รอยเตอร์ส/เอเอฟพี - เปโตร โปโรเชนโก ว่าที่ประธานาธิบดีของยูเครน เผยยังไม่พร้อมกำหนดตารางเวลาลงนามข้อตกลงการค้าประวัติศาสตร์กับสหภาพยุโรป แต่ก็ไม่ได้หมายถึงว่าจะถอยกลับข้อตกลงนี้ เจ้าหน้าที่อียูเผยเจ้าตัวประสงค์จัดการกับวิกฤติภายในก่อน ท่ามกลางปฏิบัติการปราบปรามนองเลือดกบฏนิยมรัสเซีย ซึ่งก่อความไม่พอใจแก่มอสโก ที่ออกมาเรียกร้องเคียฟยุติเข่นฆ่าประชาชนของตนเอง
ข้อตกลงการค้ากับสหภาพยุโรป(อียู) คือแก่นกลางในวิกฤตการเมืองของยูเครนในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่อดีตประธานาธิบดีวิกตอร์ ยานูโควิช ผู้ฝักใฝ่รัสเซีย กลับลำไม่ยอมลงนามในนาทีสุดท้าย แล้วหันไปกระชับสัมพันธ์กับรัสเซีย จนกระพือการชุมนุมต่อต้านบนท้องถนนและนำมาสู่การที่เขาถูกโค่นล้มอำนาจในเดือนกุมภาพันธ์
โปโรเชนโก มหาเศรษฐีเจ้าของโรงงานช็อคโกแลต ซึ่งได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในศึกเลือกตั้งยูเครนเมื่อวันอาทิตย์(25)ที่ผ่านมา ให้คำมั่นว่าประเทศของเขาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับอียู อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่คนหนึ่งของอียู ยอมรับว่าทางการเคียฟบอกกับพวกเขาในช่วงต้นสัปดาห์ว่า "พวกเขาต้องการเวลาสักเล็กน้อย เพื่อดูว่าจะเดินหน้าข้อตกลงการค้าอียูอย่างไร"
เจ้าหน้าที่อียูเผยว่านายโปโรเชนโก รู้สึกว่าเขาต้องการเนื้อที่และเวลาสำหรับจัดการปัญหาภายในของยูเครน และมีท่าทีไม่ประสงค์ถูกกดดันให้ลงนามข้อตกลงก่อนถึงเวลาอันควร
เหล่าผู้นำของอียูลงนามในส่วนย่อยของข้อตกลงกับยูเครนในด้านความร่วมมือทางการเมืองไปแล้วเมื่อเดือนมีนาคม และให้ปล่อยกู้สนับสนุนเคียฟไปบ้างแล้ว ไม่นานหลังจากกองกำลังรัสเซียเข้ารุกรานแหลมไครเมีย อย่างไรก็ตามตอนนั้น ในส่วนเนื้อหาหลักของข้อตกลงการค้าเสรี ถูกเลื่อนออกไปจนกว่ายูเครนได้ประธานาธิบดีที่มาจากการแต่งตั้ง
ไม่มีเส้นตายของการลงนามในข้อตกลงการค้าประวัติศาสตร์ดังกล่าว แม้ว่าเจ้าหน้าที่อียูบางส่วนแสดงความหวังว่าทุกอย่างจะเสร็จสมบูรณ์ ณ ที่ประชุมซัมมิทอียูในบรัสเซลส์ วันที่ 27 มิถุนายน อันเป็นเวทีที่จอร์เจียและมอลโดวา มีแผนลงนามในข้อตกลงแบบเดียวกัน อย่างไรก็ตามท้ายที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของยูเครน
โปโรเชนโก ต้องนำพายูเครน ในช่วงเวลาแห่งความแตกแยกร้าวลึกภายในประเทศ หลังจากรัสเซียผนวกแหลมไครเมียและฝ่ายกบฏนิยมมอสโกก่อจลาจล ท่ามกลางระลอกคลื่นแห่งความรุนแรง หลังทางการยังคงเดินหน้าปฏิบัติการกวาดล้างพวกต้องการแบ่งแยกดินแดนทางภาคตะวันออกของประเทศ
โดยเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มีกลุ่มผู้ประท้วงนิยมรัสเซียเสียชีวิตอย่างน้อย 40 คน จากปฏิบัติการยึดคินสนามบินนานาชาติโดเนตสค์ของกองกำลังพิเศษยูเครน หลังจากท่าอากาศยานแห่งนี้ถูกฝ่ายกบฎเข้าควบคุมไม่กี่วันก่อนหน้านี้
ในวันจันทร์ (26) มีการต่อสู้รบอย่างดุเดือดระหว่างกองกำลังพิเศษยูเครนและกลุ่มติดอาวุธนิยมรัสเซียเมื่อกลุ่มผู้ประท้วงรุกคืบเข้ายึดสนามบินโดเนตสค์ โดยเอพีรายงานว่าเห็นฝ่ายทหารยูเครนใช้เครื่องบินขับไล่และเฮลิคอปเตอร์เข้าถล่มฝ่ายตรงกันข้ามทั้งกลางวันกลางคืน เป็นผลทำให้มีควันไฟดำปกคลุมทั่วไปในเมืองที่มีประชาชนราว 1 ล้านคน
อาร์เซน อาวาคอฟ รัฐมนตรีรักษาการมหาดไทยยูเครนแถลงเมื่อวันอังคาร(27) ว่ากองกำลังพิเศษยูเครนสามารถเข้าควบคุมสนามบินนานาชาติโดเนตสค์ ในยูเครนตะวันออกไว้ได้โดยสมบูณณ์ หลังจากมีการออกปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ และการสู้รบที่ดุเดือดกับกลุ่มผู้ประท้วงติดอาวุธนิยมรัสเซีย“ท่าอากาศยานโดเนตสค์อยู่ภายใต้การควบคุมของเราอย่างสมบูรณ์ ฝ่ายข้าศึกสูญเสียไปมาก แต่ทางกองกำลังยูเครนไม่มีตัวเลขสูญเสีย” อาวาคอฟกล่าว
ปฏิบัติการล่าสุด กระตุ้นความเดือดดาลของรัสเซียอีกรอบ โดยในวันพุธ(28) นายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศมอสโก ย้ำว่าไม่มีเหตุผลใดสามารถอ้างความชอบธรรมปฏิบัติการกวาดล้างพวกแบ่งแยกดินแดนของยูเครนและเรียกร้องขอให้ยุติการรบราฆ่าฟันที่ยืดเยื้อมานานกว่า 7 สัปดาห์
นายลาฟรอฟบอกกับนายแฟรงค์-วอลเตอร์ สไตน์ไมเออร์ รัฐมนตรีต่างประเทศของเยอรมนี ระหว่างพูดคุยทางโทรศัพท์ว่า "ไม่สามารถอ้างเหตุผลใดต่อปฏิบัติการลงโทษนี้และขอเรียกร้องให้มาตรการเร่งด่วนยุติเหตุนองเลือด และจัดการเจรจาระหว่างประชาชนชาวยูเครน ในนั้นรวมถึงในประเด็นปฏิรูปรัฐธรรมนูญ"
อย่างไรก็ตามทางยูเครน พยายามผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างสองชาติ ด้วยนายโปโรเชนโก ได้ส่งหนังสือเชิญประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย เข้าร่วมพิธีรำลึกครบรอบ 70 ปี D-Dayพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดี ซึ่งจะมีขึ้นในฝรั่งเศส สัปดาห์หน้า
ความเคลื่อนไหวนี้จะช่วยเติมความหวังของโอกาสพบปะกันแแบบตัวต่อตัว และความเป็นไปได้ที่จะคลี่คลายความตึงเครียดระหว่างสองชาติ ขณะที่พิธีดังกล่าวจะมีประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี และเหล่าผู้นำประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องในสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้าร่วมด้วย