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน และเคยทำลายมัสยิด อัล-อัสการี ศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ของชาวชีอะห์ในเมืองซามาร์รา เมื่อปี 2006
เป้าหมายสูงสุดของ ISIL ก็คือการสถาปนารัฐอิสลามที่ปกครองด้วยกฎหมายชารีอะห์ใน “ดินแดนเลแวนต์” ซึ่งหมายถึงตอนใต้ของตุรกีเรื่อยไปจนถึงอียิปต์ ครอบคลุมทั้งดินแดนของซีเรีย จอร์แดน และอิสราเอล
ISIL เกี่ยวข้องกับซีเรียอย่างไร?
กระแสปฏิวัติประชาธิปไตย “อาหรับสปริง” อันนำมาซึ่งการสิ้นอำนาจของผู้นำเผด็จการทั้งในตูนิเซีย, อียิปต์, ลิเบีย และเยเมน ส่งอิทธิพลไม่น้อยต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มติดอาวุธนิกายสุหนี่ในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะสงครามกลางเมืองในซีเรียซึ่งเป็นการต่อสู้ระหว่างกบฏมุสลิมสุหนี่กับกองทัพของประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด ซึ่งเป็นมุสลิมอลาวียะห์ สาขาย่อยของอิสลามนิกายชีอะห์
ISIL ได้เข้าร่วมต่อสู้กับกองกำลังต่อต้านรัฐบาลซีเรีย ขณะเดียวกันก็แสวงหาแนวร่วมใหม่ๆ ในหมู่นักรบต่างชาติที่หลั่งไหลเข้าไปช่วยโค่นล้ม อัสซาด และตั้งกองกำลังปฏิบัติการขึ้นในซีเรียซึ่งจะถูกใช้เป็นฐานสำหรับการรุกรานอิรัก กลุ่มติดอาวุธได้ยึดพื้นที่กว้างขวางบริเวณแนวพรมแดนอิรัก-ซีเรีย และเปลี่ยนดินแดนเหล่านั้นให้กลายเป็นฐานที่มั่นสำหรับการปกครองโดยระบบ “คอลีฟะห์” ที่พวกเขามุ่งหวัง
เจ้าหน้าที่ข่าวกรองสหรัฐฯ เกรงว่า พื้นที่เหล่านี้อาจถูกใช้แหล่งฝึกฝนนักรบญิฮาดผิวขาวซึ่งพร้อมจะถือพาสปอร์ตตะวันตกเข้ามาก่อเหตุโจมตีบนแผ่นดินอเมริกา และด้วยเหตุนี้เอง แม้ว่าสหรัฐฯ จะต้องการบีบให้ อัสซาด หลุดจากอำนาจเพียงใด แต่ก็ยังจำกัดความช่วยเหลือต่อกบฏซีเรียเพื่อสกัดอิทธิพลของกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงเหล่านี้
เหตุใด ISIL จึงยึดเมืองสำคัญในอิรักอย่างง่ายดาย?
จากการประเมินของหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ กลุ่มติดอาวุธ ISIL ที่ยึดเมืองทางภาคเหนือและชายแดนตะวันตกของอิรักอาจจะมีกำลังพลไม่ถึง 10,000 คนเสียด้วยซ้ำ คำถามที่ตามมาก็คือ เหตุใดพวกเขาจึงสามารถยึดเมืองใหญ่อย่าง “ฟัลลูจาห์” สมรภูมิรบที่ดุเดือดที่สุดในสงครามอิรักเมื่อช่วง 10 ปีก่อน และเมืองใหญ่อันดับสองของประเทศอย่าง “โมซุล” ได้อย่างง่ายดาย?
คำตอบที่พอจะเป็นไปได้มีอยู่ 3 ประการ
1) กลุ่มติดอาวุธเหล่านี้ต่อสู้กันแบบ “โฮมทีม” กล่าวคือ ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่เป็นมุสลิมสุหนี่เลือกที่จะสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธนิกายเดียวกันมากกว่ารัฐบาลอิรักที่อยู่ใต้อิทธิพลของพวกชีอะห์ แต่ปรากฏการณ์เช่นนี้อาจเปลี่ยนไป หาก ISIL หันมาบังคับใช้กฎหมายอิสลามเคร่งครัดเหมือนเช่นที่พวกตอลิบานกระทำต่อพลเมืองในอัฟกานิสถาน
2) กองทัพอิรักเผชิญปัญหาการคอรัปชันและจริยธรรมที่ตกต่ำ ทหารและตำรวจชาวสุหนี่และเคิร์ดส่วนใหญ่ไม่ได้ซื่อสัตย์ต่อรัฐบาลกลางมากนัก และไม่ต้องการที่จะทำสงครามกับกลุ่มติดอาวุธที่เป็นพวกเดียวกัน ดังนั้นเมื่อ ISIL นำกำลังบุกมาถึงเมืองโมซุล กองกำลังความมั่นคงอิรักที่มีอยู่ถึง 75,000 นาย จึงพ่ายแพ้แตกกระเจิงอย่างที่ไม่น่าจะเป็น
3) ISIL ได้รับความช่วยเหลือจากชนเผ่าในอิรักที่นับถือนิกายสุหนี่ รวมไปถึงลูกสมุนพรรคบาธของ ซัดดัม ฮุสเซน ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถยึดเมืองติกริต บ้านเกิดของซัดดัมได้โดยปราศจากการต่อต้าน
วิกฤตการณ์ในอิรักครั้งนี้ทำให้ฐานอำนาจที่แข็งแกร่งของนายกรัฐมนตรี มาลิกี เริ่มสั่นคลอน และเกิดกระแสข่าวการพูดคุยหลังฉากระหว่าง มาลิกี และรัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคร์รี ของสหรัฐฯ เกี่ยวกับการ “สละอำนาจ” เพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่พร้อมแบ่งปันอำนาจกับทุกกลุ่มการเมืองและนิกายศาสนาภายในประเทศ แม้แต่อิหร่านซึ่งเป็นชาติชีอะห์ที่หนุนหลังอิรักอยู่ก็เริ่มส่งสัญญาณเตือนว่า การสนับสนุนที่อิหร่านมีต่อ มาลิกี นั้น “จำกัดและมีเงื่อนไข” และจะต้องคำนึงถึงความปรารถนาของพลเมืองในอิรักเองด้วย สภาพการณ์ในขณะนี้จึงดูเหมือน มาลิกี ถูกโดดเดี่ยวจากบรรดามิตร และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอิรักก็ไม่ใช่สิ่งที่อยู่เหนือการคาดเดาอีกต่อไป