xs
xsm
sm
md
lg

‘เกาหลีใต้’สนใจ ‘กลุ่มเศรษฐกิจยูเรเชีย’

เผยแพร่:   โดย: ฟิลิป อิกลาวเออร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Eastern interest in Eurasian economic deal
By Philip Iglauer
11/06/2014

คาซัคสถานในฐานะที่เป็น 1 ในสมาชิกของ “สหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย” ซึ่งเพิ่งประกาศจัดตั้งขึ้นมาใหม่ๆ หมาดๆ กำลังออกแรงใช้ความพยายามในการผลักดันส่งเสริมกลุ่มเศรษฐกิจที่เกิดจากการจับมือกันระหว่างชาติในเอเชียกลางกับรัสเซียแห่งนี้ ถึงแม้ยังคงมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องอธิปไตยสืบเนื่องจากความขัดแย้งในยูเครน ขณะเดียวกันเกาหลีใต้ก็แสดงท่าทีไม่พะวักพะวนกับความยุ่งยากซับซ้อนทางด้านนโยบายการต่างประเทศ และกำลังจับตามองอย่างใกล้ชิดด้วยความสนอกสนใจต่อโอกาสลู่ทางในด้านการเงินของสหภาพใหม่รายนี้

ขณะที่ความสัมพันธ์ที่รัสเซียมีอยู่กับสหรัฐฯและยุโรป กำลังอยู่ในสภาพหลุดลุ่ยขาดวิ่นเนื่องจากความขัดแย้งสู้รบกันในยูเครน กลุ่มการรวมตัวทางเศรษฐกิจกลุ่มใหม่ที่มีชื่อว่า “สหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย” (Eurasian Economic Union ใช้อักษรย่อว่า EEU) ก็ได้ฤกษ์เปิดตัวอย่างเป็นทางการ ด้วยพิธีลงนามข้อตกลงจัดตั้ง ซึ่งมีขึ้นที่กรุงอัสตานา เมืองหลวงของคาซัคสถาน ในวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ เป็นที่แน่นอนว่า EEU จะกระชับสายสัมพันธ์ที่รัสเซียมีอยู่กับพวกอดีตสาธารณรัฐของสหภาพโซเวียต ให้แน่นแฟ้นเหนียวแน่นยิ่งขึ้น

ทว่าผู้ชนะที่แท้จริงของข้อตกลงไตรภาคีระหว่างเบลารุส, รัสเซีย, และคาซัคสถาน ฉบับนี้ น่าจะได้แก่ประเทศรายหลังสุดที่เอ่ยนามมา ข้อตกลงนี้สามารถที่จะส่งเสริมเพิ่มพูนอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของชาติในเอเชียกลางรายนี้ และก็จะแผ่อานิสงส์เป็นประโยชน์ไปถึงพวกนักลงทุนต่างประเทศ รวมทั้งบรรดาบริษัทของเกาหลีใต้ ซึ่งเข้าไปลงทุนทำกิจการต่างๆ อยู่ในคาซัคสถาน

“ประการแรกเลย [EEU] จะทำให้สามารถเข้าถึงตลาดร่วมที่มีขนาดประชากรมากกว่า 170 ล้านคน ประการที่สอง หลังจากการลงนามในข้อตกลงฉบับนี้แล้ว พวกเราคาดหมายกันว่าภายในปี 2030 ขนาดเศรษฐกิจของเหล่ารัฐสมาชิกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 25%” ดูลิต บาคีเชฟ (Dulat Bakishev) เอกอัครราชทูตคาซัคสถานประจำเกาหลีใต้ อธิบายแจกแจง

บาคีเชฟบอกว่า เขาคาดหมายว่าข้อตกลงนี้จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นคิดเป็นมูลค่า 600,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในระยะ 15 ปีข้างหน้านี้ และ EEU ยังจะพัฒนาต่อไปเพื่อไปสู่การเป็นประชาคมทางเศรษฐกิจที่เปิดกว้าง ขณะที่ “คาซัคสถานจะยังคงเป็นสะพานเชื่อมที่ไว้วางใจได้ระหว่างยุโรปกับเอเชียที่กำลังเติบโตขยายตัว”

สำหรับประเทศที่มีการลงทุนอยู่ในคาซัคสถาน ต่างก็พากันแสดงการต้อนรับข้อตกลงฉบับใหม่นี้เช่นเดียวกัน เกาหลีใต้ ซึ่งได้พัฒนาการเชื่อมต่อทวิภาคีอย่างกว้างขวางทั้งในทางเศรษฐกิจและในทางพลังงานกับกรุงอัสตานาในช่วงเวลาไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ ได้เทเงินลงทุนมากกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์เข้าไปในโครงการต่างๆ รวมทั้งได้ลงนามในข้อตกลงหลายๆ ฉบับซึ่งมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นมากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์

