(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
Jihadis in Iraq blindside US spies
By Shane Harris
13/06/2014
ประดาหน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐฯต่างตกอยู่ในอาการเซอร์ไพรซ์ตะลึงงัน เมื่อพวกนักรบญิฮัดรุกเข้ายึดเมืองใหญ่ๆ ในอิรักเอาไว้ได้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ความล้มเหลวไม่อาจที่จะวิเคราะห์คาดการณ์พัฒนาการอันสำคัญในคราวนี้ได้ ทำให้หวนระลึกย้อนไปถึงความผิดพลาดใหญ่ในทางข่าวกรองอีกครั้งหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ นั่นคือในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมื่อพวกหน่วยงานสปายสายลับของอเมริกาล้มเหลวไม่อาจทำนายคาดการณ์เรื่องที่รัสเซียจะเข้ารุกรานแหลมไครเมีย ทั้งสองกรณีนี้ต่างทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า เงินงบประมาณจำนวนนับพันนับหมื่นล้านดอลลาร์ซึ่งสหรัฐฯใช้จ่ายไปแต่ละปีในการเฝ้าระวังคอยติดตามบรรดาจุดร้อนจุดเดือดของโลกนั้น ได้ผลเป็นที่น่าพอใจแล้วหรือ และจุดผิดพลาดของประดาสปายอเมริกันนั้นอยู่ที่ตรงไหน
ประดาหน่วยงานด้านข่าวกรองของสหรัฐฯต่างตกอยู่ในอาการเซอร์ไพรซ์ตะลึงงัน เมื่อพวกนักรบจากกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า “รัฐอิสลามในอิรักและอัล-ชาม (Islamic State in Iraq and al-Sham ใช้อักษรย่อว่า ISIS) [1] บุกเข้ายึดเมืองสำคัญ 2 แห่งของอิรักเอาไว้ได้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา และผลักดันขับไล่ให้กองกำลังป้องกันของทางการอิรักต้องถอยร่นหลบหนี ทั้งนี้ตามคำบอกเล่าเมื่อวันพฤหัสบดี (12 มิ.ย.) ของพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯซึ่งยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบันและที่เคยทำงานอยู่ในอดีต จากการที่กองทหารอเมริกันได้ถอนออกไปจากประเทศนี้นานหลายปีแล้ว วอชิงตันก็ไม่ได้มีเครือข่ายสายลับทางภาคพื้นดิน หรือเครื่องมืออุปกรณ์ในการตรวจการณ์สอดแนมทางอากาศ ซึ่งจำเป็นสำหรับการทำนายคาดการณ์ว่า กลุ่มนักรบญิฮัดเหล่านี้จะเปิดการโจมตีเมื่อใดและโจมตีที่ไหน
การที่พวกนักรบของ ISIS ซึ่งพรั่งพร้อมด้วยอาวุธและได้รับการฝึกมาอย่างดี สามารถเข้ายึดเมืองโมซุล (Mosul) เมืองใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของอิรัก และเมืองติกริต (Tikrit) สถานที่เกิดของ ซัดดัม ฮุสเซน อดีตผู้ปกครองอิรัก เอาไว้ได้ด้วยความรวดเร็วและง่ายดายเช่นนี้ ก่อให้เกิดความสงสัยอย่างฉกาจฉกรรจ์ว่า พวกสำนักงานข่าวกรองอเมริกันมีความสามารถแค่ไหนที่จะบอกล่วงหน้าได้ว่า ISIS จะเปิดการโจมตีครั้งต่อไปเมื่อใด ความกังขาสงสัยเช่นนี้ถือเป็นสัญญาณที่เลวร้าย ในเมื่อกลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่งนี้กำลังบุกคืบหน้าต่อไปเรื่อยๆ และขยับเข้าใกล้กรุงแบกแดดทุกทีๆ นอกจากนั้นแล้ว มันยังทำให้เราย้อนระลึกไปถึงกรณีความล้มเหลวทางด้านข่าวกรองอีกกรณีหนึ่งซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ นั่นคือในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมื่อพวกหน่วยงานสปายสายลับอเมริกัน ต่างล้มเหลวไม่อาจทำนายคาดการณ์ล่วงหน้าในเรื่องที่รัสเซียจะเข้ารุกรานแหลมไครเมีย ทั้งสองเหตุการณ์นี้ต่างทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า เงินงบประมาณจำนวนนับพันนับหมื่นล้านดอลลาร์ซึ่งสหรัฐฯใช้จ่ายไปแต่ละปีในการเฝ้าระวังคอยติดตามบรรดาจุดร้อนจุดเดือดของโลกนั้น ได้ผลเป็นที่น่าพอใจแล้วหรือ และจุดผิดพลาดของประดาสปายอเมริกันนั้นอยู่ที่ตรงไหน
สำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (US Central Intelligence Agency หรือ CIA) ยังคงรักษาหน่วยงานที่มีอยู่ในสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำกรุงแบกแดดเอาไว้ ทว่าซีไอเอได้ยุติการดำเนินการเครือข่ายสายลับภายในประเทศอิรักไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่ที่กองทหารสหรัฐฯถอนตัวออกจากอิรักในเดือนธันวาคม 2011 พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯซึ่งยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบันและที่เคยทำงานอยู่ในอดีตบอกเล่าให้ฟัง ที่เป็นเช่นนี้มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ “กองบัญชาการร่วมเพื่อการปฏิบัติการพิเศษ (Joint Special Operations Command ใช้อักษรย่อว่า JSOC) หน่วยงานปิดลับของฝ่ายทหาร คือผู้ที่มีบทบาทนำในการติดตามไล่ล่ากำลังอาวุธหัวรุนแรงสุดโต่งในอิรัก แต่เมื่อหน่วยปฏิบัติการพิเศษของ JSOC ถอนตัวออกจากประเทศนั้นแล้ว บรรดาสำนักงานข่าวกรองจึงถูกบังคับให้ต้องสอดแนมเฝ้าติดตามกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงสุดโต่งเฉกเช่น ISIS โดยเพียงอาศัยภาพถ่ายทางดาวเทียมและการตรวจจับดักฟังการติดต่อสื่อสาร –อันเป็นวิธีการซึ่งถูกพิสูจน์แล้วใช้การไม่ได้ในทางปฏิบัติ เนื่องจากพวกติดอาวุธหัวรุนแรงสุดโต่งเหล่านี้หันไปติดต่อถ่ายทอดข่าวสารคำสั่งต่างๆ ด้วยการใช้คนถือจดหมาย แทนที่จะสนทนากันทางโทรศัพท์หรืออีเมล อีกทั้งเคลื่อนไหวเคลื่อนที่กันในลักษณะแบ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถผสมกลมกลืนหายเข้าไปอยู่ในหมู่ประชากรพลเรือนได้ง่าย
