xs
xsm
sm
md
lg

รมว.กิจการศาสนาอินโดฯ “ลาออก” หลังพบทุจริตกองทุน “พิธีฮัจญ์” - ลัดคิวให้ญาติ-ส.ส.ไปเมกกะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ประธานาธิบดี ซูซิโล บัมบัง ยุโธโยโน แห่งอินโดนีเซีย (ขวา) ต้อนรับ อาลี ซูร์ยาธามา รัฐมนตรีกระทรวงกิจการศาสนา (ซ้าย) ณ ทำเนียบที่พักในวันจันทร์ (26 พ.ค.)
เอเอฟพี - รัฐมนตรีกระทรวงกิจการศาสนาของอินโดนีเซีย ก้าวลงจากตำแหน่งวันนี้ (26 พ.ค.) ภายหลังถูกกล่าวหาว่านำงบประมาณซึ่งควรจะถูกนำไปใช้อุดหนุนชาวมุสลิมที่ต้องการเดินทางไปแสวงบุญ ณ นครศักดิ์สิทธิ์เมกกะ ไปใช้ในทางมิชอบ

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หน่วยปราบปรามการคอร์รัปชันระบุว่า ซูร์ยาธาร์มา อาลี ตกเป็นผู้ต้องสงสัยในการสอบสวนคดีทุจริตองค์กร “พิธีฮัจญ์” หรือการเดินทางไปแสวงบุญที่ซาอุดีอาระเบียในช่วงปี 2012 ถึง 2013
ซูร์ยาธาร์มา อาลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการศาสนาอินโดนีเซีย
ก่อนหน้านี้ หน่วยงานนี้ระบุว่า ตรวจพบพิรุธในการทำธุรกรรมการเงินประมาณ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในกองทุนพิเศษสำหรับประกอบพิธีฮัจญ์ ซึ่งประกอบด้วยเงินอุดหนุนจากรัฐบาล และเงินสดของผู้ที่วางแผนจะเดินทางไปแสวงบุญ

ข้อกล่าวหานี้ได้ชุดชนวนให้เกิดความโกรธแค้นในอินโดนีเซีย ประเทศที่มีประชากรชาวมุสลิมมากที่สุดในโลก ที่มีประชาชนหลายล้านคนจ่ายเงินเข้ากองทุนดังกล่าว และต้องรอนานหลายปีกว่าจะได้เดินทาง เนื่องจากมีการกำหนดโควตาผู้ที่ต้องการเดินทางไปแสวงบุญ ณ นครเมกกะในแต่ละปีอย่างเข้มงวด

อาลี คือบุคคลใกล้ชิดของประธานาธิบดี ซูซิโล บัมยัง ยุโธโยโน คนล่าสุดที่มีส่วนพัวพันในคดีทุจริตคอร์รัปชัน นอกจากนี้ ข่าวอื้อฉาวเช่นนี้ยังอาจสร้างรอยด่างให้แก่ผู้สมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีอย่าง ปราโบโว สุเบียนโต ซึ่งพรรคอิสลามของอาลีหนุนหลังให้สู้ศึกเลือกตั้งซึ่งจะมีขึ้นในเร็วๆ นี้

เมื่อสุดสัปดาห์ รัฐมนตรีผู้นี้เน้นย้ำว่าจะไม่ลาออก เพราะข้อกล่าวหาเหล่านี้ แต่แล้วก็เปลี่ยนใจ หลังเข้าพบประธานาธิบดียุโธโยโนในวันนี้ (26)

ซูดี ซีลาลาฮี เลขาธิการคณะรัฐมนตรีกล่าวกับผู้สื่อข่าวภายหลังการพบกัน ณ ทำเนียบที่พักของประธานาธิบดีในเมืองโบโกร์ นอกกรุงจาการ์ตาว่า “ซูร์ยาธามา อาลี ได้คืนตำแหน่งรัฐมนตรีกิจการศาสนาคืนประธานาธิบดี เนื่องจากเขาไม่ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งนี้”

เขากล่าวว่า ประธานาธิบดี “ขอให้เขายื่นหนังสือลาออกภายใน 1 หรือ 2 วัน” และกล่าวเสริมว่า อาลียังคงยืนกรานในช่วงเข้าพบประธานาธิบดีว่า “เขาไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำผิด”

เหล่าเจ้าหน้าที่สืบสวนการกระทำผิดคอร์รัปชัน กล่าวว่า กำลังสืบสวนความผิดปกติในค่าใช้จ่ายสำหรับการประกอบพิธีฮัจญ์, ค่าที่พักขณะจาริกแสวงบุญ และผู้คนที่ได้รับเลือกให้ไปประกอบพิธีฮัจญ์

ทั้งนี้ สื่อรายงานว่า อาลีได้แอบช่วยเหลือคน 100 คน ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงญาติพี่น้อง และบรรดาสมาชิกสภา ให้สามารถลัดคิวไปเข้าร่วมพิธีฮัจญ์ แทนที่จะต้องรอนานหลายปีเหมือนชาวอินโดนีเซียโดยส่วนใหญ่

อย่างไรก็ตาม อาลียังคงดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค “ยูไนเต็ด ดีวีลอปเมนท์” และไม่ได้ถูกควบคุมตัว แม้ว่าสำนักงานปราบปรามการคอร์รัปชันจะสั่งห้ามไม่ให้เขาเดินทางออกนอกประเทศก็ตาม

ทั้งนี้ เขาคือรัฐมนตรีคนที่ 2 ในคณะรัฐมนตรีของยุโธโยโน ที่ก้าวลงจากตำแหน่งด้วยข้อกล่าวหาทุจริตคอร์รัปชัน โดยคนแรกคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกีฬาซึ่งลาออกไปเมื่อปี 2012

กระแสคดีคอร์รัปชันที่กำลังเอ่อล้น ได้สร้างความเสียหายให้แก่พรรคประชาธิปไตยของยุโธโยโน ผู้มีกำหนดจะสละเก้าอี้ในปีนี้ ภายหลังกุมอำนาจบริหารประเทศมานานถึง 1 ทศวรรษ และได้รับเสียงสนับสนุนลดน้อยลงถึงครึ่ง ในการเลือกตั้งรัฐสภาเมื่อเดือนเมษายน

ในการจัดอันดับภาพลักษณ์การคอร์รัปชันขององค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ พบว่า อินโดนีเซีย รั้งอันดับที่ 114 จากทั้งหมด 117 ประเทศและเขตปกครอง โดยอันดับหนึ่งคือประเทศหรือเขตปกครองที่พบปัญหาคอร์รัปชันน้อยที่สุด

กำลังโหลดความคิดเห็น