xs
xsm
sm
md
lg

ครม.สเปนถกร่างกม.สืบราชสมบัติ กลุ่มต้านกษัตริย์กดดันทำประชามติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเจนซีส์ - คณะรัฐมนตรีสเปนนัดประชุมพิเศษในวันอังคาร (3 มิ.ย.) เพื่อเริ่มกระบวนการที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศนี้ โดยอาจใช้เวลานานหลายสัปดาห์ เพื่อปูทางให้มกุฎราชกุมาร เจ้าชายเฟลิเป เสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อจากกษัตริย์ฆวน การ์โลส พระราชบิดาที่ทรงประกาศสละราชสมบัติเมื่อวันจันทร์ (2) ขณะที่ชาวแดนกระทิงดุซึ่งนิยมสาธารณรัฐจำนวนนับหมื่น รวมตัวเรียกร้องจัดการลงประชามติยกเลิกระบอบกษัตริย์

นายกรัฐมนตรีมาเรียโน ราฮอย เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษในวันอังคาร เพื่อยกร่างกฎหมายการสละราชสมบัติ เนื่องจากรัฐธรรมนูญสเปนยังไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยการสละราชบัลลังก์และการสืบสันตติวงศ์

ขั้นตอนต่อไปคือ ครม. ส่งร่างกฎหมายนี้ให้รัฐสภาอนุมัติ ซึ่งสื่อสเปนคาดว่า ต้องใช้เวลาราว 4 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะถือเป็นการปิดฉากรัชสมัย 39 ปีของกษัตริย์ฆวน การ์โลส ที่ปัจจุบันทรงมีพระชนมายุ 76 พรรษา และกำลังทรงเผชิญเรื่องอื้อฉาวที่ทำให้ประชาชนเสื่อมความนิยม

ขณะเดียวกัน กฎหมายดังกล่าวจะเป็นการปูทางให้มกุฎราชกุมาร เจ้าชายเฟลิปเป พระชนมายุ 46 พรรษา ซึ่งในอดีตทรงเคยเป็นนักแข่งเรือยอชต์ในกีฬาโอลิมปิก ขึ้นครองราชย์ โดยที่มีพระชายา คือ เลติเซีย อดีตผู้ประกาศข่าวทีวี ขึ้นเป็นพระราชินี

ระหว่างที่ทรงมีพระราชดำรัสต่อประชาชนถ่ายทอดทางโทรทัศน์ทั่วประเทศเมื่อวันจันทร์ กษัตริย์ฆวน การ์โลส ตรัสว่า ช่วงเวลาหลายๆ ปีแห่งวิกฤตทางเศรษฐกิจที่ประเทศเผชิญอยู่ “ทำให้พวกเราได้ตื่นตัวเกิดความตระหนักถึงความปรารถนาที่จะชุบชีวิตใหม่ ที่จะเอาชนะแก้ไขความผิดพลาดต่างๆ และที่จะเปิดหนทางไปสู่อนาคตที่เห็นแล้วว่าดีขึ้นกว่าเดิม”

“วันนี้ คนรุ่นหนุ่มสาวกว่า สมควรที่จะได้ก้าวเข้ามายืนอยู่ตรงแถวหน้า ด้วยพลังงานอย่างใหม่ๆ” กษัตริย์ฆวน การ์โลส ตรัส “ด้วยเหตุผลต่างๆ ทั้งหลายเหล่านี้ … ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจที่จะยุติรัชสมัยของข้าพเจ้า และสละราชบัลลังก์ให้แก่มกุฏราชกุมารแห่งสเปน”

