เอเอฟพี - กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ เมื่อวานนี้ (16 มิ.ย.) พร้อมแนะให้วอชิงตันคงอัตราดอกเบี้ยต่ำและขึ้นค่าแรงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง
รายงานประจำปีของไอเอ็มเอฟว่าด้วยเศรษฐกิจสหรัฐฯ เตือนว่า เศรษฐกิจแดนอินทรีในปีนี้จะเติบโตเพียง 2.0% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 2.8% ทั้งนี้เป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่หดตัวเกินคาดหมายในไตรมาสแรก
อย่างไรก็ดี ไอเอ็มเอฟชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่เติบโตได้ถึง 3.0% ในปีหน้า หากแต่รัฐบาลจะต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ
กองทุนการเงินแห่งนี้ยังเตือนว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ไม่ควรคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะกลับไปสู่ภาวะจ้างงานเต็มที่ (full employment) ก่อนสิ้นปี 2017 และควรคงนโยบายอัตราดอกเบี้ยเป็นศูนย์ไปจนถึงกลางปี 2015 ซึ่งเฟดได้ส่งสัญญาณว่าอาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงเวลาดังกล่าว
“รอยแผลเป็นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยยังไม่จางหายไป” คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการใหญ่ไอเอ็มเอฟ เตือนในรายงาน โดยอ้างถึงแนวโน้มคนว่างงานในสหรัฐฯที่สูงมากในระยะยาว อัตราส่วนการเข้าร่วมแรงงานที่ต่ำ (low labor-force participation) และความเป็นจริงที่ว่าพลเมืองอเมริกันราวๆ 50 ล้านคนยังอยู่ในภาวะยากจน
“คงไม่มีมาตรการหนึ่งใดที่จะจัดการปัญหาเหล่านี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ... สหรัฐฯควรหันมาลงทุนเพื่ออนาคต และสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ก็คือ การลงทุนกับคน และโครงสร้างพื้นฐาน” ลาการ์ด ระบุ
ไอเอ็มเอฟเตือนด้วยว่า ในความเป็นจริงตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังอ่อนแอยิ่งกว่านัยยะของตัวเลขการว่างงาน 6.3% เสียอีก เนื่องจากค่าแรงที่หยุดนิ่ง และอัตราการเข้าร่วมแรงงานที่ลดเหลือเพียง 62.8% เมื่อเทียบกับสถิติเกิน 66% ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008
ไอเอ็มเอฟย้ำถึงความจำเป็นที่สหรัฐฯ จะต้องกระตุ้นการจ้างงานในระยะสั้น แม้จะประสบปัญหาขาดดุลงบประมาณและหนี้สินภาครัฐรุงรังก็ตามที นอกจากนี้ พรรคเดโมแครตและรีพับลิกันอาจต้องร่วมมือจัดทำแผนระยะกลางเพื่อบรรเทาปัญหา เช่น ปรับโครงสร้างภาษีเพื่อเพิ่มรายได้แก่รัฐ ลดรายจ่ายด้านสาธารณสุข และปฏิรูประบบบำนาญชนิดถึงรากถึงโคน
ทั้งนี้ หากรัฐบาลวอชิงตันพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นก็จะช่วยให้ เฟด สามารถยกเลิกนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน (easy-money) ได้ง่ายขึ้น และยังช่วยลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินโลกด้วย
อย่างไรก็ดี ไอเอ็มเอฟชี้ว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ “นักการเมืองสหรัฐฯ ยังไม่สามารถร่วมมือกันในประเด็นเช่นนี้ได้”
ไอเอ็มเอฟ สนับสนุนนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของประธานาธิบดีบารัค โอบามา โดยชี้ว่าอัตราค่าจ้างแรงงานในสหรัฐฯ ลดต่ำลงอย่างมากในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์มองว่า ภาวะเช่นนี้คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวอเมริกันจำนวนมากติดอยู่ในวงจรความยากจน
ลาการ์ดชี้ว่า หากรัฐบาลสหรัฐฯ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากระดับ 7.25 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมงในปัจจุบัน “จะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่แรงงานยากจนอีกหลายล้านคน”
“การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะเป็นประโยชน์แน่นอนในมุมมองทางเศรษฐกิจ”