เอเอฟพี/การ์เดียน - ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯเมื่อวันพฤหัสบดี (19 มิ.ย.) เผยพร้อมส่งคณะที่ปรึกษาทหาร 300 นายไปยังอิรัก และถ้าจำเป็นก็จะใช้ปฏิบัติการทางทหารอย่างมีเป้าหมายและแม่นยำตอบโต้พวกนักรบสุหนี่หัวรุนแรง ขณะที่รัฐบาลแบกแดด ยืนยันนายกรัฐมนตรีนูรี อัล-มาลิกี ไม่ลาออกตามแรงกดดันจากนักการเมืองบางส่วนของอเมริกา พร้อมวอนควรให้สนับสนุนทางทหารมากกว่าที่จะเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงผู้นำ
ในคำแถลงเมื่อวันพฤหัสบดี (19) ประธานาธิบดีโอบามาบอกว่า วอชิงตันพร้อมประจำการคณะที่ปรึกษาทางทหารเพื่อศึกษาถึงวิธีการฝึกฝนและจัดหายุทโธปกรณ์แก่กองกำลังอิรัก รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถด้านการสอดแนมและข้อมูลข่าวกรองในประเทศด้วย
โดยประธานาธิบดีรายนี้บอกว่าคณะที่ปรึกษาทางทหารของสหรัฐฯ อาจจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมในแบกแดดและใกล้ๆ เมืองโมซุล เมืองทางเหนือของอิรัก ที่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายกบฏหัวรุนแรงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว “เราจะเตรียมการสำหรับใช้ปฏิบัติการทางทหารอย่างมีเป้าหมายและแม่นยำ หากเราได้ข้อสรุปได้ว่าสถานการณ์ทางภาคพื้นทีความจำเป็นต้องใช้มัน” โอบามาแถลงที่ทำเนียบขาว หลังหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสในคณะทีมงานด้านความมั่นคงแห่งชาติ
โอบามาบอกว่า มันคงจะเป็นการลงทุนที่ดีสำหรับวอชิงตัน หากการตัดสินใจแทรกแซงอิรัก จะสามารถป้องกันไม่ให้พวกนักรบกลุ่มกบฏชาวสุหนี่ที่นำโดยกลุ่มรัฐอิสลามในอิรักและเลแวนต์ (Islamic State of Iraq and the Levant หรือ ISIL) จัดตั้งฐานที่มั่นซึ่งท้ายที่สุดแล้วมันจะกลายเป็นภัยคุกคามกับชาติตะวันตก แต่เขาย้ำว่าจะไม่ส่งทหารอเมริกากลับเข้าไปสู่รบในอิรักโดยตรง หลังจากถอนกำลังพลทั้งหมดกลับออกมาเป็นเวลาราว 2 ปีครึ่งแล้ว
อย่างไรก็ตาม โอบามาได้ให้คำมั่นจะช่วยอิรักสนับสนุนกำลังพลของตนเองเพื่อต่อสู้กับการรุกคืบของพวกนักรบสุหนี่หัวรุนแรง “เราเตรียมส่งคณะปรึกษาทางทหารสหรัฐฯจำนวนเล็กน้อยราว 300 นาย เข้าไปประเมินหาแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับฝึกฝน ให้คำปรึกษาและสนับสนุนกองกำลังด้านความมั่นคงของอิรัก”
ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีโอบามายังย้ำถึงคำเตือนของสหรัฐฯ กรณีที่ว่ามีเพียงผู้นำที่ไม่แบ่งแยกทางศาสนาเท่านั้นที่จะช่วยกอบกู้อิรักจากชะตากรรมในปัจจุบัน คำพูดที่ดูเหมือนเป็นการกล่าวตำหนิอย่างเป็นนัยไปถึงนายนูรี อัล-มาลิกี นายกรัฐมนตรีชีอะห์ของอิรัก
“ไม่ว่าจะเป็นชาวชีอะห์ สุหนี่ เคิร์ด ชาวอิริกทุกคนควรมั่นใจว่าพวกเขาสามารถเข้าถึงผลประโยชน์และความปรารถนาผ่านกระบวนการทางการเมือง แทนที่จะผ่านความรุนแรง” โอบามากล่าว “มันชัดเจนว่ามีเพียงผู้นำอิรักที่ปกครองด้วยวาระที่ครอบคลุมเท่านั้นที่จะสามารถนำพาชาวอิรักกลับมาร่วมมือกันและช่วยพวกเขาฟันฝ่าวิกฤตไปได้อย่างแท้จริง”
โอบามาเตือนด้วยว่า เขาจะไม่รับรองปฏิบัติการทางการเมืองใดๆ ที่ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนให้นิกายหนึ่งอยู่เหนือนิกายอื่นๆ พร้อมเผยว่าเตรียมส่งนายจอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศไปยังยุโรปและตะวันออกลางในสัปดาห์นี้ เพื่อปรึกษากับพันธมิตรของสหรัฐฯว่าจะใช้มาตรการใดต่อไปในวิกฤตการณ์อิรัก
ไดแอนเน เฟนสเตน ประธานคณะกรรมาธิการข่าวกรองวุฒิสภา บอกกับที่ประชุมเมื่อวันพุธ (18) ว่ารัฐบาลของนายมาลิกี ต้องลาออกหากต้องการคืนความปรองดองใดๆ ส่วนนายจอห์น แมคเคน จากรีพับลิกัน ก็เรียร้องให้สหรัฐฯใช้อำนาจทางอากาศช่วยอิรัก แต่ก็แนะให้ โอบามา แสดงจุดยืนให้นายมาลิกีได้ตระหนักว่าเวลาของเขาหมดแล้ว
ในส่วนของทำเนียบขาว ไม่ได้เรียกร้องให้นายมาลิกีลาออก แต่นายเจย์ คาร์นีย์ โฆษกบอกไม่ว่าอิรักจะนำโดยนายมาลิกีหรือผู้สืบทอดคนไหน “เราจะพยายามเชิงรุกเพื่อพยายามเย้นน้ำว่าผู้นำคนนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปฏิเสธการบริหารงานแบบแบ่งแยกทางศาสนา” ส่วนนายเคร์รีบอกว่า วอชิงตันให้ความสำคัญเฉพาะกับประชาชนชาวอิรัก ไม่ใช่นายมาลิกี
อย่างไรก็ตาม โฆษกของนายมาลิกี ออกมาตอบโต้ในวันพฤหสบดี (19) ว่าตะวันตกควรให้การสนับสนุนปฏิบัติการทางทหารของรัฐบาลอิรักในทันที เพื่อต่อกรกับพวกนักรบกลุ่มกบฏชาวสุหนี่ที่นำโดยกลุ่มรัฐอิสลามในอิรักและเลแวนต์ แทนที่จะเรียกร้องให้เปลี่ยนรัฐบาล พร้อมย้ำว่านายมาลิกี ไม่เคยใช้กลยุทธ์แบ่งแยกทางศาสนา