xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสเปนจำนวนมากร่วมประท้วง “ไม่เอาระบบกษัตริย์” ติดต่อกันวันที่ 5

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - ชาวสเปนจำนวนมากร่วมประท้วงของกลุ่มสาธารณรัฐประกาศ “ไม่ต้องการระบบกษัตริย์” ในกรุงมาดริด สเปน เมื่อวานนี้(7) เพื่อกดดันรัฐบาลสเปนให้มีการจัดประชามติ และมีการฎิรูปกฎหมายรัฐธรรมนูญสเปนเพื่อให้ยกเลิกระบบกษัตร์ย์ หลังจากสมเด็จพระราชาธิบดี ฮวน คาร์ลอส ทรงประกาศสละราชสมบัติ

ในวันเสาร์ (7) พรรคการเมืองสเปนเอียงซ้ายหลายสิบพรรค รวมไปถึงกลุ่มจัดการประท้วงต่างๆ รวมตัวเพื่อสนับสนุนการประกาศให้สเปนเป็นสาธารณรัฐโดยเรียกร้องการจัดประชามติเพื่อตัดสินอนาคตราชวงศ์สเปน “ในวันพรุ่งนี้สเปนจะเปลี่ยนเป็น “สาธารณรัฐ” กลุ่มผู้ประท้วงตะโกนพร้อมทั้งโบกธงสีแดง ม่วง และทองของสาธาณรัฐที่ 2 ของสเปนในปี 1931 ที่อีก 8 ปีหลังจากนั้นถูกโค่นลงโดยพลเอกฟรานซิสโก ฟรานโก (Francisco Franko) ในการสิ้นสุดสงครามกลางเมืองสเปน

การประท้วงลามทั่วสเปนร้องขอสาธารณรัฐเกิดขึ้นไม่กี่ชั่วโมงหลังจากสมเด็จพระราชาธิบดี ฮวน คาร์ลอส ใน 76 พรรษาได้ทรงประกาศอย่างฉับพลันสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน และเจ้าฟ้าชายเฟลิเป มกุฎราชกุมาร ว่าที่กษัตริย์องค์ใหม่ของสเปน 46 พรรษาที่มีกำหนดขึ้นครองราชสมบัติในวันที่ 19 มิถุนายนนี้ ในวาระร่วมของรัฐสภาสเปนที่ทั้งพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านต่างสนับสนุนการมีระบบกษัตริย์ในสเปน

แต่ด้วยข่าวฉาวของราชวงศ์สเปนใน 3 ปีล่าสุดทำให้ความนิยมในระบบกษัตริย์ตกอย่างรวดเร็ว ที่ได้รับผลกระทบจากการขาดความเชื่อมั่นอย่างมากต่อกลไกของประเทศในการจัดการกับวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ

ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นที่เห็นได้ชัดจากผลการเลือกตั้งของรัฐสภายุโรปในวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่เห็นการสนับสนุนที่ลดลงอย่างน่าใจหายของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ โดยในส่วนปีกพรรคการเมืองเอียงซ้ายที่เกิดใหม่คือพรรคโปเดโมส์ (Podemos) ถือกำเนิดจากการประท้วงปี 2011 “เราต้องการให้ประชาชนมีโอกาสแสดงความรู้สึก ทำไมจึงมีปัญหาในการจัดให้มีการลงประชามติ ทำไมจึงมีปัญหาที่ต้องการให้ชาวสเปนมีโอกาสเลือกอนาคตของตนเอง พาโบล อิเกลเซียส (Pablo Iglesias) หนึ่งในแกนนำพรรคกล่าว

