รอยเตอร์ส - ชาวบ้านของเขตเล็กๆ ซึ่งอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะของญี่ปุ่นราว 20 กิโลเมตร ซึ่งถูกกำหนดเป็นพื้นที่อันตรายจากกัมมันตภาพรังสีฟุ้งกระจาย จะได้รับอนุญาตให้กลับบ้านเป็นครั้งแรกในวันอังคาร (1 เม.ย.) นับตั้งแต่หายนะนิวเคลียร์เกิดขึ้นเมื่อกว่า 2 ปีก่อน
เขตมิยาโคจิ ของเมืองทามูระ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ถูกกำหนดเป็นเขตห้่ามเข้านับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2011 เมื่อรัฐบาลออกคำสั่งอพยพตามหลังมหันตภัยแผ่นดินไหวและสึนามิ จุดชนวนเตาปฏิกรณ์หลอมละลายที่โรงไฟฟ้าดังกล่าว
การอนุญาตให้กลับเข้าพื้นที่มิยาโคจิอีกครั้งในวันอังคาร (1 เม.ย.) นับเป็นก้าวย่างเล็กๆ ของญี่ปุ่น ที่กำลังแสวงหาหนทางฟื้นตัวจากหายนะฟูกูชิมะและเป็นหลักชัยครั้งสำคัญของชาวบ้าน 357 คนของเขตดังกล่าว ซึ่งเกือบทั้งหมดล้วนประสงค์เดินทางกลับสู่ถิ่นฐาน อย่างไรก็ตามพลเมืองผู้คิดถึงบ้านเหล่านั้น มีความรู้สึกที่ผสมผสานต่อการที่จะได้กลับไปยังมิยาโคจิ หลังปรากฏสัญญาณว่าพวกเขาคงต้องเจอกับเส้นทางที่ยากลำบากต่อการกลับมาใช้ชีวิตตามปกติเยี่ยงอดีต
วิกฤตปี 2011 ส่งผลให้ชาวบ้านกว่า 160,000 คนของเมืองต่างๆ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะต้องอพยพออกจากถิ่นฐาน โดยในนั้นราว 1 ใน 3 ยังคงต้องใช้ชีวิตในศูนย์พักพิงชั่วคราวต่างๆที่กระจายอยู่ทั่วจังหวัดฟูกูชิมะ ขณะที่ชีวิตของพวกเขาต้องหยุดชะงักรอจนกว่าทางการญี่ป่นเสร็จสิ้นปฏิบัติการชำระล้างการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีเสียก่อน
อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการชำระล้างกัมมันตภาพรังสีรอบๆ ฟูกูชิมะมูลค่า 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯของญี่ปุ่น ล้าหลังกว่ากรอบเวลาที่กำหนดและคาดหมายว่าคงไม่สามารถดำเนินการตามเป้าหมายระยะยาวในการลดระดับกัมมันตภาพรังสี 1 มิลิซีเวิร์ตต่อปี ที่รัฐบาลชุดก่อนวางเอาไว้