เหล่าผู้กำหนดนโยบายทั้งในวอชิงตันและตามเมืองหลวงชาติพันธมิตรอเมริกันอื่นๆ ต่างตกอยู่ในอาการทำนองเดียวกัน ในเรื่องที่ไม่แน่ใจว่ากลุ่มนี้มีความแข็งแกร่งแท้จริงมากน้อยขนาดไหน หรือควรที่จะตอบโต้อย่างไรจึงจะเหมาะสม เจ้าหน้าที่อาวุโสผู้หนึ่งของสหรัฐฯเปิดเผยว่า เมื่อตอนปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ชัค เฮเกล (Chuck Hagel) ได้พบปะหารือกับพวกเจ้าหน้าที่กลาโหมจากพวกประเทศอาหรับในเมืองเจดดาห์ (Jeddah), ซาอุดีอาระเบีย โดยปรากฏว่าพวกเขาเห็นพ้องกันในเรื่องที่ว่า ISIS และกลุ่มนักรบอิสลามิสต์อื่นๆ ในซีเรียและอิรัก ได้กลายเป็นภัยคุกคามต่อทั่วทั้งภูมิภาคแถบนี้ไปแล้ว ทว่ากลับไม่ได้มีแผนการใดๆ เกี่ยวกับวิธีในการตอบโต้จัดการกับกลุ่มเหล่านี้ออกมาจากการประชุมคราวนี้ รวมทั้งไม่ได้มีเครื่องบ่งชี้ใดๆ ว่าบรรดาหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯได้เพิ่มระดับในการสอดแนมติดตามพวกนักรบ ISIS ในอิรัก ถึงแม้กลุ่มนี้ได้เข้ายึดครองเมืองฟอลลูจาห์ (Fallujah) และหลายๆ ส่วนของเมืองรามาดี (Ramadi) ในเขตจังหวัดอันบาร์ (Anbar) ทางภาคตะวันตกของอิรักตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา
“พูดง่ายๆ ก็คือ การโจมตี (ยึดเมืองโมซุลและติกริต ซึ่งอยู่ทางภาคเหนือของอิรัก) เกิดขึ้นชนิดที่พวกเราไม่ทันระวังตั้งตัวอะไรเลย” ดาวีด การ์เตนสไตน์-รอสส์ (Daveed Gartenstein-Ross) นักวิเคราะห์การก่อการร้าย และนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่มูลนิธิเพื่อการป้องกันประเทศประชาธิปไตย (Foundation for Defense of Democracies) ซึ่งเป็นผู้ที่ดำเนินการศึกษาวิจัยกลุ่ม ISIS และกลุ่มที่โยงใยเกี่ยวข้องกับอัลกออิดะห์กลุ่มอื่นๆ กล่าวสรุป ถึงแม้ตลอดช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯได้มีการประเมินค่าออกมาแล้วว่า ISIS มีความแข็งแกร่งมาก ชนิดที่สามารถ “ต่อสู้แบบเผชิญหน้าโดยตรง” กับฝ่ายทหารอิรักได้ทีเดียว –กลุ่มนี้ได้สาธิตให้เห็นข้อเท็จจริงนี้อย่างเป็นรูปธรรมแล้วด้วยซ้ำ จากการปฏิบัติการของพวกเขาในเมืองฟอลลูจาห์และเมืองรามาดี— แต่ก็ไม่ปรากฏสัญญาณเครื่องบ่งชี้ใดๆ เลยว่าพวกหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯรู้ตัวล่วงหน้าว่า ISIS ใกล้ที่จะเปิดการรุกโจมตีครั้งใหญ่เพื่อเข้ายึดเมืองที่ทรงความสำคัญยิ่งขึ้นไปอีก 2 เมืองพร้อมๆ กันเช่นนี้ การ์เตนสไตน์-รอสส์ กล่าว
ภายหลังที่ทราบข่าวการโจมตีเมืองโมซุลและเมืองติกริตในสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว พวกหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯก็ได้สั่งการให้เพิ่มจำนวนภาพถ่ายดาวเทียมคุณภาพสูงซึ่งถ่ายจากอาณาบริเวณดังกล่าว เพื่อช่วยในการค้นหาพวกสถานที่ตั้งกองกำลังภาคพื้นดินของ ISIS เจ้าหน้าที่สหรัฐฯผู้หนึ่งบอก แต่ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าข้อมูลข่าวสารนี้มีการจัดส่งไปให้แก่กองกำลังต่างๆ ของอิรัก เพื่อช่วยพวกเขาในเรื่องการวางแผนโจมตีทางอากาศหรือการปฏิบัติการอย่างอื่นๆ หรือไม่
เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ 2 คนได้กล่าวยอมรับว่า การประเมินค่าต่อกลุ่ม ISIS ของพวกหน่วยข่าวกรองนั้น อยู่ในลักษณะที่กว้างๆ จนเกินไป และขาดการบ่งชี้อย่างเฉพาะเจาะจงชนิดซึ่งจะสามารถช่วยเหลือให้ฝ่ายทหารของอิรักทราบอย่างแท้จริงว่า การโจมตีอาจจะเกิดขึ้นได้เมื่อใดและที่ไหน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่อาวุโสทั้ง 2 ชี้ว่า สิ่งที่คณะรัฐบาลโอบามารู้สึกเป็นห่วงกังวลมากกว่านั้นเสียอีกก็คือ กองกำลังของอิรักมีความเข้มแข็งขนาดไหน และมีเจตจำนงอย่างแท้จริงที่จะทำการสู้รบหรือไม่
“เรื่องนี้ไม่เคยเลย ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ว่า เรานั้นประเมินว่า ISIS มีสมรรถนะความสามารถที่จะเปิดการโจมตีหรือเปล่า แต่สิ่งที่เราขบคิดพิจารณากันอยู่เสมอมาก็คือ ทางอิรักมีสมรรถนะความสามารถที่จะป้องกันประเทศของพวกเขาเองหรือเปล่าต่างหาก” เจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งบอก ทั้งนี้การประเมินค่าในเรื่องนี้ของสหรัฐฯ ดูจะมีความถูกต้องแม่นยำมากกว่าเรื่องของกลุ่ม ISIS เสียอีก มีรายงานว่าพวกเจ้าหน้าที่ในคณะรัฐบาลโอบามาบังเกิดความลังเลรีรอเรื่อยมาที่จะจัดหาจัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ก้าวหน้าทันสมัย –เป็นต้นว่า เครื่องบินขับไล่ไอพ่น และเฮลิคอปเตอร์โจมตี— ให้แก่กองกำลังทหารของอิรัก เนื่องจากพวกเขาไม่เคยแสดงให้เห็นเลยว่ามีความถนัดมีคุณสมบัติอันเหมาะสมที่จะใช้อาวุธยุทโธปกรณ์เหล่านี้ หรือมีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวเพียงพอที่จะเข้าสู้รบทำศึกกับเหล่าศัตรูของพวกเขา เจ้าหน้าที่เหล่านี้เผย นอกจากนั้นคณะรัฐบาลโอบามายังมีความหวั่นเกรงมายาวนานแล้วว่า นายกรัฐมนตรี นูริ อัล-มาลิกี (Nouri al-Maliki) ของอิรัก ซึ่งเป็นชาวมุสลิมชิอะห์ ที่มีความชิงชังอย่างชัดเจนต่อประชากรชาวมุสลิมสุหนี่ของประเทศ จะนำเอาอาวุธยุทโธปกรณ์เหล่านี้ไปเล่นงานประชาชนของเขาเอง
การที่หน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐฯ แสดงออกให้เห็นว่าไร้ความสามารถที่จะทำนายวิกฤตการณ์ครั้งล่าสุดในอิรักเช่นนี้ น่าที่จะเป็นการเติมเชื้อเพลิงให้แก่พวกนักวิพากษ์วิจารณ์คณะรัฐบาลโอบามา ซึ่งได้โจมตีเล่นงานการจัดการกับวิกฤตการณ์ระดับโลกในที่อื่นๆ อยู่แล้ว เป็นต้นว่า ที่ซีเรีย และยูเครน สำหรับในกรณีการบุกเข้ายึดแหลมไครเมียของรัสเซีย ซึ่งพวกสายลับอเมริกันก็เสียท่าไม่ทันระวังตั้งตัวเช่นกันนั้น มีรายงานว่าพวกระบบลักลอบดักฟังทางอิเล็กทรอนิกส์อันสลับซับซ้อนซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Agency หรือ NSA) ของสหรัฐฯ แทบใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลย เพราะกองกำลังของรัสเซียตอบโต้รับมือด้วยการใช้มาตรการจำกัดระยะเวลาที่พวกเขาพูดคุยกันทางโทรศัพท์ รวมทั้งประยุกต์นำเอาเทคนิคของพวกนักรบญิฮัดมาปรับใช้ นั่นคือ การใช้คนส่งจดหมายเป็นตัวกลางในการติดต่อระหว่างหน่วยต่างๆ ของพวกเขา
