เอเอฟพี - ทางการแดนอาทิตย์อุทัยเผยว่า รัสเซียจะส่งดาวเทียม 2 ดวงของญี่ปุ่นขึ้นสู่วงโคจรในช่วงค่ำวันนี้ (19 มิ.ย.) เพื่อเฝ้าระวังตรวจตราความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม ใกล้โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล และโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะอันชำรุดทรุดโทรม
จรวด “เนปเปอร์” (Dnepr) ซึ่งผลิตโดยยูเครนจะนำดาวเทียม 33 ดวง ซึ่งรวมถึงดาวเทียมญี่ปุ่นทั้งสองดวง จะทะยานขึ้นจากศูนย์อวกาศในแถบเทือกเขาอูราลในเวลา 19.11 น. ตามเวลาโลก (ตรงกับ 02.11 น. ในเมืองไทย)
มหาวิทยาลัยโตเกียวเป็นผู้พัฒนาดาวเทียมทั้ง 2 ดวง ที่มีชื่อว่า โฮโดโยชิ-3 และโฮโดโยชิ-4 ด้วยงบประมาณที่ไม่สูงนักคือ 300 ล้านเยน (ราว 96 ล้านบาท) ต่อดวง
ชินอิจิ นากาสุกะ หัวหน้าโครงการ ซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยรัฐบาลญี่ปุ่นแห่งนี้กล่าวว่า “ดาวเทียมทั้งสองดวงมีภารกิจที่ต้องทำมากมาย และหนึ่งในนั้นก็คือการเฝ้าระวังโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 แห่ง”
ตามแผนการที่วางไว้ ดาวเทียมทั้งสองดวงจะเก็บภาพโรงฟ้า 2 แห่งและพื้นที่โดยรอบ ตลอดจนข้อมูลที่ได้รับเป็นประจำ เป็นต้นว่า ระดับกัมมันตภาพรังสี จากอุปกรณ์ที่ติดตั้งอยู่ใกล้โรงไฟฟ้า 2 แห่งนี้
นากาสุกะกล่าวว่า “ผมหวังว่า ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ญี่ปุ่นและยูเครนรับรู้ผลกระทบที่สิ่งแวดล้อมใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้ง 2 แห่งได้รับ อย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง”
เขากล่าวเสริมว่า ดาวเทียมทั้งสองดวงจะทำหน้าที่สอดส่องระดับน้ำในแม่น้ำทั่วโลก และส่งข้อมูลให้แก่ “22 ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เวียดนาม ไทย และบังกลาเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ความเสียหายจากน้ำท่วมใหญ่”
การปล่อยดาวเทียมครั้งนี้ซึ่งวางแผนไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว เกิดขึ้นช้ากว่ากำหนด แต่นากาสุกะกล่าวว่า ความล่าช้าไม่ได้เป็นผลมาจากสถานการณ์ทางการเมืองในยูเครน
เมื่อปี 1986 ได้เกิดอุบัติภัยนิวเคลียร์เชิงสันติครั้งเลวร้ายที่สุดในโลก ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลของยูเครน โดยเหตุระเบิดได้คร่าชีวิตประชาชนไป 30 คน และอีก 2,500 คนเสียชีวิตในเวลาต่อมาด้วยอาการเจ็บป่วยที่สืบเนื่องมาจากการสัมผัสรังสี
เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2011 แผ่นดินไหวครั้งรุนแรง และคลื่นยักษ์สึนามิได้ถล่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ส่งผลให้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในจังหวัดฟูกูชิมะหลอมละลาย
ทั้งนี้ คาดการณ์กันว่า ทางการแดนอาทิตย์อุทัยจะยังสั่งยกเลิกการดำเนินการทั้งหมดในโรงงานนิวเคลียร์แห่งนี้ต่อไปอีกหลายทศวรรษ โดยยังคงมีการออกคำสั่งห้ามเข้าพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าแห่งนี้ และบรรดาผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ชุมชนบางแห่งอาจมีสภาพรกร้าง เนื่องจากชาวบ้านพากันอพยพหนีภัยกัมมันตภาพรังสีที่ยังตกค้างอยู่ในระดับสูง