เอเอฟพี – นักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯลักลอบเก็บตัวอย่างเลือดจากกลุ่มชนพื้นเมืองซึ่ง เป็นที่รู้กันว่ามีลักษณะเฉพาะทางโครงสร้างพันธุกรรมและมีภูมิคุ้มกันโรค โดยตัวอย่างบางเลือดส่วนถูกนำไป "จำหน่าย" อีกด้วย ทางการเอกวาดอร์ตั้งข้อกล่าวหาวานนี้(16)
รัฐมนตรีกระทรวงอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์ระบุว่า มีการลักลอบเจาะเลือดชาวฮัวโอรานี (Huaorani) 600 คน ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ห่างไกลแถบลุ่มน้ำแอมะซอนในเขตประเทศเอกวาดอร์ โดยการเก็บตัวอย่างเลือดนี้เกิดขึ้นราว 3,500 ครั้ง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางการ
“บางคนถูกเจาะเอาตัวอย่างเลือดมากกว่าหนึ่งครั้ง” เขากล่าวระหว่างการเปิดเผยรายละเอียดใหม่ของการสืบสวน ซึ่งเผยแพร่ผ่านช่องโทรทัศน์ของรัฐ อีซีทีวี
ในรายงานเบื้องต้นของเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ชาวฮัวโอรานี ซึ่งใช้ภาษาที่ค่อนข้างแตกต่างจากลุ่มประชาชนพื้นเมืองแถบนั้นที่พูดภาษาเกชัว (Quechua) เปิดเผยว่า มีชาวอเมริกันบางกลุ่มมาหลอกลวงของเจาะเลือดพวกเขาเมื่อช่วงปี 1990 ถึง 1991
ชาวฮัวโอรานีเหล่านี้กล่าวอีกว่า คนอเมริกันบอกกับพวกเขาว่าจะนำตัวอย่างเลือดเหล่านี้ไปใช้ทดสอบทางการแพทย์ แต่ไม่เคยมีผลทดสอบใดๆถูกส่งกลับมา
เมื่อการมีการกล่าวหาเกิดขึ้นในปี 2012 สถานทูตสหรัฐฯยืนยันว่าไม่เคยรับทราบถึงกรณีดังกล่าว และเมื่อวันจันทร์(16) ขณะที่รายละเอียดใหม่ถูกเผยออกมา โฆษกสถานทูตสหรัฐฯก็ยังนิ่งเฉยกับข้อเรียกร้องให้มีการชี้แจงในทันที
ว่ากันว่าหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนั้นคือนายแพทย์ชาวอเมริกันที่ทำงานกับ แม็กซัส เอนเนอร์จี ซึ่งมีฐานอยู่ที่รัฐเทกซัส และตัวอย่างเลือดถูกสถาบันเพื่อการวิจัยทางการแพทย์คอเรลล์นำเอาไปขายให้กับโรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สำนักงานผู้ตรวจการของรัฐบาล แถลงเมื่อปี 2012
ประธานาธิบดี ราฟาเอล กอร์เรีย แห่งเอกวาดอร์อ้างข้อมูลซึ่งบ่งชี้ว่า การเก็บตัวอย่างเลือดอาจเริ่มมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 โดยการสมรู้ร่วมคิดกับบริษัทน้ำมันแม็กซัส ที่ดำเนินงานในพื้นที่นั้น
กอร์เรีย กล่าวว่า ตัวอย่างเลือดดังกล่าวถูกนำไปใช้ในการวิจัย เพราะว่าชาวฮัวโอรานีเหล่านี้อยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลและโดดเดี่ยวอย่างมาก และมีภูมิต้านทานโรคภัยบางชนิด
ประธานาธิบดีเอกวาดอร์ ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่นิยมแนวคิดฝ่ายซ้าย กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มีมูลเหตุที่จะอ้างกฎหมายรัฐบาลกลางสหรัฐฯ มาฟ้องคอเรลล์ , แม็กซัส หรือมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ แต่เขาจะมองหาหนทางฟ้องร้องด้วยวิธีอื่นต่อไป
ทั้งนี้ สหรัฐฯและเอกวาดอร์มีความสัมพันธ์ทางการทูตที่ตึงเครียดมานาน