อย่างไรก็ตาม ความล้มเหลวในการตอบโต้ต้านทานกลุ่ม ISIS ในอิรักนั้น ไม่สามารถที่จะโยนให้เป็นความรับผิดชอบของพวกหน่วยงานข่าวกรองอเมริกันเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น เมื่อตอนที่กองทหารสหรัฐฯยังคงตั้งประจำอยู่ในประเทศแห่งนี้ พวกเขาได้ก่อตั้งระบบข่าวกรองสมรภูมิที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดระบบหนึ่งในประวัติศาสตร์แห่งการทำศึกสงครามของอเมริกาทีเดียว กล่าวคือ NSA จะคอยเฝ้าติดตามการติดต่อทางโทรศัพท์ทุกๆ สาย, การรับส่งอีเมลทุกๆ ฉบับ, ตลอดจนการส่งข้อความทางโทรศัพท์ทุกๆ ครั้งในอิรัก และสามารถที่จะบ่งบอกให้ร่องรอยเบาะแสเกี่ยวกับที่ตั้งที่หลบซ่อนของพวกนักรบญิฮัดและพวกผู้ก่อความไม่สงบ แก่ผู้ควบคุมอากาศยานไร้นักบิน (โดรน) และกองกำลังปฏิบัติการพิเศษหน่วยต่างๆ ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่จับกุมหรือสังหารพวกเหล่านี้ นอกจากนั้นหน่วยคอมมานโดของสหรัฐฯซึ่งปฏิบัติการเคียงข้างกับซีไอเอ ยังได้พัฒนาจัดวางเครือข่ายสายลับมนุษย์เป็นๆ อันกว้างขวางครอบคลุมขึ้นมาด้วย
แต่เมื่อกองทหารสหรัฐฯถอนออกไปจากอิรักในปี 2011 พลังอำนาจด้านข่าวกรองดังกล่าวเหล่านี้ก็หายลับไปพร้อมกับพวกเขาด้วย รัฐบาลอิรักล้มเหลวไม่ได้หาทางจัดทำข้อตกลงซึ่งจะเปิดทางให้สหรัฐฯยังคงรักษาการปรากฏตัวอย่างเป็นรูปธรรมบางส่วนบางประการเอาไว้ในอิรักต่อไป โดยที่การปรากฏตัวที่ว่านี้มีความจำเป็นสำหรับการทำให้เครือข่ายการข่าวกรองยังคงสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างเต็มสูบ มาถึงเวลานี้ สมรรถนะความสามารถทางด้านข่าวกรองดังกล่าวก็เหี่ยวแห้งร่วงโรยไปหมดแล้ว
“สหรัฐฯใช้ความพยายามในการรวบรวมข่าวกรองจากหลายๆ ทางมากมายพร้อมๆ กันไป ดังนั้นจึงมีความลำบากเป็นพิเศษถ้าหากต้องรวบรวมข่าวกรองในสถานที่ซึ่งเราไม่สามารถเข้าไปปรากฏตัวที่นั่นได้” คริสโตเฟอร์ ฮาร์เมอร์ (Christopher Harmer) อดีตนายทหารเรือและนักวิเคราะห์ซึ่งทำงานให้กับสถาบันเพื่อการศึกษาสงคราม (Institute for the Study of War) อธิบายแจกแจง ฮาร์เมอร์บอกว่า ยิ่งอยู่ในสภาพที่ขาดไร้สปายสายลับที่เป็นมนุษย์ตัวเป็นๆ ด้วยแล้ว ก็ทำให้สหรัฐฯตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบเมื่อต้องต่อสู้กับ ISIS จากการที่กลุ่มนี้พึ่งพาอาศัยคนถือจดหมาย อีกทั้งมีความอุสาหะพยายามหลีกเลี่ยงไม่ใช้โทรศัพท์และอีเมล ซึ่งจะทำให้ถูกติดตามร่องรอยได้ “สิ่งที่ ISIS ทำได้อย่างยอดเยี่ยมที่สุด ก็คือสิ่งที่เราทำได้แย่ที่สุดนั่นเอง เพราะเรานั้นไม่ได้มีเครือข่ายข่าวกรองมนุษย์ตัวเป็นๆ ที่ใช้งานได้ดี” ในอิรักเอาเสียเลย ฮาร์เมอร์ รำพึงรำพัน
ถ้าหากสหรัฐฯจะตั้งความหวังใดๆ ว่าจะสามารถบังเกิดความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับอิรักโดยอาศัยการข่าวกรองขึ้นมาบ้างแล้ว ก็น่าจะต้องมองไปที่เขตปกครองตนเองของชาวเคิร์ด ในทางตอนเหนือของประเทศนี้ “พวกเคิร์ดเคยถึงกับขอร้องอ้อนวอนสหรัฐฯให้รักษาฐานทัพเอาไว้สักแห่งหนึ่งในเขต (ปกครองตนเอง) เคอร์ดิสถาน (Kurdistan)” ในช่วงก่อนที่อเมริกาจะถอนทหารออกไปหมด เดวิด ทาฟูรี (David Tafuri) บอก เขาเคยปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประสานงานด้านหลักนิติธรรมสำหรับอิรัก (Rule of Law Coordinator for Iraq) ในกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯช่วงปี 2006 จนถึง 2007 และปัจจุบันเป็นหุ้นส่วนรายหนึ่งของสำนักกฎหมาย สไควร์ แพตตัน บ็อกส์ (Squire Patton Boggs) “ในตอนนั้นพวกเขายอมให้สหรัฐฯได้ทุกอย่างเพื่อให้สหรัฐฯไปตั้งฐานทัพสักแห่งหนึ่งขึ้นที่นั่น ถ้าตอนนั้นเราคว้าเอาไว้จริงๆ เราก็คงจะอยู่ในฐานะที่ดีกว่าในตอนนี้เยอะ ในการเฝ้าติดตามสถานการณ์ซึ่งกำลังเกิดขึ้นเวลานี้” ทาฟูรี กล่าว
พวกเจ้าหน้าที่อิรักในตอนนี้ ก็มีความกระตือรือร้นปรารถนาที่จะได้ใช้เครื่องมืออุปกรณ์ทางการทหารและทางด้านข่าวกรองของสหรัฐฯ เพื่อช่วยเหลือการต่อสู้ปราบปรามพวกนักรบญิฮัดของพวกเขา เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทาง “ฟอเรนจ์ โพลิซี” (Foreign Policy) [2] เคยรายงานเอาไว้ว่า รัฐบาลอิรักกำลังใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อให้ได้รับอากาศยานไร้นักบินประเภทติดอาวุธ จากทางสหรัฐฯ จะได้นำไปใช้สู้รับกับกลุ่มติดอาวุธอัลกออิดะห์ในจังหวัดอันบาร์ซึ่งกำลังทวีการใช้ความรุนแรงมากขึ้นทุกที โดยเป็นที่เชื่อกันด้วยว่าพวกนักรบญิฮัดซึ่งปฏิบัติการอยู่ที่นั่นเป็นพวกที่มาจากซีเรียและแผ่ขยายเข้าไปในอิรัก ไม่เพียงเท่านั้น พวกเจ้าหน้าที่อิรักยังแสดงท่าทีพลิกผันเป็นตรงกันข้ามจากในอดีต โดยระบุว่าเวลานี้พวกเขายินดีต้อนรับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการโดรนทางทหารของสหรัฐฯ ให้กลับเข้ามายังอิรักเพื่อดำเนินการพุ่งเป้าเล่นงานพวกติดอาวุธหัวรุนแรงสุดโต่งเหล่านี้ในนามของทางอิรัก ทั้งนี้ตามคำบอกเล่าของผู้คนซึ่งมีความรู้ในเรื่องนี้เป็นอันดี อย่างไรก็ตาม จวบจนถึงเวลานี้ สหรัฐฯยังเพียงแค่ตกลงเห็นชอบที่จะมอบโดรนแบบ “สแกนอีเกิล” (ScanEagle) ลำเล็กๆ จำนวน 10 ลำให้อิรักเท่านั้น อากาศยานไร้นักบินแบบนี้จะปล่อยขึ้นฟ้าด้วยการใช้เครื่องเหวี่ยง (catapult) และไม่มีการติดตั้งอาวุธใดๆ ตามคำแถลงของทำเนียบขาวในวันพฤหัสบดี (12 มิ.ย.) โดรนเหล่านี้ควรที่จะส่งมอบได้ประมาณช่วงปลายฤดูร้อนปีนี้
ทางด้านอิหร่าน ซึ่งถือเป็นศัตรูที่สร้างความโกรธแค้นให้สหรัฐฯได้ง่ายที่สุดในทั่วทั้งภูมิภาคตะวันออกกลาง กำลังมีความเคลื่อนไหวที่รวดเร็วกว่าสหรัฐฯมาก ตามรายงานของสื่อมวลชนหลายกระแส หน่วยขนาดกำลังพล 150 คนหน่วยหนึ่งของกองกำลังคูดส์ (Quds Force) ซึ่งเป็นหน่วยชั้นนำของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติ (Revolutionary Guard) ของอิหร่าน ได้ถูกจัดส่งเข้าไปยังอิรักแล้ว เพื่อสนับสนุนรัฐบาลมาลิกี และต่อสู้ทำศึกกับ ISIS มีรายงานอื่นๆ หลายกระแสที่บ่งชี้ถึงขนาดที่ว่า กองกำลังผสมอิหร่าน-อิรัก สามารถบุกเข้าชิงเมืองติกริตกลับคืนมาทั้งหมดหรือเป็นส่วนใหญ่แล้วด้วยซ้ำ
