เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - สหภาพยุโรป (อียู) ออกโรงเตือนในวันอังคาร (10 มิ.ย.) ต่อฟิลิปปินส์ และปาปัวนิวกินี ให้เร่งปราบปรามการทำ “ประมงผิดกฎหมาย” ให้สิ้นซากภายใน 6 เดือน มิฉะนั้นอาจต้องเผชิญมาตรการลงโทษสุดโหด รวมถึงการห้ามสมาชิกอียูนำเข้าสินค้าจากทั้งสองประเทศ
คำแถลงของคณะกรรมาธิการยุโรปที่กรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียมระบุว่า หากฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นชาติที่มีกองเรือประมงใหญ่เป็น “อันดับที่ 12 ของโลก” รวมถึงปาปัวนิวกินี ยังคงไม่สามารถหาทางแก้ปัญหาการลักลอบทำประมงผิดกฎหมายได้ภายในระยะเวลา 6 เดือนข้างหน้า ทั้งสองประเทศก็จะต้องเผชิญกับมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจจากอียู ซึ่งหนึ่งในมาตรการลงโทษที่อียูเตรียมนำมาบังคับใช้กับฟิลิปปินส์และปาปัวนิวกินีนั้น รวมถึงการห้ามสมาชิกอียูนำเข้าสินค้าประเภท “อาหารทะเล” จากประเทศทั้งสองอย่างไม่มีกำหนด
ท่าทีล่าสุดของสหภาพยุโรปมีขึ้น หลังมีการเผยแพร่รายงานที่ระบุว่าชาวประมงในฟิลิปปินส์และปาปัวนิวกินีมักลักลอบทำการประมงในเขตสงวนพันธุ์สัตว์ทางทะเล และยังมีการใช้ระเบิด อวนที่ไม่ได้มาตรฐาน ตลอดจนสารเคมีนานาชนิด รวมถึง “ไซยาไนด์” ในการจับปลาอย่างกว้างขวาง เป็นเหตุให้สัตว์ทะเลและปะการังถูกทำลาย
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อียูประกาศห้ามนำเข้าอาหารทะเลจาก 3 ประเทศ คือ เบลิซ กัมพูชา และกินี เพื่อตอบโต้ทั้งสามประเทศที่ยังคงเพิกเฉยต่อการทำประมงที่ผิดกฎหมาย
ทั้งนี้ สหภาพยุโรปถือเป็นกลุ่มประเทศที่มีการนำเข้าอาหารทะเลรายใหญ่เป็นลำดับต้นๆ ของโลก โดยมีข้อมูลว่าอาหารทะเลที่จำหน่ายในอียูกว่าร้อยละ 65 นั้นมาจากการนำเข้าจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย
ขณะที่ในส่วนของอาหารทะเลที่อียูนำเข้าจากฟิลิปปินส์และปาปัวนิวกินีในปี 2013 นั้น มีมูลค่าสูงถึง 165 ล้านยูโร (ราว 7,250 ล้านบาท) และ 108 ล้านยูโร (ราว 4,746 ล้านบาท) ตามลำดับ