เอเอฟพี - กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) อนุมัติปล่อยกู้แก่รัฐบาลยูเครนเป็นวงเงิน 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 550,000 ล้านบาท) เมื่อวานนี้ (30) แม้ว่ากรุงเคียฟกำลังเผชิญศึกหนักจากกลุ่มพลเมืองนิยมรัสเซียในภาคตะวันออกที่ต้องการแยกดินแดนไปรวมกับรัสเซีย เหมือนเช่นที่เกิดกับคาบสมุทรไครเมียมาแล้ว
บอร์ดบริหารไอเอ็มเอฟเปิดไฟเขียวจ่ายเงินกู้งวดแรก 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่กรุงเคียฟในทันที เพื่อแก้ไขวิกฤตการคลังที่เข้าขั้นรุนแรง
“ความช่วยเหลือเร่งด่วนคือสิ่งจำเป็น... รัฐบาลยูเครนได้ใช้มาตรการที่เด็ดเดี่ยวไปแล้ว และเวลานี้ ไอเอ็มเอฟ ก็ได้ใช้มาตรการอันเด็ดเดี่ยวเช่นกัน” คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการใหญ่ไอเอ็มเอฟ แถลง
อย่างไรก็ดี ลาการ์ดยอมรับว่า แพ็จเกจช่วยเหลือยูเครนซึ่งเมื่อนับรวมกับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมจากธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์), สหภาพยุโรป และองค์กรอื่นๆ แล้วจะมีมูลค่าสูงถึง 27,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ยังอยู่ในความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะจากปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์
“เราจะพยายามลดความเสี่ยงให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้” ลาการ์ดกล่าว
ไอเอ็มเอฟระบุว่า แพกเกจเงินกู้ซึ่งครอบคลุมระยะเวลา 2 ปี “มีจุดประสงค์เพื่อฟื้นฟูเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค เสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านเศรษฐกิจและความโปร่งใส กระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องปกป้องกลุ่มพลเมืองที่เปราะบางที่สุดด้วย”
ยูเครนเผชิญแรงกดดันรอบด้านทั้งจากปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง นับตั้งแต่ประธานาธิบดี วิกเตอร์ ยานูโควิช ผู้มีจุดยืนเอียงข้างรัสเซียถูกรัฐสภาลงมติถอดถอน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์
ไอเอ็มเอฟเตือนว่า เศรษฐกิจยูเครนมีแนวโน้มจะหดตัว 5.0% ในปีนี้ แม้จะได้รับการสนับสนุนจากภายนอกแล้วก็ตาม
รัฐบาลยูเครนอาจนำเงินกู้งวดแรกบางส่วนไปจ่ายค่าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย ซึ่งคิดเป็นเงินราว 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังมอสโกขู่จะงดส่งก๊าซหากยูเครนไม่ยอมชำระหนี้ค้าง
ทั้งนี้ ยูเครนยังคงเป็นหนี้ไอเอ็มเอฟจากการขอกู้ครั้งก่อนๆ ดังนั้นแพกเกจช่วยเหลือใหม่อาจจะถูกตัดวงเงินออกไปบางส่วนเพื่อจ่ายคืนหนี้เดิม
ไอเอ็มเอฟพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนจะอนุมัติวงเงินช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่ยูเครน เพราะข้อตกลงกู้เงิน 2 ครั้งตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมาล้มเหลวไม่เป็นท่า เนื่องจากรัฐบาลยูเครนไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขปฏิรูปที่ไอเอ็มเอฟวางไว้ได้
นายกรัฐมนตรี อาร์เซนี ยัตเซ็นยุค แห่งยูเครนรับปากแข็งขันว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขปฏิรูปที่ไอเอ็มเอฟกำหนดมา รวมถึงการขึ้นราคาเชื้อเพลิงซึ่งน่าจะสร้างความไม่พอใจต่อประชาชนและเป็นเงื่อนไขยากจะปฏิบัติตามได้ในทางการเมือง