กษัตรย์ฆวน การ์โลส ทรงได้รับการยกย่องกว้างขวางในการเปลี่ยนผ่านสเปนจากยุคเผด็จการภายหลังอสัญกรรมในปี 1975 ของจอมพลฟราสซิสโก ฟรังโกที่ครองอำนาจนานถึง 4 ทศวรรษ มาสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างราบรื่น อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการสลายความพยายามในการก่อรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1981 ของนายทหารกลุ่มหนึ่ง
พวกผู้สนับสนุนให้สเปนเป็นสาธารณรัฐ พากันออกมาชุมนุมในกรุงมาดริด (ดังที่เห็นในภาพนี้) และตามเมืองใหญ่ๆ ของประเทศ เพื่อแสดงการคัดค้านระบอบกษัตริย์ เมื่อเย็นวันอังคาร (2) ภายหลังที่กษัตริย์ฆวน การ์โลส ทรงมีพระราชดำรัสสละราชสมบัติ ให้แก่มกุฎราชกุมาร เจ้าชายเฟลิเป ทางด้านนายกรัฐมนตรีมาเรียโน ราฮอย แถลงตอบโต้ว่า ชาวสเปนส่วนข้างมากท่วมท้นยังต้องการสถาบันนี้
ทว่า ความนิยมชมชอบในตัวกษัตริย์พระองค์นี้และพระราชวงศ์โดยรวมได้เสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็ว จากกรณีอื้อฉาวที่พระองค์เสด็จล่าช้างที่บอสวานาในทริปสุดหรูเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ระหว่างที่ชาวสเปนในวัยทำงานจำนวนราว 1 ใน 4 ต้องตกงาน ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจถดถอยอย่างร้ายแรง

โดยที่ก่อนหน้านั้น เจ้าหญิงคริสตินา พระธิดาองค์เล็กของกษัตริย์ฆวน การ์โลส พร้อมพระสวามี อินากิ เออร์ดันการิน ยังถูกกล่าวหายักยอกเงินของกองทุนสาธารณะ 6 ล้านยูโร ผ่านมูลนิธิของเออร์ดันการิน

แหล่งข่าวในราชสำนักระบุว่า กษัตริย์ฆวน การ์โลส ทรงถูกปัจจัยการเมืองรุมเร้า และตัดสินพระทัยสละราชย์ตั้งแต่เดือนมกราคม แต่ชะลอการประกาศกระทั่งการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปเสร็จสิ้นลงเมื่อวันที่ 25 เดือนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ผลสำรวจความคิดเห็นที่จัดทำโดยสำนักจัดทำโพลล์ ซิกมา ดอส และเผยแพร่ในเดือนมกราคมปีนี้พบว่า เสียงสนับสนุนกษัตริย์ฆวน การ์โลส ลดลงเหลือ 41% ขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจถึง 62% ต้องการให้พระองค์สละราชสมบัติให้เจ้าชายเฟลิเป และโดยรวมแล้วมีเพียง 49% ที่ยังสนับสนุนสถาบันกษัตริย์

นอกจากนั้น พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายขนาดเล็ก 3 พรรค ได้แก่ โพเดมอส, ยูไนเต็ด เล็ฟต์ และอีโค ที่ได้คะแนนรวมกัน 20% ในการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปเมื่อปลายเดือนที่แล้ว ก็เรียกร้องให้มีการทำประชามติว่า สเปนยังต้องการระบอบกษัตริย์อยู่หรือไม่

ภายหลังจากมีพระราชดำรัสสละราชสมบัติแล้ว ในคืนวันจันทร์ กลุ่มสนับสนุนระบบสาธารณรัฐนับหมื่นได้ชุมนุมกันทั้งที่กรุงมาดริดและเมืองใหญ่อื่นๆ ทั่วประเทศ เพื่อเรียกร้องให้จัดประชามติเพื่อยกเลิกระบอบกษัตริย์

อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีราฮอยได้ออกมาแถลงในวันอังคารว่า “ผมคิดว่าระบอบกษัตริย์ยังคงได้รับความสนับสนุนจากประชาชนเสียงข้างมากอย่างมหาศาลในสเปน”

เขาบอกด้วยว่า ถ้าหากต้องการจัดลงประชามติเพื่อยกเลิกระบอบกษัตริย์ ก็จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ “เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาสิ ถ้าคุณไม่ชอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คุณมีสิทธิอย่างเต็มที่ที่จะทำเช่นนั้น แต่สิ่งที่คุณทำไม่ได้ก็คือการก้าวข้ามไม่เคารพกฎหมาย” ราฮอยกล่าว

นายกรัฐมนตรีสเปนชี้ด้วยว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 1978 ของสเปน ซึ่งรับรองให้ประเทศมีระบอบกษัตริย์อีกครั้งนั้น ได้ผ่านการลงประชามติโดยได้รับการสนับสนุนจากประชาชนส่วนข้างมากอย่างท่วมท้น
กำลังโหลดความคิดเห็น