เอเอฟพี - อัยการกลางของเยอรมนีแถลงวานนี้ (4 มิ.ย.) ว่า ได้เปิดฉากการสืบสวนคดีที่สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (เอ็นเอสเอ) ถูกกล่าวหาว่าดักฟังโทรศัพท์มือถือของ อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมัน จนสร้างความร้าวฉานให้แก่สายสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ
ฮารัลด์ รางเงิน หัวหน้าอัยการกลางกล่าวว่า การสืบสวนซึ่งคาดการณ์กันว่าจะกินเวลายาวนานคราวนี้ เปิดฉากขึ้นหลังมีข้อกล่าวหาที่จุดประกายให้ชาวเยอรมันโกรธแค้นว่า นักสืบอเมริกันซึ่งยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเป็นใคร ได้ลอบดักฟังบทสนทนาทางโทรศัพท์มือถือของแมร์เคิลเมื่อปีที่แล้ว
ภายหลังการกล่าวกับคณะกรรมาธิการ เขาระบุว่า “ผมขอเรียนคณะกรรมาธิการกิจการกฎหมายรัฐสภาว่า บัดนี้ผมได้เริ่มสืบสวนคดีดักฟังโทรศัพท์มือถือของนายกรัฐมนตรีในขั้นต้นแล้ว”
อย่างไรก็ตาม รางเงินระบุเพิ่มเติมว่า ตนตัดสินใจไม่ดำเนินการสืบสวนข้อกล่าวหาที่กว้างขวางกว่า อย่างกรณีที่เอ็นเอสเอลอบสอดแนมพลเมืองชาวเยอรมัน ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ฝ่ายค้าน และสมาชิกสภาสังกัดพรรค “โซเชียล เดโมแครต” รุมประณาม
ความเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดนี้อาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างวอชิงตันกับ ชาติพันธมิตรสำคัญอย่างเยอรมนีต้องสั่นคลอนอีกครั้ง ในช่วงที่ผู้นำของทั้งสองชาติกำลังประสบปัญหาหนักในการกอบกู้สายสัมพันธ์ หลังมีรายงานเปิดโปงพฤติกรรมฉาวโฉ่ของสหรัฐฯ ออกมา
ข้อกล่าวหานี้สร้างความอับอายให้แก่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ และกระตุ้นให้แมร์เคิลออกมาตำหนิว่า การสอดแนมเพื่อนบ้านนั้น “เป็นสิ่งที่สังคมไม่ยอมรับ”
วานนี้ (4) โฆษกของผู้นำหญิงปฏิเสธที่จะออกความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา ขณะระบุเพียงว่า อัยการกลางได้ตัดสินใจดำเนินการตามกฎหมาย
ชเตฟเฟิน ไซแบร์ต กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า รัฐบาลไม่มีสิทธิใช้อิทธิพลครอบงำ หรือใช้อิทธิพลแทรกแซง การหารือในประเด็นที่ว่าควรเปิดการสืบสวนหรือไม่
มารี ฮาร์ฟ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า การใช้วิธีการทางการทูตขจัดความกังวลในข้อกล่าวหาที่ว่า สหรัฐฯ ลอบดักฟังโทรศัพท์มือถือของแมร์เคิลจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด
มีการยกประเด็นปัญหานี้ขึ้นปรึกษาหารือกับรัฐบาลเยอรมันโดยตรงแล้ว “ดิฉันจึงคิดว่าวิธีนั้นจะเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุด”
นอกจากนี้ ฮาร์ฟระบุว่า เธอยังไม่ทราบว่าสหรัฐฯ จะให้ความร่วมมือในการสืบสวนของอัยการกลางเยอรมันหรือไม่
*** สอดแนมคนหมู่มาก ***
ชาวเยอรมันผู้มีความอ่อนไหวต่อข้อมูลต่างออกมาแสดงความโกรธแค้น หลังเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตพนักงานสัญญาจ้างของเอ็นเอสเอเปิดโปงว่าผู้นำเมืองเบียร์ถูกสอดแนม ในเวลาที่พลเมืองเยอรมันยังรู้สึกขมขื่น จากความทรงจำในอดีตที่ถูกลักลอบสอดแนมอย่างกว้างขวาง โดยตำรวจลับจากเยอรมันตะวันออกในสมัยที่ดินแดนดังกล่าวยังปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ และเป็นสถานที่ที่แมร์เคิลได้รับการเลี้ยงดู
คำแถลงของอัยการระบุว่า “พบข้อเท็จจริงอันเป็นรูปธรรมที่พิสูจน์ได้ว่า อาจมีการลอบสอดแนมโทรศัพท์มือถือของนายกรัฐมนตรีแมร์เคิลโดยบุคคลที่ยังไม่ทราบแน่ชัด ในหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ”
ในเวลาต่อมารางเงินกล่าวในการแถลงข่าวว่า ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าจะมีการติดต่อขอให้สโนว์เดนมาเป็นพยานหรือไม่ หรือเมื่อใด
อย่างไรก็ดี การที่อัยการกลางตัดสินใจดำเนินการสืบสวนเฉพาะกรณีการดักฟังโทรศัพท์มือถือของแมร์เคิลเท่านั้นได้จุดชนวนให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นมา
ส.ส.ฮันส์ คริสเตียน ชเติลเบเลอ จากพรรคกรีนส์ชี้ว่า “ข้อกล่าวหาหลักที่เรากำลังโต้เถียงกันอยู่ที่นี่ คือการสอดแนมคนจำนวนมาก”
ภายหลังที่ขั้นตอนการสืบสวนของอัยการกลางเสร็จสิ้นลง รางเงินจะต้องตัดสินใจว่า ควรจะมีการตั้งข้อหาหรือไม่ เป็นต้นว่า อาจตั้งข้อหาหัวหน้าหน่วยเอ็นเอสเอ จากพฤติการณ์ที่มีข้อกล่าวหา
เมื่อเดือนเมษายน เบอร์ลินได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาประเมินขอบเขตการสอดแนมพลเมือง และนักการเมืองเยอรมัน ของเอ็นเอสเอ และหน่วยงานที่ร่วมมือกัน พร้อมทั้งตรวจสอบว่า หน่วยข่าวกรองเยอรมันได้ให้ความช่วยเหลือสหรัฐฯ หรือไม่
นอกจากนี้ เมืองเบียร์ได้ตัดสินใจจะสอบสวนสโนว์เดน ผู้ที่กลายเป็นคนทรยศและถูกออกหมายจับในสายตาของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยอาจกระทำผ่านทางวีดีโอลิงก์ หรือส่งนักการทูตไปยังรัสเซีย ประเทศที่เขากำลังลี้ภัยชั่วคราว
ทางด้าน โอบามาได้พยายามระงับความโกรธแค้นของนานาชาติที่ปะทุขึ้นหลังมีการแฉกิจกรรมของเอ็นเอสเอ โดยเขาได้ออกมาประกาศเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า ได้สั่งระงับการดักฟังผู้นำมหาอำนาจชาติพันธมิตรแล้ว ทั้งยังลดขอบเขตภารกิจสอดแนมโทรศัพท์ที่มีระดับกว้างขวางของเอ็นเอสเอลงแล้ว
ในการให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์เยอรมัน 1 วันหลัง โอบามาได้รับรองกับแมร์เคิลว่า จะไม่ปล่อยให้โครงการสอดแนมซึ่งเป็นพฤติกรรมก้าวก่าย มาทำลายความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ แต่ผู้นำอเมริกันระบุว่า ภารกิจรวบรวมข่าวกรองของรัฐบาลต่างประเทศจะยังดำเนินต่อไป