“เราได้เห็นรายงานเช่นนี้ แต่เราไม่สามารถยืนยันว่าสิ่งที่รายงานเหล่านี้ระบุนั้นเป็นความจริง” เจย์ คาร์นีย์ (Jay Carney) เลขานุการฝ่ายหนังสือพิมพ์ของทำเนียบขาวแถลงในวันพฤหัสบดี (12 มิ.ย.) ครั้นเมื่อถูกผู้สื่อข่าวผู้หนึ่งจี้ถามว่า คณะรัฐบาลโอบามาจะเตือนอิรักให้ระวังตัวอย่าได้แสวงหาความช่วยเหลือจากอิหร่านผู้เป็นเพื่อนบ้านหรือไม่ คาร์นีย์ก็ตอบว่า “ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นปัญหาที่รัฐบาลอิรักจะต้องเป็นผู้ตอบ สำหรับความเห็นของเรานั้นมองว่า อิรักควรที่จะดำเนินการตัดสินใจภายหลังจากการไตร่ตรองอย่างรอบคอบแล้ว ในเรื่องที่ว่าพวกเขาจะรับมือกับภัยคุกคาม [จากกลุ่ม ISIS] กันอย่างไร โดยคำนึงถึงผลประโยชน์แห่งความสามัคคีเป็นเอกภาพภายในชาติ”
*หมายเหตุผู้แปล*
[1] “รัฐอิสลามในอิรักและอัล-ชาม (Islamic State in Iraq and al-Sham ใช้อักษรย่อว่า ISIS) เนื่องจากดินแดน “อัล-ชาม” ในภาษาอาหรับ ตรงกับดินแดน “เลแวนต์” (Levant) ในภาษาอังกฤษ จึงมีการแปลชื่อของกลุ่มนี้เป็นภาษาอังกฤษว่า Islamic State in Iraq and Levant (รัฐอิสลามในอิรักและเลแวนต์) ใช้อักษาย่อว่า ISIL อีกด้วย
ISIS หรือ ISIL เป็นรัฐซึ่งอ้างเอาเองโดยยังมิได้รับการรับรอง แท้ที่จริงแล้วคือกลุ่มนักรบญิฮัดหัวรุนแรงติดอาวุธที่เคลื่อนไหวอยู่ในอิรักและซีเรีย โดยที่ได้รับอิทธิพลความคิดจากขบวนการวาฮาบี (Wahhabi Movement) ในการอ้างฐานะตนเองเป็นรัฐเอกราชแม้ยังไม่ได้รับการรับรองนี้ ISIS แสดงความมุ่งหมายที่จะครอบครองดินแดนของอิรักและซีเรีย รวมทั้งแสดงท่าทีที่จะอ้างสิทธิเข้าครอบครองดินแดนอื่นๆ ที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของ “อัล-ชาม” หรือ “เลแวนต์” เช่นกันในอนาคตข้างหน้า ดินแดนส่วนอื่นๆ ที่ว่านี้ ได้แก่ เลบานอน, อิสราเอล, จอร์แดน, ไซปรัส, และภาคใต้ของตุรกี
กลุ่มนี้ก่อตั้งขึ้นในช่วงปีแรกๆ ของสงครามอิรัก และได้ประกาศแสดงความจงรักภักดีต่ออัลกออิดะห์ในปี 2004 ทั้งนี้ ISIS ประกอบด้วยกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบหลายๆ กลุ่ม รวมถึงองค์การที่เคยมีอยู่แล้วก่อนหน้าจะกลายเป็นกลุ่มนี้ด้วย ดังเช่น สภาชูเราะห์ของนักรบมุญะฮีดีน (Mujahideen Shura Council), กลุ่มอัลกออิดะห์ในอิรัก (al-Qaeda in Iraq) ฯลฯ ตลอดจนกลุ่มชนอื่นๆ ที่ประชากรนับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่ จุดมุ่งหมายของกลุ่ม ISIS คือการก่อตั้งรัฐอิสลามแบบที่นำโดยผู้นำสูงสุดทางศาสนาและการเมือง (Caliphate) ขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ของอิรักที่มีชาวสุหนี่เป็นชนส่วนข้างมาก แล้วในเวลาต่อมาได้ขยายให้หมายรวมถึงการก่อตั้งรัฐดังกล่าวในพื้นที่ต่างๆ ของซีเรียด้วย
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2014 ภายหลังการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจกันเป็นเวลา 8 เดือน อัลกออิดะห์ได้ประกาศตัดสายสัมพันธ์ทั้งหมดที่มีอยู่กับ ISIS
(ข้อมูลจาก Wikipedia)
[2] ฟอเรนจ์ โพลิซี (Foreign Policy) เป็นสิ่งพิมพ์ด้านข่าวซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1970 โดยเน้นหนักทางด้านกิจการโลก, เหตุการณ์ปัจจุบัน, และนโยบายภายในประเทศและนโยบายระหว่างประเทศ เริ่มแรกทีเดียวนั้นอยู่ในรูปนิตยสาร ผู้ก่อตั้งคือ ซามูเอล ฮันติงตัน (Samuel Huntington) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีแนวความคิดแบบสายเหยี่ยว กับ เพื่อนสนิทของเขา วอร์เรน เดเมียน แมนเชล (Warren Demian Manshel) ผู้มีแนวความคิดแบบสายพิราบ ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะให้มีการตั้งคำถามต่อทัศนะที่ปรากฏอยู่ทั่วไป ตลอดจนตั้งคำถามต่อการตัดสินใจชนิดที่เป็นมติของกลุ่มโดยไม่มีความรับผิดชอบส่วนบุคคล รวมทั้งเป็นปากเสียงให้แก่ทัศนะที่เป็นทางเลือกอื่นๆ ในนโยบายการต่างประเทศอเมริกัน
ในปี 2000 ขณะที่เจ้าของกิจการนี้คือ กองทุนการกุศลคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ (Carnegie Endowment for International Peace) ฟอเรนจ์ โพลิซี ได้เปลี่ยนแปลงจากวารสารเล่มบางรายไตรมาส มาเป็นนิตยสารที่มีเนื้อหาอัดแน่นดังในปัจจุบัน โดยที่ยังคงรักษาทัศนะมุมมองอันเป็นอิสระ ตลอดจนความมุ่งมั่นที่จะสำรวจบรรดาประเด็นปัญหาใหญ่ที่สุดของโลกอย่างถูกต้องแม่นยำต่อไป
ในปี 2008 บริษัทวอชิงตันโพสต์ (Washington Post Company) ซึ่งปัจจุบันคือบริษัท แกรฮ์ม โฮลดิ้ง (Graham Holdings Company) ได้เข้าซื้อ ฟอเรนจ์ โพลิซี และมีการขยายแพลตฟอร์มนอกเหนือจากสิ่งพิมพ์ ด้วยการเปิดเว็บไซต์ ForeignPolicy.com รวมทั้งมีการปรับปรุงเนื้อหาที่นำเสนอให้กว้างขวางขึ้นกว่าเดิมมาก
(ข้อมูลจาก Wikipedia)
เชน แฮร์ริส เป็นนักเขียนอาวุโสในกองบรรณาธิการของฟอเรนจ์ โพลิซี (Foreign Policy) โดยเน้นหนักเขียนเรื่องทางด้านข่าวกรองและความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เขาเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง “The Watchers: The Rise of America's Surveillance State” ซึ่งบันทึกเรื่องราวการก่อตั้งกลไกความมั่นคงแห่งชาติอันกว้างขวางของสหรัฐฯ ตลอดจนการเติบโตขยายตัวของการแอบสอดแนมในอเมริกา หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลหนังสือเฮเลน เบิร์นสไตน์ ของห้องสมุดประชาชนนิวยอร์ก ประเภท ผลงานยอดเยี่ยม ด้านวารสารศาสตร์ (New York Public Library’s Helen Bernstein Book Award for Excellence in Journalism) อีกทั้งนิตยสารอีโคโนมิสต์ (Economist) ยกย่องให้เป็นหนังสือดีที่สุดเล่มหนึ่งประจำปี 2010
