เอเอฟพี - เกิดเหตุชาวซิกข์ไล่ฟันกันที่ “วิหารทองคำ” ทางภาคเหนือของอินเดียวันนี้ (6 มิ.ย.) ขณะที่กำลังมีการจัดพิธีรำลึกครบรอบ 30 ปีเหตุการณ์ทหารเข้าปราบปรามกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน
ช่างภาพของเอเอฟพีรายงานว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 2 รายในเหตุรุนแรงซึ่งปะทุขึ้นที่วัดในเมืองอมฤตสาร์ อันเป็นศาสนสถานสำคัญที่สุดของศาสนาซิกข์
ชาวซิกข์หลายร้อยคนได้มารวมตัวกันที่วิหารแห่งนี้ เพื่อแสดงความเคารพผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุทหารอินเดียบุกวิหารทองคำ เข้าปราบปรามกลุ่มแบ่งแยกดินแดนติดอาวุธชาวซิกข์ ที่ต้องการประกาศเอกราชบนแผ่นดินเกิดของพวกเขา เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ปี 1984
โฆษกกลุ่มชาวซิกข์หัวรุนแรงที่เรียกตนเองว่า ชิโรมาณี อกาลี ดัล (อมฤตสาร์) ซึ่งผู้สนับสนุนของกลุ่มผู้มีส่วนร่วมในเหตุปะทะครั้งนี้กล่าวว่า “ที่จริงแล้ว วันนี้เราควรจัดพิธีรำลึกอย่างสงบให้แก่เหล่าผู้พลีชีพในปี 1984 แต่สิ่งที่เกิดขึ้นช่างน่าเศร้าเหลือเกิน”
เปรม สิงห์ จันทุมาจรา โฆษกของกลุ่มกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “วันนี้ วัดนี้ถูกลบหลู่ดูหมิ่นอีกครั้ง”
คลิปวิดีโอที่ถูกนำออกเผยแพร่ทางโทรทัศน์เผยให้เห็นภาพชาวซิกข์ 2 กลุ่มที่โพกผ้าสีน้ำเงิน และสีแสดควักดาบออกมาไล่ฟันกันบนบันไดหินอ่อนของวิหารศักดิ์สิทธิ์ในรัฐปัญจาบ
เหตุปะทะกันคราวนี้ปะทุขึ้นหลังสมาชิกกลุ่มชิโรมาณี อกาลี ดัล ย้ำว่าพวกเขาคือกลุ่มที่ได้รับอนุญาตให้กล่าวผ่านเครื่องขยายเสียงเป็นกลุ่มแรก
เครือข่ายโทรทัศน์เอ็นดีทีวีระบุว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บ 12 คน พร้อมกับระบุเพิ่มเติมว่า สถานการณ์เริ่มคลี่คลายโดยเร็ว เมื่อมีการส่งกำลังรักษาความมั่นคงเข้าตรึงกำลังภายในวิหารเพิ่มเติม
เมื่อ 30 ปีก่อน มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 400 คนจากปฏิบัติการทางทหารครั้งอื้อฉาวที่ใช้ชื่อภารกิจว่า “บลูสตาร์” (ดาวสีน้ำเงิน)
ปฏิบัติการทางทหารครั้งนั้นได้จุดชนวนให้เกิดความโกรธแค้นในหมู่ชาวซิกข์ ซึ่งกล่าวหาว่าทหารดูหมิ่นสักการสถานอันศักดิ์สิทธิที่สุดในศาสนาของพวกเขา
เมื่อเดือนตุลาคม ปี 1984 นายกรัฐมนตรี อินทิรา คานธี ถูกบอดี้การ์ดชาวซิกข์ของเธอเองยิงเสียชีวิตเพื่อเป็นการล้างแค้นที่ปฏิบัติการปราบปรามครั้งนั้น
การลอบสังหารผู้นำหญิงได้จุดประกายให้เกิดจลาจลต่อต้านชาวซิกข์ จนมีผู้เสียชีวิตไปราว 3,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ออกมารวมตัวบนท้องถนน ของกรุงนิวเดลี
วานนี้ (5) เหล่าผู้สนับสนุนกลุ่มหัวรุนแรงหลายกลุ่มได้ร่วม “เดินขบวนรำลึกถึงเหตุสังหารหมู่” ตามถนนสายต่างๆ ในเมืองอมฤตสาร์ พร้อมร้องตะโกนสโลแกนเชิดชู “เหล่าผู้สละชีพ” เมื่อปี 1984
แม้ว่าจะรู้สึกโกรธแค้นต่อเหตุปราบปรามที่วิหารทองคำในอดีต แต่เสียงสนับสนุนให้มีการตั้งรัฐอิสระในชื่อ “คาลิสถาน” หรือดินแดนบริสุทธิ์กลับเลือนรางลงในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา
เหล่านักวิเคราะห์ชี้ว่า ลักษณะสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ของรัฐปัญจาบ ซึ่งมีพรมแดนติดกับปากีสถาน และแคว้นแคชเมียร์ที่เกิดเหตุรุนแรงบ่อยครั้ง ทำให้การแยกตัวเป็นอิสระแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
อย่างไรก็ตาม เสียงสนับสนุนขบวนการประกาศเอกราช ในหมู่ชาวซิกข์ที่อพยพไปอาศัยอยู่ในอังกฤษ แคนาดา และสหรัฐฯ ยังคงเหนียวแน่นไม่เปลี่ยนแปลง
เมื่อปี 2012 กุลดิพ สิงห์ บราร์ ผู้บัญชาปฏิบัติการ บลู สตาร์ ถูกแก๊งชาวซิกข์แทงบาดเจ็บสาหัส โดยกลุ่มผู้เหตุล้างแค้นการปราบปรามในปี 1984 ถูกตัดสินว่ามีความผิด