เอเอฟพี/เอเจนซีส์ – อินเดียกับจีน 2 ชาติเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งขันกัน ทำท่าจะสามารถ “เริ่มต้นอย่างมีผลดี” ในการปรับปรุงสายสัมพันธ์อันเย็นชาระหว่างกัน เมื่อรัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ของแดนมังกร เปิดการเจรจากับรัฐมนตรีต่างประเทศ สุชมา สวารัช ของแดนภารตะในวันอาทิตย์ (8 มิ.ย.) ระหว่างการเยือนอินเดียเป็นเวลา 2 วันของเขา ซึ่งถือเป็นการเปิดการเจรจาระดับสูงครั้งแรกระหว่าง 2 ประเทศซึ่งมีประชากรหนาแน่นที่สุดในโลก ตั้งแต่ที่นักการเมืองชาตินิยมฮินดู นเรนทรา โมดี ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแดนภารตะ
รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน เดินทางถึงกรุงนิวเดลีเมื่อเช้าวันอาทิตย์ (8) ในฐานะผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เพื่อริเริ่มการติดต่อกับรัฐบาลใหม่ของอินเดีย โดยประเดิมด้วยการหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศหญิงของอินเดียในช่วงบ่าย ก่อนเข้าพบโมดี และประธานาธิบดีประณับ มุกเคอร์จี ในวันจันทร์ (9) และเดินทางกลับเช้าวันรุ่งขึ้น
ไซเอด อัคบารุดดีน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย แถลงภายหลังการเจรจาระหว่าง หวัง กับ สวารัช ว่า การหารือทั้งในประเด็นทางเศรษฐกิจและประเด็นอื่นๆ “มีผลดีและเป็นเนื้อเป็นหนัง”
“ทุกๆ ประเด็นที่สำคัญต่างถูกหยิบยกขึ้นมาหารือกันอย่างตรงไปตรงมาและฉันมิตร” โฆษกผู้นี้แถลงกับผู้สื่อข่าว
“ในทัศนะของฝ่ายเรานั้น นี่เป็นการเริ่มต้นอย่างมีผลดี ระหว่างรัฐบาลชุดใหม่ของอินเดียกับรัฐบาลจีน” เขากล่าวต่อ โดยไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม
การเจรจาหารือกันคราวนี้ มุ่งเน้นหนักไปที่สายสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกัน แต่ก็แตะประเด็นข้อพิพาทเรื่องพรมแดนของสองประเทศ ซึ่งเคยปะทุกลายเป็นการทำสงครามกันและมีผลทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียทั้ง 2 รายนี้อยู่ในอาการเย็นชามาหลายสิบปี
ในวันพรุ่งนี้ (9) หวังมีกำหนดที่จะเข้าพบนายกรัฐมนตรีโมดี ผู้ซึ่งแสดงท่าทีต้องการผูกมิตรไมตรีกับชาติเพื่อนบ้านที่เป็นปรปักษ์กันมายาวนานอย่างจีนและปากีสถาน นับตั้งแต่พรรคภราติยะ ชนะตะของเขาคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อเดือนที่แล้ว ทั้งๆ ที่ตัวเขามีชื่อเสียงมายาวนานในเรื่องความเป็นนักชาตินิยมแข็งกร้าว
ทั้งนี้ โมดี ได้เชื้อเชิญ นายกรัฐมนตรี นาวาซ ชาริฟ ของปากีสถาน ให้เข้าร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของเขา อีกทั้งส่งคำเชิญ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ให้มาเยือนอินเดียในปีนี้ และ หวัง ก็ได้กล่าวกับสื่อมวลชนของแดนภารตะว่า สี ตกลงรับคำเชิญแล้ว
หวัง กล่าวในระหว่างการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ “ฮินดู” ของอินเดียว่า เขาเดินทางเยือนแดนภารตะคราวนี้ ในฐานะเป็นผู้แทนพิเศษของ สี เพื่อ “กระชับเสริมสร้างมิตรภาพของพวกเราที่ดำรงอยู่ในเวลานี้แล้ว และหาหนทางเพิ่มพูนความร่วมมือกันให้มากยิ่งขึ้น”
“จีนพร้อมแล้วที่จะทำงานร่วมกับเพื่อนมิตรชาวอินเดียของเรา เพื่อให้อนาคตแห่งการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์และการร่วมมือกันของพวกเรายิ่งสดใสยิ่งขึ้นไปอีก” หวังระบุในบทสัมภาษณ์ซึ่งนำออกมาตีพิมพ์เผยแพร่ในวันอาทิตย์(8)
พวกนักวิเคราะห์มองว่า ผลการเลือกตั้งที่พรรคของโมดีชนะแบบถล่มทลาย ทำให้เขามีฐานะอันเข้มแข็งที่จะเดินนโยบายการต่างประเทศชนิดมุ่งหวังผลระยะยาวอย่างจริงจัง
อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับความสัมพันธ์กับจีนนั้น โมดีจะต้องเผชิญกับงานหนักและลำบาก ในการต้องรับมือกับจีนซึ่งกำลังมีท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้นอีกทั้งมีแสนยานุภาพทางทหารเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ในเวลาเดียวกันนั้น ก็ต้องพยายามหาทางกระชับเพิ่มพูนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แดนภารตะมีอยู่กับแดนมังกร
รันจิต คุปตะ สมาชิกสภาที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของสถาบันอเมริกา-อินเดีย ซึ่งเป็นกลุ่มคลังสมองในวอชิงตัน มองในแง่ดีว่า การเยือนของหวังเป็นนิมิตหมายอันดี
“อินเดียและจีนต่างเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ของโลก และหากมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน อินเดียจะสามารถฟื้นการเติบโตและทวงคืนตำแหน่งในเอเชียสำเร็จ”
ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่สุดของอินเดีย โดยมีมูลค่าการค้าสองทางเกือบ 70,000 ล้านดอลลาร์ ทว่า อินเดียขาดดุลการค้าจีนกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์ จากเพียง 1,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2001-2002
ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า โมดีต้องการลดยอดขาดดุลดังกล่าวด้วยการหาทางเข้าถึงตลาดจีนมากขึ้น โดยมีการคาดว่า มูลค่าการค้าของสองประเทศจะเพิ่มเป็นปีละ 100,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2015
อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์เข้มแข็งทางการค้าถูกบ่อนทำลายด้วยความไม่ไว้วางใจกันและกัน ซึ่งตกทอดมาตั้งแต่สงครามนองเลือดปี 1962 ที่รัฐอรุณาจัลประเทศของอินเดีย ซึ่งปักกิ่งอ้างสิทธิ์เช่นเดียวกัน
ระหว่างหาเสียงเมื่อต้นปี โมดีเตือนจีนให้ยุติความคิดในการขยายดินแดน และถูกปักกิ่งสวนกลับว่า จีนไม่เคยทำสงครามอย่างก้าวร้าวเพื่อครอบครองดินแดนของประเทศอื่น
คาดหมายกันว่า ระหว่างการเยือนของหวัง ประเทศทั้ง 2 ที่ต่างมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองและมีประชากรในระดับ 1,000 ล้านคน จะมุ่งเน้นประเด็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาตามแนวชายแดน หลังเกิดกรณีพิพาทด้านดินแดนกันเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว
ครั้งนั้น นิวเดลีกล่าวหาว่ากองทหารของฝ่ายปักกิ่งบุกรุกเข้าสู่ดินแดนของตนเกือบ 20 กิโลเมตร นำไปสู่การเผชิญหน้านาน 3 สัปดาห์ที่ยุติลงหลังจากทั้งสองฝ่ายถอนกำลังกลับ
ในอีกด้านหนึ่ง ประเทศทั้งสองยังมีปัญหาหมางเมินกัน สืบเนื่องจากอินเดียต้อนรับผู้อพยพชาวทิเบตจำนวนมากที่หลบหนีลี้ภัยออกมาภายหลังคอมมิวนิสต์จีนเข้าปกครองทิเบตตั้งแต่ปี 1951 รวมทั้งให้ที่พำนักแก่ทะไลลามะ ผู้นำด้านจิตวิญญาณของทิเบต ตลอดจนอนุญาตให้จัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นของทิเบต
ล็อปซัง ซันเกย์ ผู้นำรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตในอินเดีย แสดงความหวังในสัปดาห์ที่แล้วว่า รัฐบาลของโมดีจะหยิบยกประเด็นทิเบตขึ้นหารือระหว่างการเยือนของหวัง เนื่องจากเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของทุกฝ่าย เพราะทิเบตเป็นรัฐกันชนระหว่างจีนกับอินเดีย
รัฐบาลพลัดถิ่นของทิเบตยังผลักดันข้อเรียกร้องต่อปักกิ่ง เพื่อเพิ่มอำนาจปกครองตนเองแก่ทิเบต ทว่า ได้รับการปฏิเสธโดยสิ้นเชิง โดยจีนเรียกซันเกย์ว่า เป็นนักแบ่งแยกดินแดนตัวจริง