Jihadis in Iraq blindside US spies
By Shane Harris
13/06/2014
ประดาหน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐฯต่างตกอยู่ในอาการเซอร์ไพรซ์ตะลึงงัน เมื่อพวกนักรบญิฮัดรุกเข้ายึดเมืองใหญ่ๆ ในอิรักเอาไว้ได้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ความล้มเหลวไม่อาจที่จะวิเคราะห์คาดการณ์พัฒนาการอันสำคัญในคราวนี้ได้ ทำให้หวนระลึกย้อนไปถึงความผิดพลาดใหญ่ในทางข่าวกรองอีกครั้งหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ นั่นคือในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมื่อพวกหน่วยงานสปายสายลับของอเมริกาล้มเหลวไม่อาจทำนายคาดการณ์เรื่องที่รัสเซียจะเข้ารุกรานแหลมไครเมีย ทั้งสองกรณีนี้ต่างทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า เงินงบประมาณจำนวนนับพันนับหมื่นล้านดอลลาร์ซึ่งสหรัฐฯใช้จ่ายไปแต่ละปีในการเฝ้าระวังคอยติดตามบรรดาจุดร้อนจุดเดือดของโลกนั้น ได้ผลเป็นที่น่าพอใจแล้วหรือ และจุดผิดพลาดของประดาสปายอเมริกันนั้นอยู่ที่ตรงไหน
ประดาหน่วยงานด้านข่าวกรองของสหรัฐฯต่างตกอยู่ในอาการเซอร์ไพรซ์ตะลึงงัน เมื่อพวกนักรบจากกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า “รัฐอิสลามในอิรักและอัล-ชาม (Islamic State in Iraq and al-Sham ใช้อักษรย่อว่า ISIS) [1] บุกเข้ายึดเมืองสำคัญ 2 แห่งของอิรักเอาไว้ได้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา และผลักดันขับไล่ให้กองกำลังป้องกันของทางการอิรักต้องถอยร่นหลบหนี ทั้งนี้ตามคำบอกเล่าเมื่อวันพฤหัสบดี (12 มิ.ย.) ของพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯซึ่งยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบันและที่เคยทำงานอยู่ในอดีต จากการที่กองทหารอเมริกันได้ถอนออกไปจากประเทศนี้นานหลายปีแล้ว วอชิงตันก็ไม่ได้มีเครือข่ายสายลับทางภาคพื้นดิน หรือเครื่องมืออุปกรณ์ในการตรวจการณ์สอดแนมทางอากาศ ซึ่งจำเป็นสำหรับการทำนายคาดการณ์ว่า กลุ่มนักรบญิฮัดเหล่านี้จะเปิดการโจมตีเมื่อใดและโจมตีที่ไหน
การที่พวกนักรบของ ISIS ซึ่งพรั่งพร้อมด้วยอาวุธและได้รับการฝึกมาอย่างดี สามารถเข้ายึดเมืองโมซุล (Mosul) เมืองใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของอิรัก และเมืองติกริต (Tikrit) สถานที่เกิดของ ซัดดัม ฮุสเซน อดีตผู้ปกครองอิรัก เอาไว้ได้ด้วยความรวดเร็วและง่ายดายเช่นนี้ ก่อให้เกิดความสงสัยอย่างฉกาจฉกรรจ์ว่า พวกสำนักงานข่าวกรองอเมริกันมีความสามารถแค่ไหนที่จะบอกล่วงหน้าได้ว่า ISIS จะเปิดการโจมตีครั้งต่อไปเมื่อใด ความกังขาสงสัยเช่นนี้ถือเป็นสัญญาณที่เลวร้าย ในเมื่อกลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่งนี้กำลังบุกคืบหน้าต่อไปเรื่อยๆ และขยับเข้าใกล้กรุงแบกแดดทุกทีๆ นอกจากนั้นแล้ว มันยังทำให้เราย้อนระลึกไปถึงกรณีความล้มเหลวทางด้านข่าวกรองอีกกรณีหนึ่งซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ นั่นคือในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมื่อพวกหน่วยงานสปายสายลับอเมริกัน ต่างล้มเหลวไม่อาจทำนายคาดการณ์ล่วงหน้าในเรื่องที่รัสเซียจะเข้ารุกรานแหลมไครเมีย ทั้งสองเหตุการณ์นี้ต่างทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า เงินงบประมาณจำนวนนับพันนับหมื่นล้านดอลลาร์ซึ่งสหรัฐฯใช้จ่ายไปแต่ละปีในการเฝ้าระวังคอยติดตามบรรดาจุดร้อนจุดเดือดของโลกนั้น ได้ผลเป็นที่น่าพอใจแล้วหรือ และจุดผิดพลาดของประดาสปายอเมริกันนั้นอยู่ที่ตรงไหน
สำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (US Central Intelligence Agency หรือ CIA) ยังคงรักษาหน่วยงานที่มีอยู่ในสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำกรุงแบกแดดเอาไว้ ทว่าซีไอเอได้ยุติการดำเนินการเครือข่ายสายลับภายในประเทศอิรักไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่ที่กองทหารสหรัฐฯถอนตัวออกจากอิรักในเดือนธันวาคม 2011 พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯซึ่งยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบันและที่เคยทำงานอยู่ในอดีตบอกเล่าให้ฟัง ที่เป็นเช่นนี้มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ “กองบัญชาการร่วมเพื่อการปฏิบัติการพิเศษ (Joint Special Operations Command ใช้อักษรย่อว่า JSOC) หน่วยงานปิดลับของฝ่ายทหาร คือผู้ที่มีบทบาทนำในการติดตามไล่ล่ากำลังอาวุธหัวรุนแรงสุดโต่งในอิรัก แต่เมื่อหน่วยปฏิบัติการพิเศษของ JSOC ถอนตัวออกจากประเทศนั้นแล้ว บรรดาสำนักงานข่าวกรองจึงถูกบังคับให้ต้องสอดแนมเฝ้าติดตามกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงสุดโต่งเฉกเช่น ISIS โดยเพียงอาศัยภาพถ่ายทางดาวเทียมและการตรวจจับดักฟังการติดต่อสื่อสาร –อันเป็นวิธีการซึ่งถูกพิสูจน์แล้วใช้การไม่ได้ในทางปฏิบัติ เนื่องจากพวกติดอาวุธหัวรุนแรงสุดโต่งเหล่านี้หันไปติดต่อถ่ายทอดข่าวสารคำสั่งต่างๆ ด้วยการใช้คนถือจดหมาย แทนที่จะสนทนากันทางโทรศัพท์หรืออีเมล อีกทั้งเคลื่อนไหวเคลื่อนที่กันในลักษณะแบ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถผสมกลมกลืนหายเข้าไปอยู่ในหมู่ประชากรพลเรือนได้ง่าย
