เอเอฟพี - คณะนักวิทยาศาสตร์ระบุวานนี้ (2 มิ.ย.) ว่าการตั้งชื่อพายุเฮอร์ริเคนด้วย “ชื่อผู้หญิง” อาจฉุดยอดเหยื่อผู้เสียชีวิตให้เพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า เนื่องจากประชาชนไม่รู้สึกว่า พายุดังกล่าวมีอันตรายร้ายแรงเท่ากับพายุที่มีชื่อเป็นผู้ชาย
ทั้งนี้ พายุเฮอร์ริเคนแต่ละลูกจะถูกกำหนดชื่อไว้ล่วงหน้า ซึ่งมีทั้งชื่อผู้ชายและชื่อผู้หญิงสลับกันไป โดยไม่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงของพายุที่กำลังเคลื่อนตัวเข้ามา นักวิทยาศาสตร์ได้นำระบบนี้เข้ามาใช้ในช่วงทศวรรษที่ 1970 เพื่อหลีกเลี่ยงการมีอคติทางเพศ
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาของซึ่งครอบคลุมพายุเฮอร์ริเคนที่ก่อตัวขึ้นในมหาสมุทรแอตแลนติกในช่วงกว่า 6 ทศวรรษ ที่ตีพิมพ์ลงวารสาร “โพรซีดดิงส์ ออฟ เดอะ เนชันแนล อคาเดมี ออฟ ไซแอนซ์ส” ระบุว่า ระบบการตั้งชื่อแบบนี้กลับส่งผลอันตรายร้ายแรง
คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ได้วิเคราะห์ข้อมูลผู้เสียชีวิตจากพายุเฮอร์ริเคนทุกลูก ที่เคลื่อนตัวเข้าแผ่นดินสหรัฐฯ นับตั้งแต่ปี 1950 ถึง 2012
ผลการศึกษาระบุว่า “เฮอร์ริเคนที่ใช้ชื่อเรียกแบบผู้ชายได้คร่าชีวิตผู้คนไปประมาณ 15.15 คน ขณะที่เฮอร์ริเคนที่ถูกเรียกด้วยชื่อผู้หญิงทำให้มีผู้เสียชีวิตไปประมาณ 41.84 คน”
“ในทางกลับกัน แบบจำลองของเราชี้ว่า การเปลี่ยนชื่อพายุเฮอร์ริเคนที่มีอานุภาพรุนแรงจาก ‘ชาร์ลีย์’ เป็น ‘เอโลอีซ’ อาจทำให้ยอดผู้เสียชีวิตขยับเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 3 เท่า”
คณะนักวิทยาศาสตร์ได้ละเว้นการกล่าวถึงพายุเฮอร์ริเคน “แคทรีนา” (2005) และ “ออเดรย์” (1957) ในบทวิเคราะห์ เนื่องจากพายุมหึมาสองลูกนี้คร่าชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมาก จึงอาจทำให้ผลการศึกษาบิดเบือน
ชารอน ชาวิตต์ อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด ซึ่งเป็นผู้ร่วมเขียนงานวิจัยฉบับนี้ชี้ว่า “ประชาชนดูจะปักใจเชื่อว่า มีความสอดคล้องกันระหว่างระดับความรุนแรงของพายุ กับพฤติกรรมของเพศชายและเพศหญิง”
“ด้วยเหตุนี้ คนจึงรู้สึกว่า พายุเฮอร์ริเคนที่ถูกตั้งชื่อเป็นหญิงโดยเฉพาะชื่อที่สะท้อนความเป็นเพศหญิงมากๆ อย่าง แบล หรือซินดี ดูนุ่มนวลกว่า และรุนแรงน้อยกว่า”
นอกจากนี้ เหล่านักวิจัยระบุว่า เมื่อขอประชาชนให้นึกภาพว่า ตนเองอยู่ในเส้นทางที่พายุเฮอร์ริเคนกำลังเคลื่อนตัวเข้ามา พวกเขาก็จัดอันดับว่าพายุชื่อ อเล็กซานดรา คริสตินา หรือวิกตอเรีย มีความรุนแรงน้อยกว่าเฮอร์ริเคนในจินตนาการที่มีชื่อว่า อเล็กซันเดอร์ คริสโตเฟอร์ และวิกเตอร์
เฮเซล โรส มาร์คัส อาจารย์ประจำภาควิชาพฤติกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งไม่ได้มีส่วนในการจัดทำรายงานฉบับนี้กล่าวว่า “การค้นพบครั้งนี้มีความสำคัญอย่างใหญ่หลวง”
ก่อนที่จะมีการตัดสินใจตั้งชื่อพายุเฮอร์ริเคนให้เป็นชายและหญิงสลับกันมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1970 พายุเฮอร์ริเคนเคยถูกกำหนดให้ใช้ชื่อผู้หญิงเท่านั้น ซึ่งเป็นการปฏิบัติอันเกิดจากความเชื่อที่ว่า พายุมีลักษณะคาดเดาไม่ได้เหมือนสตรี
คณะนักวิจัยกล่าวว่า การศึกษาของพวกเขาชี้ว่า ควรมีการเปลี่ยนแปลงระบบการตั้งชื่ออีกครั้ง
การศึกษาชิ้นนี้สรุปว่า “สำหรับผู้กำหนดนโยบายแล้ว การค้นพบเหล่านี้ชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงระบบการตั้งชื่อพายุเฮอร์ริเคนอีกครั้ง จะช่วยป้องกันไม่ให้ประชาชนประเมินความรุนแรงของเฮอร์ริเคนผิดพลาด เพราะถูกอคติทางเพศครอบงำ พร้อมทั้งกระตุ้นให้ประชาชนตั้งรับสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม”