xs
xsm
sm
md
lg

โอบามาเตือน “อิหร่าน” อย่าสนับสนุนการ “แบ่งแยกศาสนา” ในอิรัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี – ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ฝากคำเตือนปถึงอิหร่านเมื่อวานนี้(19)ว่า เตหะรานอาจต้องเผชิญการต่อสู้แบ่งแยก “ทั่วทุกหัวระแหง” หากไม่ส่งเสริมเสถียรภาพในอิรัก และผลักดันไปสู่การมีรัฐบาลที่เป็นตัวแทนพลเมืองทุกเชื้อชาติศาสนา

โอบามา ชี้ว่า อิหร่านซึ่งเป็นรัฐอิสลามชีอะห์ สามารถแสดงบทบาท “สร้างสรรค์” เพื่อบรรเทาวิกฤตการณ์ในอิรัก อันเกิดจากฝีมือกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลามในอิรักและเลแวนต์ (Islamic State of Iraq and the Levant - ISIL) ซึ่งเป็นมุสลิมหัวรุนแรงนิกายสุหนี่

อย่างไรก็ตาม โอบามา เตือนให้อิหร่านลดท่าที “แข็งกร้าว” ลงบ้าง หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายได้เจรจาเพื่อหาทางร่วมมือคลี่คลายสถานการณ์ในอิรัก ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสหรัฐฯและอิหร่านเอง

ผู้นำสหรัฐฯประกาศจะส่งทหารอเมริกัน 300 นายเข้าไปให้คำปรึกษาและฝึกฝนยุทธวิธีที่จำเป็นต่อกองกำลังความมั่นคงแบกแดด แต่ยืนยันว่าวอชิงตันจะไม่ทำสงครามในอิรักอีก หลังจากที่เคยส่งกองกำลังเข้าไปช่วยโค่นรัฐบาล ซัดดัม ฮุสเซน ในปี 2003 และเพิ่งจะประกาศยุติสงครามอย่างเป็นทางการได้ในปี 2011

“เราเชื่อว่าอิหร่านสามารถแสดงบทบาทเชิงสร้างสรรค์ได้ หากจะช่วยย้ำเตือนรัฐบาลอิรักเหมือนเช่นที่สหรัฐฯ ได้เตือนแล้ว” โอบามา กล่าว โดยหมายถึงคำเตือนที่ว่าอิรักจะกลับมาเป็นปึกแผ่นมั่นคงได้ก็ต่อเมื่อมีรัฐบาลที่เคารพในสิทธิและผลประโยชน์ของชาวมุสลิมนิกายสุหนี่ ชีอะห์ และชาวเคิร์ด อย่างเท่าเทียมกัน

“หากอิหร่านยื่นมือเข้าไปช่วยในฐานะกองกำลังของชาติมุสลิมชีอะห์ สถานการณ์อาจจะยิ่งเลวร้ายลงไปกว่านี้” โอบามา เตือน

“รัฐบาลอิหร่านควรพิจารณาความจริงที่ว่า หากพวกเขายังมีมุมมองต่อภูมิภาคไปในเชิงแบ่งแยกศาสนา อิหร่านอาจต้องเผชิญการต่อสู้ไปทั่วทุกหัวระแหง”

ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ จอห์น เคร์รี เคยกล่าวในทำนองว่า วอชิงตันอาจขอความร่วมมือทางทหารจากอิหร่าน ซึ่งประเด็นนี้ทำให้กลุ่มอนุรักษ์นิยมในพรรคเดโมแครตคัดค้านอย่างหนัก จน เคร์รี ต้องออกมาแก้ต่างเป็นการใหญ่ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ยังไม่เห็นโอกาสที่จะร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับชาติศัตรูอย่างอิหร่านได้

โมฮัมมัด นาฮาวันเดียน ประธานคณะเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอิหร่าน ให้สัมภาษณ์ที่กรุงออสโลว่า การเจรจานิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ ถือเป็น “บททดสอบความเชื่อใจ” และหากประสบผลสำเร็จก็อาจจะมีการหารือในประเด็นอื่นๆ ตามมา เช่น วิกฤตการณ์ในอิรัก เป็นต้น

อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ ยังคงคลางแคลงเจตนาของอิหร่าน เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า นายกรัฐมนตรี นูรี อัล-มาลิกี แห่งอิรักนั้นแทบจะเรียกได้ว่าเป็น “ลูกค้า” ของอิหร่าน และเตหะรานก็ยังต้องการเห็นอิรักที่มีพรมแดนอยู่ชิดติดกันถูกปกครองด้วยผู้นำที่เป็นชาวชีอะห์

ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า กอสเซ็ม สุเลมานี ผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษคุดส์ (Quds) แห่งกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิหร่าน ได้เดินทางไปที่กรุงแบกแดดเพื่อให้คำปรึกษาต่อ มาลิกี ในช่วงไม่กี่วันมานี้

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยังคงประกาศให้อิหร่านเป็นชาติที่สนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย และหน่วยรบพิเศษคุดส์ก็ถูกกล่าวหาว่าช่วยฝึกฝนและสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธที่ลักพาตัวและสังหารชาวอเมริกันในช่วงสงครามอิรักด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น