เหล่าผู้กำหนดนโยบายทั้งในวอชิงตันและตามเมืองหลวงชาติพันธมิตรอเมริกันอื่นๆ ต่างตกอยู่ในอาการทำนองเดียวกัน ในเรื่องที่ไม่แน่ใจว่ากลุ่มนี้มีความแข็งแกร่งแท้จริงมากน้อยขนาดไหน หรือควรที่จะตอบโต้อย่างไรจึงจะเหมาะสม เจ้าหน้าที่อาวุโสผู้หนึ่งของสหรัฐฯเปิดเผยว่า เมื่อตอนปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ชัค เฮเกล (Chuck Hagel) ได้พบปะหารือกับพวกเจ้าหน้าที่กลาโหมจากพวกประเทศอาหรับในเมืองเจดดาห์ (Jeddah), ซาอุดีอาระเบีย โดยปรากฏว่าพวกเขาเห็นพ้องกันในเรื่องที่ว่า ISIS และกลุ่มนักรบอิสลามิสต์อื่นๆ ในซีเรียและอิรัก ได้กลายเป็นภัยคุกคามต่อทั่วทั้งภูมิภาคแถบนี้ไปแล้ว ทว่ากลับไม่ได้มีแผนการใดๆ เกี่ยวกับวิธีในการตอบโต้จัดการกับกลุ่มเหล่านี้ออกมาจากการประชุมคราวนี้ รวมทั้งไม่ได้มีเครื่องบ่งชี้ใดๆ ว่าบรรดาหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯได้เพิ่มระดับในการสอดแนมติดตามพวกนักรบ ISIS ในอิรัก ถึงแม้กลุ่มนี้ได้เข้ายึดครองเมืองฟอลลูจาห์ (Fallujah) และหลายๆ ส่วนของเมืองรามาดี (Ramadi) ในเขตจังหวัดอันบาร์ (Anbar) ทางภาคตะวันตกของอิรักตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา
“พูดง่ายๆ ก็คือ การโจมตี (ยึดเมืองโมซุลและติกริต ซึ่งอยู่ทางภาคเหนือของอิรัก) เกิดขึ้นชนิดที่พวกเราไม่ทันระวังตั้งตัวอะไรเลย” ดาวีด การ์เตนสไตน์-รอสส์ (Daveed Gartenstein-Ross) นักวิเคราะห์การก่อการร้าย และนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่มูลนิธิเพื่อการป้องกันประเทศประชาธิปไตย (Foundation for Defense of Democracies) ซึ่งเป็นผู้ที่ดำเนินการศึกษาวิจัยกลุ่ม ISIS และกลุ่มที่โยงใยเกี่ยวข้องกับอัลกออิดะห์กลุ่มอื่นๆ กล่าวสรุป ถึงแม้ตลอดช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯได้มีการประเมินค่าออกมาแล้วว่า ISIS มีความแข็งแกร่งมาก ชนิดที่สามารถ “ต่อสู้แบบเผชิญหน้าโดยตรง” กับฝ่ายทหารอิรักได้ทีเดียว –กลุ่มนี้ได้สาธิตให้เห็นข้อเท็จจริงนี้อย่างเป็นรูปธรรมแล้วด้วยซ้ำ จากการปฏิบัติการของพวกเขาในเมืองฟอลลูจาห์และเมืองรามาดี— แต่ก็ไม่ปรากฏสัญญาณเครื่องบ่งชี้ใดๆ เลยว่าพวกหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯรู้ตัวล่วงหน้าว่า ISIS ใกล้ที่จะเปิดการรุกโจมตีครั้งใหญ่เพื่อเข้ายึดเมืองที่ทรงความสำคัญยิ่งขึ้นไปอีก 2 เมืองพร้อมๆ กันเช่นนี้ การ์เตนสไตน์-รอสส์ กล่าว
ภายหลังที่ทราบข่าวการโจมตีเมืองโมซุลและเมืองติกริตในสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว พวกหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯก็ได้สั่งการให้เพิ่มจำนวนภาพถ่ายดาวเทียมคุณภาพสูงซึ่งถ่ายจากอาณาบริเวณดังกล่าว เพื่อช่วยในการค้นหาพวกสถานที่ตั้งกองกำลังภาคพื้นดินของ ISIS เจ้าหน้าที่สหรัฐฯผู้หนึ่งบอก แต่ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าข้อมูลข่าวสารนี้มีการจัดส่งไปให้แก่กองกำลังต่างๆ ของอิรัก เพื่อช่วยพวกเขาในเรื่องการวางแผนโจมตีทางอากาศหรือการปฏิบัติการอย่างอื่นๆ หรือไม่
เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ 2 คนได้กล่าวยอมรับว่า การประเมินค่าต่อกลุ่ม ISIS ของพวกหน่วยข่าวกรองนั้น อยู่ในลักษณะที่กว้างๆ จนเกินไป และขาดการบ่งชี้อย่างเฉพาะเจาะจงชนิดซึ่งจะสามารถช่วยเหลือให้ฝ่ายทหารของอิรักทราบอย่างแท้จริงว่า การโจมตีอาจจะเกิดขึ้นได้เมื่อใดและที่ไหน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่อาวุโสทั้ง 2 ชี้ว่า สิ่งที่คณะรัฐบาลโอบามารู้สึกเป็นห่วงกังวลมากกว่านั้นเสียอีกก็คือ กองกำลังของอิรักมีความเข้มแข็งขนาดไหน และมีเจตจำนงอย่างแท้จริงที่จะทำการสู้รบหรือไม่
“เรื่องนี้ไม่เคยเลย ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ว่า เรานั้นประเมินว่า ISIS มีสมรรถนะความสามารถที่จะเปิดการโจมตีหรือเปล่า แต่สิ่งที่เราขบคิดพิจารณากันอยู่เสมอมาก็คือ ทางอิรักมีสมรรถนะความสามารถที่จะป้องกันประเทศของพวกเขาเองหรือเปล่าต่างหาก” เจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งบอก ทั้งนี้การประเมินค่าในเรื่องนี้ของสหรัฐฯ ดูจะมีความถูกต้องแม่นยำมากกว่าเรื่องของกลุ่ม ISIS เสียอีก มีรายงานว่าพวกเจ้าหน้าที่ในคณะรัฐบาลโอบามาบังเกิดความลังเลรีรอเรื่อยมาที่จะจัดหาจัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ก้าวหน้าทันสมัย –เป็นต้นว่า เครื่องบินขับไล่ไอพ่น และเฮลิคอปเตอร์โจมตี— ให้แก่กองกำลังทหารของอิรัก เนื่องจากพวกเขาไม่เคยแสดงให้เห็นเลยว่ามีความถนัดมีคุณสมบัติอันเหมาะสมที่จะใช้อาวุธยุทโธปกรณ์เหล่านี้ หรือมีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวเพียงพอที่จะเข้าสู้รบทำศึกกับเหล่าศัตรูของพวกเขา เจ้าหน้าที่เหล่านี้เผย นอกจากนั้นคณะรัฐบาลโอบามายังมีความหวั่นเกรงมายาวนานแล้วว่า นายกรัฐมนตรี นูริ อัล-มาลิกี (Nouri al-Maliki) ของอิรัก ซึ่งเป็นชาวมุสลิมชิอะห์ ที่มีความชิงชังอย่างชัดเจนต่อประชากรชาวมุสลิมสุหนี่ของประเทศ จะนำเอาอาวุธยุทโธปกรณ์เหล่านี้ไปเล่นงานประชาชนของเขาเอง
การที่หน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐฯ แสดงออกให้เห็นว่าไร้ความสามารถที่จะทำนายวิกฤตการณ์ครั้งล่าสุดในอิรักเช่นนี้ น่าที่จะเป็นการเติมเชื้อเพลิงให้แก่พวกนักวิพากษ์วิจารณ์คณะรัฐบาลโอบามา ซึ่งได้โจมตีเล่นงานการจัดการกับวิกฤตการณ์ระดับโลกในที่อื่นๆ อยู่แล้ว เป็นต้นว่า ที่ซีเรีย และยูเครน สำหรับในกรณีการบุกเข้ายึดแหลมไครเมียของรัสเซีย ซึ่งพวกสายลับอเมริกันก็เสียท่าไม่ทันระวังตั้งตัวเช่นกันนั้น มีรายงานว่าพวกระบบลักลอบดักฟังทางอิเล็กทรอนิกส์อันสลับซับซ้อนซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Agency หรือ NSA) ของสหรัฐฯ แทบใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลย เพราะกองกำลังของรัสเซียตอบโต้รับมือด้วยการใช้มาตรการจำกัดระยะเวลาที่พวกเขาพูดคุยกันทางโทรศัพท์ รวมทั้งประยุกต์นำเอาเทคนิคของพวกนักรบญิฮัดมาปรับใช้ นั่นคือ การใช้คนส่งจดหมายเป็นตัวกลางในการติดต่อระหว่างหน่วยต่างๆ ของพวกเขา
