xs
xsm
sm
md
lg

ตามคาด! “ออสเตรเลีย” ยอมรับน่านน้ำที่พบสัญญาณ Ping “ไม่ใช่จุดตกของ MH370”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพถ่ายเครื่องบินโบอิ้ง 777-200 ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ส รุ่นเดียวกับ MH370 ที่หายสาปสูญไปเมื่อวันที่ 8 มีนาคม
เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ศูนย์ประสานงานออสเตรเลียออกมายอมรับในวันนี้ (29 พ.ค.) ว่า น่านน้ำกว้างใหญ่ในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ที่มีการตรวจพบสัญญาณ Ping จนนำมาสู่ปฏิบัติการค้นหาที่ใช้ทั้งเวลาและงบประมาณมหาศาล ไม่ใช่จุดตกของเที่ยวบิน MH370 ที่หายไปเมื่อเกือบ 3 เดือนก่อน

ศูนย์ประสานงานร่วมออสเตรเลีย (JACC) ซึ่งรับหน้าที่ควบคุมปฏิบัติการค้นหา MH370 ยอมรับว่าภารกิจสำรวจพื้นมหาสมุทรด้วยยานดำน้ำไร้คนขับ บลูฟิน-21 ในจุดที่เรือโอเชียนชิลด์ตรวจจับสัญญาณ Ping ได้หลายครั้งเมื่อเดือนเมษายนเสร็จสิ้นลงแล้ว

“ศูนย์ประสานงานร่วมได้ข้อสรุปว่า ยานดำน้ำไร้คนขับไม่พบเศษชิ้นส่วนเครื่องบินแม้แต่ชิ้นเดียว นับตั้งแต่เข้าร่วมภารกิจค้นหา”

เจเอซีซีระบุด้วยว่า สำนักงานความปลอดภัยขนส่งออสเตรเลียเห็นควรให้ประกาศว่า “พื้นที่ค้นหานี้ไม่ใช่จุดตกของเครื่องบิน MH370 อย่างแน่นอน”

เรือโอเชียนชิลด์ของออสเตรเลียซึ่งขนยาน บลูฟิน-21 ออกไปปฏิบัติภารกิจกลางมหาสมุทรอันห่างไกล ได้เดินทางกลับออกมาจากพื้นที่แล้ว หลังจากที่ บลูฟิน-21 ได้ดำลงไปสำรวจใต้ทะเลลึกเป็นพื้นที่กว้างขวางถึง 850 ตารางกิโลเมตรเพื่อตามหาเครื่องบินมาเลเซียที่สูญหายไปพร้อมกับผู้โดยสารและลูกเรือ 239 ชีวิต เมื่อวันที่ 8 มีนาคม

การปิดฉากภารกิจของ บลูฟิน-21 มีขึ้น ในขณะที่รองผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมมหาสมุทรของกองทัพเรือสหรัฐฯ ไมเคิล ดีน ก็ได้ออกมาเผยต่อสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นว่า สัญญาณ Ping ที่ทีมค้นหาตรวจจับได้ไม่น่าจะมาจากกล่องดำของ MH370 อย่างที่ตั้งความหวังกันไว้

โฆษกกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ออกมาชี้แจงภายหลังว่า บทสัมภาษณ์ของ ดีน เป็นเพียง “การตั้งข้อสังเกต และเร็วเกินไปที่จะสรุปได้” ส่วน เจเอซีซี ไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ ทั้งสิ้นในเรื่องนี้

เจเอซีซีระบุว่า ปฏิบัติการนับจากนี้จะก้าวสู่ขั้นตอนใหม่ โดยจะมีการนำอุปกรณ์อันทันสมัยและซับซ้อนมาใช้สแกนพื้นมหาสมุทรส่วนที่ยังไม่ผ่านการสำรวจ และจะต้องทบทวนข้อมูลรวมถึงบทวิเคราะห์ทั้งหมดใหม่เพื่อกำหนดพื้นที่ค้นหาให้แม่นยำขึ้น

เรือสำรวจ Zhu Kezhen ของจีนอยู่ระหว่างจัดทำแผนที่ใต้น้ำ ก่อนจะมีการว่าจ้างบริษัทเอกชนเข้ามาทำการค้นหาซากเครื่องบินที่ใต้ทะเลลึก ซึ่งคาดว่าจะเริ่มต้นได้ในเดือนสิงหาคม และใช้เวลาปฏิบัติงานประมาณ 12 เดือน เจเอซีซี ระบุ
พล.อ.อ.แองกัส ฮุสตัน หัวหน้าศูนย์ประสานงานร่วมออสเตรเลีย (เจเอซีซี)

กำลังโหลดความคิดเห็น