“หากพรรคประชาชน และพรรคโซเชียลลิสต์ คิดว่าเจ้าฟ้าชายเฟลิเปทรงสามารถเป็นศูนย์รวมของประชาชนสเปนได้ ควรจะให้มีการจัดลงประชามติเพื่อตัดสิน” อิเกลเซียสกล่าวต่อ ทั้งนี้ กระบวนการสาธารณรัฐสามารถชนะใจคนรุ่นใหม่สเปนที่ยังเกิดไม่ทันในช่วงเวลาที่กษัตริย์ฮวน คาลอส ทรงขึ้นครองราชย์ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 1975 เป็นเวลา 2 วันหลังจากนายพลฟรานโกเสียชีวิต และสมเด็จพระราชาธิบดี ฮวน คาร์ลอส ในขณะนั้นที่ยังมีพระชนมายุน้อยได้เห็นถึงช่วงเปลี่ยนผ่านของสเปนไปสู่ระบบประชาธิปไตย และพระองค์สามารถเอาชนะใจสเปนอย่างล้นหลาม และเป็นที่ต้อนรับจากพสกนิกรและนำประเทศมาสู่สเปนก้าวสู่ยุคใหม่ในที่สุด โดยในตอนหนึ่งของพระราชดำรัสการประกาศสละราชสมบัติพ พระองค์หวังว่าการตัดสินพระทัยของพระองค์จะช่วยนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่ราชวงศ์สเปน

ทั้งนี้ อัลญะซีเราะห์รายงานเมื่อวานนี้ (7) ว่า การเกิดขบวนการสาธารณรัฐเป็นผลมาจากความล้มเหลวของรัฐบาลสเปนในจัดการปัญหาต่างๆ รวมไปถึงปัญหายุ่งเหยิงทางการเมือง การคอรัปชัน อัตราว่างงานสูง และมองว่าราชวงศ์สเปนเป็นหมือนส่วนหนึ่งของปัญหาหลักประเทศ “เราไม่ต้องการให้พวกเขามองเราเป็นเหมือนทารกที่เราไม่สามารถตัดสินใจในสิ่งที่ต้องการได้ด้วยตนเอง เราไม่ต้องการกษัตริย์ เราต้องการที่จะเลือก” เมอร์ซีเดส ทรูยิลโล (Mercedes Trujillo) นักรณรงค์ขบวนการสาธารณรัฐให้สัมภาษณ์กับอัลญาซีเราะห์

นอกจากปัญหาอื้อฉาวการคอร์รัปชันในปี 2011 ที่ทำให้ความนิยมในราชวงศ์สเปนต้องตกต่ำในช่วงจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจสเปน และปีถัดมาการเสด็จประพาสล่าช้างอย่างหรูหราในบอตสวานาของสมเด็จพระราชาธิบดีฮวน คาร์ลอส ท่ามกลางความยากแค้นของพสกนิกรของพระองค์ทำให้ประชาชนสเปนต่างโกรธแค้น “ในช่วงปีมรสุมทางเศรษฐกิจกระหน่ำประเทศของเรา ได้เป็นแรงกระตุ้นให้เราต้องการปฏิรูป แก้ปัญหาในส่วนที่บกพร่อง และเปิดทางให้คนรุ่นใหม่ที่ถือเป็นทางเลือกที่ดีกว่า” กษัตริย์ฮวน คาลอส ทรงตรัสผ่านโทรทัศน์ถ่ายทอดทั่วประเทศ และพระองค์ทรงตรัสเสริมว่า “ในขณะนี้คนรุ่นใหม่สมควรที่จะก้าวสู่แถวหน้าด้วยพลังกระตือรือร้น”

โดยเอเอฟพีรายงานว่า ถึงเจ้าฟ้าชายเฟลิเป มกุฎราชกุมารจะทรงไม่โดนกระแสวิจารณ์อย่างหนักหน่วงดังเช่นสมเด็จพระราชาธิบดี ฮวน คาร์ลอส ที่ได้ทรงประสบ แต่ทว่าพระองค์ต้องเผชิญหน้ากับภาระที่ต้องทรงสร้างความนิยม

กำลังโหลดความคิดเห็น