อย่างไรก็ตาม ความล้มเหลวในการตอบโต้ต้านทานกลุ่ม ISIS ในอิรักนั้น ไม่สามารถที่จะโยนให้เป็นความรับผิดชอบของพวกหน่วยงานข่าวกรองอเมริกันเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น เมื่อตอนที่กองทหารสหรัฐฯยังคงตั้งประจำอยู่ในประเทศแห่งนี้ พวกเขาได้ก่อตั้งระบบข่าวกรองสมรภูมิที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดระบบหนึ่งในประวัติศาสตร์แห่งการทำศึกสงครามของอเมริกาทีเดียว กล่าวคือ NSA จะคอยเฝ้าติดตามการติดต่อทางโทรศัพท์ทุกๆ สาย, การรับส่งอีเมลทุกๆ ฉบับ, ตลอดจนการส่งข้อความทางโทรศัพท์ทุกๆ ครั้งในอิรัก และสามารถที่จะบ่งบอกให้ร่องรอยเบาะแสเกี่ยวกับที่ตั้งที่หลบซ่อนของพวกนักรบญิฮัดและพวกผู้ก่อความไม่สงบ แก่ผู้ควบคุมอากาศยานไร้นักบิน (โดรน) และกองกำลังปฏิบัติการพิเศษหน่วยต่างๆ ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่จับกุมหรือสังหารพวกเหล่านี้ นอกจากนั้นหน่วยคอมมานโดของสหรัฐฯซึ่งปฏิบัติการเคียงข้างกับซีไอเอ ยังได้พัฒนาจัดวางเครือข่ายสายลับมนุษย์เป็นๆ อันกว้างขวางครอบคลุมขึ้นมาด้วย
แต่เมื่อกองทหารสหรัฐฯถอนออกไปจากอิรักในปี 2011 พลังอำนาจด้านข่าวกรองดังกล่าวเหล่านี้ก็หายลับไปพร้อมกับพวกเขาด้วย รัฐบาลอิรักล้มเหลวไม่ได้หาทางจัดทำข้อตกลงซึ่งจะเปิดทางให้สหรัฐฯยังคงรักษาการปรากฏตัวอย่างเป็นรูปธรรมบางส่วนบางประการเอาไว้ในอิรักต่อไป โดยที่การปรากฏตัวที่ว่านี้มีความจำเป็นสำหรับการทำให้เครือข่ายการข่าวกรองยังคงสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างเต็มสูบ มาถึงเวลานี้ สมรรถนะความสามารถทางด้านข่าวกรองดังกล่าวก็เหี่ยวแห้งร่วงโรยไปหมดแล้ว
“สหรัฐฯใช้ความพยายามในการรวบรวมข่าวกรองจากหลายๆ ทางมากมายพร้อมๆ กันไป ดังนั้นจึงมีความลำบากเป็นพิเศษถ้าหากต้องรวบรวมข่าวกรองในสถานที่ซึ่งเราไม่สามารถเข้าไปปรากฏตัวที่นั่นได้” คริสโตเฟอร์ ฮาร์เมอร์ (Christopher Harmer) อดีตนายทหารเรือและนักวิเคราะห์ซึ่งทำงานให้กับสถาบันเพื่อการศึกษาสงคราม (Institute for the Study of War) อธิบายแจกแจง ฮาร์เมอร์บอกว่า ยิ่งอยู่ในสภาพที่ขาดไร้สปายสายลับที่เป็นมนุษย์ตัวเป็นๆ ด้วยแล้ว ก็ทำให้สหรัฐฯตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบเมื่อต้องต่อสู้กับ ISIS จากการที่กลุ่มนี้พึ่งพาอาศัยคนถือจดหมาย อีกทั้งมีความอุสาหะพยายามหลีกเลี่ยงไม่ใช้โทรศัพท์และอีเมล ซึ่งจะทำให้ถูกติดตามร่องรอยได้ “สิ่งที่ ISIS ทำได้อย่างยอดเยี่ยมที่สุด ก็คือสิ่งที่เราทำได้แย่ที่สุดนั่นเอง เพราะเรานั้นไม่ได้มีเครือข่ายข่าวกรองมนุษย์ตัวเป็นๆ ที่ใช้งานได้ดี” ในอิรักเอาเสียเลย ฮาร์เมอร์ รำพึงรำพัน
ถ้าหากสหรัฐฯจะตั้งความหวังใดๆ ว่าจะสามารถบังเกิดความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับอิรักโดยอาศัยการข่าวกรองขึ้นมาบ้างแล้ว ก็น่าจะต้องมองไปที่เขตปกครองตนเองของชาวเคิร์ด ในทางตอนเหนือของประเทศนี้ “พวกเคิร์ดเคยถึงกับขอร้องอ้อนวอนสหรัฐฯให้รักษาฐานทัพเอาไว้สักแห่งหนึ่งในเขต (ปกครองตนเอง) เคอร์ดิสถาน (Kurdistan)” ในช่วงก่อนที่อเมริกาจะถอนทหารออกไปหมด เดวิด ทาฟูรี (David Tafuri) บอก เขาเคยปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประสานงานด้านหลักนิติธรรมสำหรับอิรัก (Rule of Law Coordinator for Iraq) ในกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯช่วงปี 2006 จนถึง 2007 และปัจจุบันเป็นหุ้นส่วนรายหนึ่งของสำนักกฎหมาย สไควร์ แพตตัน บ็อกส์ (Squire Patton Boggs) “ในตอนนั้นพวกเขายอมให้สหรัฐฯได้ทุกอย่างเพื่อให้สหรัฐฯไปตั้งฐานทัพสักแห่งหนึ่งขึ้นที่นั่น ถ้าตอนนั้นเราคว้าเอาไว้จริงๆ เราก็คงจะอยู่ในฐานะที่ดีกว่าในตอนนี้เยอะ ในการเฝ้าติดตามสถานการณ์ซึ่งกำลังเกิดขึ้นเวลานี้” ทาฟูรี กล่าว
พวกเจ้าหน้าที่อิรักในตอนนี้ ก็มีความกระตือรือร้นปรารถนาที่จะได้ใช้เครื่องมืออุปกรณ์ทางการทหารและทางด้านข่าวกรองของสหรัฐฯ เพื่อช่วยเหลือการต่อสู้ปราบปรามพวกนักรบญิฮัดของพวกเขา เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทาง “ฟอเรนจ์ โพลิซี” (Foreign Policy) [2] เคยรายงานเอาไว้ว่า รัฐบาลอิรักกำลังใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อให้ได้รับอากาศยานไร้นักบินประเภทติดอาวุธ จากทางสหรัฐฯ จะได้นำไปใช้สู้รับกับกลุ่มติดอาวุธอัลกออิดะห์ในจังหวัดอันบาร์ซึ่งกำลังทวีการใช้ความรุนแรงมากขึ้นทุกที โดยเป็นที่เชื่อกันด้วยว่าพวกนักรบญิฮัดซึ่งปฏิบัติการอยู่ที่นั่นเป็นพวกที่มาจากซีเรียและแผ่ขยายเข้าไปในอิรัก ไม่เพียงเท่านั้น พวกเจ้าหน้าที่อิรักยังแสดงท่าทีพลิกผันเป็นตรงกันข้ามจากในอดีต โดยระบุว่าเวลานี้พวกเขายินดีต้อนรับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการโดรนทางทหารของสหรัฐฯ ให้กลับเข้ามายังอิรักเพื่อดำเนินการพุ่งเป้าเล่นงานพวกติดอาวุธหัวรุนแรงสุดโต่งเหล่านี้ในนามของทางอิรัก ทั้งนี้ตามคำบอกเล่าของผู้คนซึ่งมีความรู้ในเรื่องนี้เป็นอันดี อย่างไรก็ตาม จวบจนถึงเวลานี้ สหรัฐฯยังเพียงแค่ตกลงเห็นชอบที่จะมอบโดรนแบบ “สแกนอีเกิล” (ScanEagle) ลำเล็กๆ จำนวน 10 ลำให้อิรักเท่านั้น อากาศยานไร้นักบินแบบนี้จะปล่อยขึ้นฟ้าด้วยการใช้เครื่องเหวี่ยง (catapult) และไม่มีการติดตั้งอาวุธใดๆ ตามคำแถลงของทำเนียบขาวในวันพฤหัสบดี (12 มิ.ย.) โดรนเหล่านี้ควรที่จะส่งมอบได้ประมาณช่วงปลายฤดูร้อนปีนี้
ทางด้านอิหร่าน ซึ่งถือเป็นศัตรูที่สร้างความโกรธแค้นให้สหรัฐฯได้ง่ายที่สุดในทั่วทั้งภูมิภาคตะวันออกกลาง กำลังมีความเคลื่อนไหวที่รวดเร็วกว่าสหรัฐฯมาก ตามรายงานของสื่อมวลชนหลายกระแส หน่วยขนาดกำลังพล 150 คนหน่วยหนึ่งของกองกำลังคูดส์ (Quds Force) ซึ่งเป็นหน่วยชั้นนำของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติ (Revolutionary Guard) ของอิหร่าน ได้ถูกจัดส่งเข้าไปยังอิรักแล้ว เพื่อสนับสนุนรัฐบาลมาลิกี และต่อสู้ทำศึกกับ ISIS มีรายงานอื่นๆ หลายกระแสที่บ่งชี้ถึงขนาดที่ว่า กองกำลังผสมอิหร่าน-อิรัก สามารถบุกเข้าชิงเมืองติกริตกลับคืนมาทั้งหมดหรือเป็นส่วนใหญ่แล้วด้วยซ้ำ
