เอเอฟพี - อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ได้จรดปากกาเซ็นข้อตกลงเส้นเขตแดนทางทะเลร่วมกันวันนี้ (23 พ.ค.) โดยระบุว่า เป็นแบบอย่างของการใช้สันติวิธีแก้ไขกรณีพิพาทเรื่องอาณาเขต ที่กำลังทวีความตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ ในภูมิภาคนี้
ประธานาธิบดี ซูซิโล บัมบัง ยุโธโยโน แห่งอินโดนีเซียแถลงว่า การที่ทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงภายหลังเจรจากันมานาน 20 ปี แสดงให้เห็นว่า ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้นั้นสามารถแก้ไขได้ โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง
“ข้อตกลงนี้เป็นแบบอย่างที่ชี้ว่า ข้อพิพาทใดๆ อย่างเช่น ความบาดหมางในประเด็นเส้นเขตแดนทางทะเลนั้นสามารถแก้ไขได้ด้วยสันติวิธี ไม่ใช่กำลังทหารซึ่ง (อาจ) ทำลายเสถียรภาพและสันติสุขในภูมิภาคของเรา” ทั้งนี้เป็นคำกล่าวของยุโธโยโน ภายหลังที่เขากับประธานาธิบดี เบนิโญ อากีโน แห่งฟิลิปปินส์ ร่วมกันดูแลการลงนามข้อตกลง ณ ทำเนียบรัฐบาลในกรุงมะนิลา
ทั้งนี้ ความตึงเครียดปะทุขึ้นอีกครั้งในทะเลจีนใต้ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นแหล่งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติปริมาณมหาศาล เมื่อจีนเกิดความขัดแย้งกับเวียดนาม และกับฟิลิปปินส์เรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำ
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เกิดเหตุจลาจลขั้นเลวร้ายขึ้นในเวียดนาม ภายหลังที่จีนเคลื่อนแท่นขุดเจาะน้ำมันเข้าไปในน่านน้ำที่สองประเทศพิพาทกันอยู่
อากีโนกล่าวว่า อินโดนีเซียกับฟิลิปปินส์ทำข้อตกลงฉบับใหม่เพื่อเป็น “ข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่า เรายึดมั่นในพันธกรณี ด้วยการปฏิบัติตามหลักนิติธรรม ตลอดจนแก้ไขปัญหาทางทะเลอย่างสันติและยุติธรรม”
ข้อตกลงที่รัฐมนตรีต่างประเทศจากสองชาติลงนามร่วมกันนั้น เป็นการสร้างความเข้าใจเรื่อง เขตเศรษฐกิจจำเพาะของทั้งสองประเทศที่ทับซ้อนกันในทะเลมินดาเนา, ทะเลเซเลบีส และทะเลฟิลิปปิน
ตามกฎหมายระหว่างประเทศ เขตเศรษฐกิจจำเพาะของแต่ละชาติจะครอบคลุมพื้นที่ 200 ไมล์ทะเลนับจากชายฝั่ง โดยทุกประเทศจะมีสิทธิในทรัพยากรภายในน่านน้ำของตนเอง แต่เขตเศรษฐกิจของแต่ละประเทศอาจทับซ้อนกับของประเทศเพื่อนบ้าน
จีน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม บรูไน มาเลเซีย และไต้หวัน ต่างมีข้อพิพาทในเรื่องการอ้างกรรมสิทธ์เหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้
ฟิลิปปินส์และเวียดนามได้แสดงความกังวลซ้ำแล้วซ้ำเล่า และเมื่อเร็วๆ นี้ก็มีท่าทีโกรธแค้นยิ่งขึ้น โดยชี้ว่าจีนกำลังพยายามอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำพิพาท ด้วยวิธีการที่มุ่งร้ายขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากนี้จีนยังพิพาทแย่งชิงกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะในทะเลจีนตะวันออกกับญี่ปุ่น จนสร้างความร้าวฉานแก่สายสัมพันธ์ของ 2 ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย
ยุโธโยโนเตือนว่า ความขัดแย้งกำลังรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่เขาเยือนกรุงมะนิลา และเข้าร่วมการประชุม “เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม”
เขากล่าวว่า “สถานการณ์ในเอเชียตะวันออกกำลังเต็มไปด้วยความตึงเครียด เช่นเดียวกับสถานการณ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างกรณีทะเลจีนใต้”
เขาเรียกร้องให้จีน และบรรดาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “รักษาเจตนารมณ์” ตามที่เคยให้คำมั่นในข้อตกลงปี 2002 ว่าจะไม่กระทำสิ่งที่สร้างความขัดแย้งในพื้นที่พิพาท