“รัฐบาลของเรานั้นต้องการที่จะขยายความสัมพันธ์ซึ่งมีอยู่กับพวกประเทศตอนกลางทวีป และบริษัทเกาหลีจำนวนมากต่างมีการเตรียมตัวพร้อมอยู่แล้วเพื่อรับกับการรวมตัวกันในยูเรเชีย” อืม กู-โฮ (Eeom Gu-ho) ศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยฮันยาง (Hanyang University) กล่าวให้ความเห็น “แน่นอนอยู่แล้วว่า EEU จะให้ประโยชน์แก่พวกรัฐสมาชิกและแก่เกาหลีด้วยในระยะยาว”

อืม ซึ่งเป็นผู้อำนวยการของศูนย์วิจัยเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Research Center) ของมหาวิทยาลัยฮันยาง บอกว่า ถึงแม้วิกฤตยูเครนน่าที่จะทำให้เกาหลีใต้เดินหน้าติดต่อกับสหภาพแห่งนี้ด้วยความระมัดระวังตัวมากขึ้นกว่าเดิม ทว่าในระยะยาวแล้ว ในฐานะที่เกาหลีใต้เป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 ของเอเชีย จึงต้องสร้างสายสัมพันธ์อันสร้างสรรค์กับรัสเซียและพวกชาติเอเชียกลางอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

เรื่องสำคัญที่สุดซึ่งเป็นอุปสรรคสำหรับคาซัคสถาน ในการทำความตกลงเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ EEU (ซึ่งกว่าจะก่อตั้งขึ้นมาได้ต้องใช้เวลาถึงราว 20 ปีภายหลังการล่มสลายลงไปของสหภาพโซเวียต) ได้แก่ความวิตกกังวลในเรื่องอธิปไตย และประเด็นปัญหานี้ยิ่งเข้มข้นมากขึ้นอีกจากพฤติการณ์ของมอสโกในยูเครน สภาพแวดล้อมเช่นนี้ช่วยให้พวกวิพากษ์วิจารณ์ข้อตกลงฉบับนี้ในคาซัคสถาน ได้โอกาสในการปักปรำใส่ร้ายว่า มันไม่ใช่อะไรอื่นเลย นอกจากเป็นความพยายามแบบแอบเข้าประตูหลังของรัสเซีย เพื่อสร้างสหภาพโซเวียตขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

เอกอัครราชทูตบาคีเชฟ พยายามที่จะผ่อนคลายความวิตกกังวลเหล่านี้ “สหภาพนี้ไม่ได้มีผู้ทรงอำนาจระดับ “เหนือชาติ” ใดๆ ที่จะมีอำนาจมากยิ่งไปกว่าประมุขแห่งรัฐของชาติสมาชิก ที่จะมีอำนาจมากยิ่งไปกว่าประมุขแห่งชาติของคาซัคสถาน “ เขาระบุ “เราจะยังคงทำงานเพื่อขยายความร่วมมือกับรัฐอื่นๆ ที่อยู่นอก EEU การเข้า EEU ไม่ได้ส่งผลกระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีซึ่งมีอยู่กับประเทศอื่นๆ หรือต่อข้อตกลงพหุภาคีใดๆ ที่คาซัคสถานได้ลงนามเอาไว้”

คาซัคสถานนั้นสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนได้ประมาณ 100,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาระหว่างปี 2009 ถึง 2012 โดยที่นักลงทุนต่างชาติซึ่งเข้าไปลงทุนในประเทศนี้สูงที่สุดก็คือสหภาพยุโรป ถึงแม้ข้อตกลงฉบับใหม่นี้ถูกนักวิพากษ์วิจารณ์บางรายในคาซัคสถานแสดงความไม่เห็นด้วย แต่สำหรับประชาคมวงการธุรกิจของประเทศนี้แล้วได้ให้ความสนับสนุนกันอย่างกว้างขวาง โดยมองกันว่าจะทำให้มีเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศไหลเข้ามามากขึ้น โดยเป็นผลของการที่ EEU เข้ามาส่งเสริมเพิ่มพูนโครงการพัฒนาต่างๆ ในคาซัคสถาน ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทางทะเล

สำหรับเกาหลีใต้นั้น ประธานาธิบดี พัค กึน-ฮเย (Park Geun-hye) กำลังจับตาคาซัคสถานด้วยความสนอกสนใจ ในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนรายสำคัญรายหนึ่งใน “แผนการริเริ่มยูเรเชีย” (Eurasian Initiative) อันใหญ่โตมองสูงมองไกลของเธอ โดยที่แผนการริเริ่มนี้มุ่งส่งเสริมสนับสนุนให้แสวงหาหนทางติดต่อโยงใยกันในด้านการคมนาคมขนส่ง และต่อเชื่อมกันในทางด้านกระแสไฟฟ้า, ก๊าซ, และน้ำมัน ตั้งแต่ยุโรปตะวันตกจนถึงเอเชียตะวันออก ทั้งนี้แผนการริเริ่มนี้มีความสอดคล้องกับ “โครงการเส้นทางสายไหมสายใหม่” (New Silk Road Project) ที่จีนพยายามเสนอมานานแล้ว

สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย จะทำให้ต้นทุนการส่งออกสินค้าในระหว่างคาซัคสถาน, เบลารุส, และรัสเซีย ลดต่ำลงมา นับว่าเข้ากันได้ดีกับแผนการทั้งของเกาหลีใต้และของจีน นอกจากนั้นยังช่วยให้บริษัทเกาหลีใต้สามารถหาช่องทางส่งสินค้าเข้าไปยังรัสเซียโดยผ่านทางคาซัคสถานอีกด้วย

มีข่าวลือกันกว้างขวางว่า พัค กำลังวางแผนที่จะเดินทางไปเยือนคาซัคสถานแบบเป็นรัฐพิธีภายในเดือนมิถุนายนนี้ ถึงแม้เวลานี้รัฐบาลเกาหลีใต้ยังไม่ได้มีการประกาศกำหนดการเดินทางออกมา

มีรายงานว่า ในระหว่างที่มีการจัดประชุม “เวทีความร่วมมือเกาหลี-เอเชียกลางครั้งที่ 8” (the eighth Korea-Central Asia Cooperation Forum) ในกรุงโซลเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้มีการหยิบยกแผนการเดินทางไปเยือนคาซัคสถานของประธานาธิบดีเกาหลีใต้นี้ขึ้นมาหารือแบบการประชุมข้างเคียงด้วย เมื่อตอนที่คณะผู้แทนของคาซัคสถานนำโดย รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศ เยียร์ซัน อาชิคบาเยฟ (Yerzhan Ashikbayev) เดินทางถึงเกาหลีใต้เพื่อเข้าร่วมเวทีประชุมคราวนี้ ตัว พัค เอง ก็ได้เคยพบปะหารือกับประธานาธิบดีนูร์สุลต่าน นาซาร์บาเยฟ (Nursultan Nazarbayev) ของคาซัคสถานเช่นกัน ในระหว่างที่ผู้นำทั้งสองเข้าร่วมการประชุมซัมมิตกลุ่ม จี-20 ที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย ในเดือนกันยายน 2013 โดยได้มีการหารือเกี่ยวกับการไปเยือนแบบระดับรัฐพิธีของประมุขเกาหลีใต้

การเดินทางไปคราวนี้จะเป็นการเยือนชาติเอเชียกลางรายนี้เป็นครั้งแรกของ พัค ประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนก่อนหน้าเธอ คือ ลี มยุง-บัค (Lee Myung-bak) ได้เดินทางไปเยือนคาซัคสถานถึง 3 ครั้ง ระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่ง

ในพิธีลงนามข้อตกลงจัดตั้ง EEU ที่กรุงอัสตานา นั้น ประธานาธิบดีของอาร์เมเนีย และของคีร์กีซสถาน ได้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานด้วย คาดหมายกันว่าการสมัครเข้าเป็นสมาชิกของอาร์เมเนียน่าจะเสร็จสิ้นเป็นขั้นสุดท้ายภายในวันที่ 1 กรกฎาคม ขณะที่คีร์กีซสถานน่าจะดำเนินเรื่องจนจบขั้นตอนสุดท้ายได้ภายในสิ้นปีนี้

กลุ่มรวมตัวกันทางเศรษฐกิจรายใหม่นี้ มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) รวมกันเป็นมูลค่าเท่ากับ 2.6 ล้านล้านดอลลาร์ เป็นที่คาดหมายกันว่ากลุ่มนี้จะขยายจำนวนรัฐสมาชิกเป็น 5 รายเมื่อข้อตกลงจัดตั้งเริ่มต้นมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2015 จากที่ในปัจจุบันมีรัฐสมาชิก 3 ราย

ยูเรเชียกำลังกลายเป็นภูมิภาคทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ไปอย่างรวดเร็ว สิ่งนี้ได้รับการตอกย้ำจากเอกอัครราชทูตคาซัคสถาน โดยที่เขาประกาศว่า “บริษัทเกาหลีในคาซัคสถานจะมีโอกาสได้ใช้ศักยภาพของตลาดที่มีขนาดกว้างใหญ่กว่าเดิมอย่างมากมายนี้” บาคีเชฟ บอก

ข้อเขียนนี้ปรากฏอยู่ในส่วน “Speaking Freely ” ของเอเชียไทมส์ออนไลน์ ซึ่งเป็นส่วนที่เปิดทางให้เหล่านักเขียนรับเชิญสามารถแสดงความคิดเห็นของพวกตน โดยไม่จำเป็นต้องมีมาตรฐานทางด้านบรรณาธิการในระดับเดียวกับพวกนักเขียนที่ เขียนให้แก่เอเชียไทมส์ออนไลน์เป็นประจำ

ฟิลิป อิกลาวเออร์ เป็นผู้สื่อข่าวที่ทำงานอยู่กับหนังสือพิมพ์ เดอะ โคเรีย เฮอรัลด์ (The Korea Herald)
กำลังโหลดความคิดเห็น