“เราได้เห็นรายงานเช่นนี้ แต่เราไม่สามารถยืนยันว่าสิ่งที่รายงานเหล่านี้ระบุนั้นเป็นความจริง” เจย์ คาร์นีย์ (Jay Carney) เลขานุการฝ่ายหนังสือพิมพ์ของทำเนียบขาวแถลงในวันพฤหัสบดี (12 มิ.ย.) ครั้นเมื่อถูกผู้สื่อข่าวผู้หนึ่งจี้ถามว่า คณะรัฐบาลโอบามาจะเตือนอิรักให้ระวังตัวอย่าได้แสวงหาความช่วยเหลือจากอิหร่านผู้เป็นเพื่อนบ้านหรือไม่ คาร์นีย์ก็ตอบว่า “ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นปัญหาที่รัฐบาลอิรักจะต้องเป็นผู้ตอบ สำหรับความเห็นของเรานั้นมองว่า อิรักควรที่จะดำเนินการตัดสินใจภายหลังจากการไตร่ตรองอย่างรอบคอบแล้ว ในเรื่องที่ว่าพวกเขาจะรับมือกับภัยคุกคาม [จากกลุ่ม ISIS] กันอย่างไร โดยคำนึงถึงผลประโยชน์แห่งความสามัคคีเป็นเอกภาพภายในชาติ”
*หมายเหตุผู้แปล*
[1] “รัฐอิสลามในอิรักและอัล-ชาม (Islamic State in Iraq and al-Sham ใช้อักษรย่อว่า ISIS) เนื่องจากดินแดน “อัล-ชาม” ในภาษาอาหรับ ตรงกับดินแดน “เลแวนต์” (Levant) ในภาษาอังกฤษ จึงมีการแปลชื่อของกลุ่มนี้เป็นภาษาอังกฤษว่า Islamic State in Iraq and Levant (รัฐอิสลามในอิรักและเลแวนต์) ใช้อักษาย่อว่า ISIL อีกด้วย
ISIS หรือ ISIL เป็นรัฐซึ่งอ้างเอาเองโดยยังมิได้รับการรับรอง แท้ที่จริงแล้วคือกลุ่มนักรบญิฮัดหัวรุนแรงติดอาวุธที่เคลื่อนไหวอยู่ในอิรักและซีเรีย โดยที่ได้รับอิทธิพลความคิดจากขบวนการวาฮาบี (Wahhabi Movement) ในการอ้างฐานะตนเองเป็นรัฐเอกราชแม้ยังไม่ได้รับการรับรองนี้ ISIS แสดงความมุ่งหมายที่จะครอบครองดินแดนของอิรักและซีเรีย รวมทั้งแสดงท่าทีที่จะอ้างสิทธิเข้าครอบครองดินแดนอื่นๆ ที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของ “อัล-ชาม” หรือ “เลแวนต์” เช่นกันในอนาคตข้างหน้า ดินแดนส่วนอื่นๆ ที่ว่านี้ ได้แก่ เลบานอน, อิสราเอล, จอร์แดน, ไซปรัส, และภาคใต้ของตุรกี
กลุ่มนี้ก่อตั้งขึ้นในช่วงปีแรกๆ ของสงครามอิรัก และได้ประกาศแสดงความจงรักภักดีต่ออัลกออิดะห์ในปี 2004 ทั้งนี้ ISIS ประกอบด้วยกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบหลายๆ กลุ่ม รวมถึงองค์การที่เคยมีอยู่แล้วก่อนหน้าจะกลายเป็นกลุ่มนี้ด้วย ดังเช่น สภาชูเราะห์ของนักรบมุญะฮีดีน (Mujahideen Shura Council), กลุ่มอัลกออิดะห์ในอิรัก (al-Qaeda in Iraq) ฯลฯ ตลอดจนกลุ่มชนอื่นๆ ที่ประชากรนับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่ จุดมุ่งหมายของกลุ่ม ISIS คือการก่อตั้งรัฐอิสลามแบบที่นำโดยผู้นำสูงสุดทางศาสนาและการเมือง (Caliphate) ขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ของอิรักที่มีชาวสุหนี่เป็นชนส่วนข้างมาก แล้วในเวลาต่อมาได้ขยายให้หมายรวมถึงการก่อตั้งรัฐดังกล่าวในพื้นที่ต่างๆ ของซีเรียด้วย
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2014 ภายหลังการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจกันเป็นเวลา 8 เดือน อัลกออิดะห์ได้ประกาศตัดสายสัมพันธ์ทั้งหมดที่มีอยู่กับ ISIS
(ข้อมูลจาก Wikipedia)
[2] ฟอเรนจ์ โพลิซี (Foreign Policy) เป็นสิ่งพิมพ์ด้านข่าวซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1970 โดยเน้นหนักทางด้านกิจการโลก, เหตุการณ์ปัจจุบัน, และนโยบายภายในประเทศและนโยบายระหว่างประเทศ เริ่มแรกทีเดียวนั้นอยู่ในรูปนิตยสาร ผู้ก่อตั้งคือ ซามูเอล ฮันติงตัน (Samuel Huntington) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีแนวความคิดแบบสายเหยี่ยว กับ เพื่อนสนิทของเขา วอร์เรน เดเมียน แมนเชล (Warren Demian Manshel) ผู้มีแนวความคิดแบบสายพิราบ ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะให้มีการตั้งคำถามต่อทัศนะที่ปรากฏอยู่ทั่วไป ตลอดจนตั้งคำถามต่อการตัดสินใจชนิดที่เป็นมติของกลุ่มโดยไม่มีความรับผิดชอบส่วนบุคคล รวมทั้งเป็นปากเสียงให้แก่ทัศนะที่เป็นทางเลือกอื่นๆ ในนโยบายการต่างประเทศอเมริกัน
ในปี 2000 ขณะที่เจ้าของกิจการนี้คือ กองทุนการกุศลคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ (Carnegie Endowment for International Peace) ฟอเรนจ์ โพลิซี ได้เปลี่ยนแปลงจากวารสารเล่มบางรายไตรมาส มาเป็นนิตยสารที่มีเนื้อหาอัดแน่นดังในปัจจุบัน โดยที่ยังคงรักษาทัศนะมุมมองอันเป็นอิสระ ตลอดจนความมุ่งมั่นที่จะสำรวจบรรดาประเด็นปัญหาใหญ่ที่สุดของโลกอย่างถูกต้องแม่นยำต่อไป
ในปี 2008 บริษัทวอชิงตันโพสต์ (Washington Post Company) ซึ่งปัจจุบันคือบริษัท แกรฮ์ม โฮลดิ้ง (Graham Holdings Company) ได้เข้าซื้อ ฟอเรนจ์ โพลิซี และมีการขยายแพลตฟอร์มนอกเหนือจากสิ่งพิมพ์ ด้วยการเปิดเว็บไซต์ ForeignPolicy.com รวมทั้งมีการปรับปรุงเนื้อหาที่นำเสนอให้กว้างขวางขึ้นกว่าเดิมมาก
(ข้อมูลจาก Wikipedia)
เชน แฮร์ริส เป็นนักเขียนอาวุโสในกองบรรณาธิการของฟอเรนจ์ โพลิซี (Foreign Policy) โดยเน้นหนักเขียนเรื่องทางด้านข่าวกรองและความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เขาเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง “The Watchers: The Rise of America's Surveillance State” ซึ่งบันทึกเรื่องราวการก่อตั้งกลไกความมั่นคงแห่งชาติอันกว้างขวางของสหรัฐฯ ตลอดจนการเติบโตขยายตัวของการแอบสอดแนมในอเมริกา หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลหนังสือเฮเลน เบิร์นสไตน์ ของห้องสมุดประชาชนนิวยอร์ก ประเภท ผลงานยอดเยี่ยม ด้านวารสารศาสตร์ (New York Public Library’s Helen Bernstein Book Award for Excellence in Journalism) อีกทั้งนิตยสารอีโคโนมิสต์ (Economist) ยกย่องให้เป็นหนังสือดีที่สุดเล่มหนึ่งประจำปี 2010