รอยเตอร์ - ในวันนี้ (21 พ.ค.) มีความคาดหมายกันว่า รัฐบาลบราซิล องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) และภาคีมากมายหลายฝ่ายจะเผยโฉมข้อตกลง ก่อตั้งกองทุนมูลค่า 215 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 7 พันล้านบาท) เพื่ออนุรักษ์เขตคุ้มครองในป่าฝนแอมะซอน
กองทุนดังกล่าวซึ่งมุ่งสนับสนุนการอนุรักษ์เขตคุ้มครองกว่า 90 แห่งในป่าแอมะซอน เกิดขึ้นขณะที่ภูมิภาคนี้กำลังได้รับแรงกดดัน อันเป็นผลมาจากอัตราการตัดไม้ทำลายป่าในปีที่แล้วเพิ่มสูงขึ้น หลังจากลดลงต่อเนื่องมาหลายปี
ภายใต้เงื่อนไขและข้อตกลงฉบับดังกล่าว ภาคีของกองทุนนี้จะต้องร่วมลงขันบริจาคเงินรายปี เพื่อช่วยให้บราซิลมีเงินมากพอต่อการปกป้องเขตคุ้มครอง ซึ่งมีเนื้อที่กว่า 375 ล้านไร่ หรือมีขนาดใหญ่กว่าสเปนถึง 20 เปอร์เซ็นต์
เหล่าภาคีข้อตกลงกล่าวว่า การระดมเงินช่วยเหลือครั้งนี้จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดโดยบราซิล ซึ่งหมายรวมถึงแผนกตรวจสอบบัญชีของหน่วยงานรัฐบาลที่มีหน้าที่บริหารกองทุน, จัดหาคณะทำงาน และจัดหาเงินให้แก่หน่วยงานรัฐบาลที่รับผิดชอบดูแลเขตคุ้มครอง ในป่าแอมะซอน
เงินจากกองทุนจะถูกนำไปใช้ดำเนินมาตรการอนุรักษ์ขั้นพื้นฐานอย่างหลากหลาย เป็นต้นว่าการปักปันแนวรั้ว และป้ายประกาศเพื่อแจ้งให้ทราบว่าพื้นที่นี้เป็นเขตคุ้มครอง และใช้จัดซื้อยวดยานพาหนะสำหรับตรวจการณ์
คาร์เตอร์ โรเบิร์ตส์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารขององค์การไม่แสวงหาผลกำไร WWF ซึ่งช่วยบริหารจัดการกองทุนนี้กล่าวในการให้สัมภาษณ์ว่า ตามข้อตกลงฉบับนี้ “รัฐบาลบราซิลจะอนุมัติงบประมาณ และปฏิบัติตามกฎระเบียบที่จำเป็น เพื่อจัดหาเงินทุนไว้อนุรักษ์ป่าแอมะซอนของบราซิลในอนาคต”
รัฐบาลบราซิลได้ดำเนินการปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าครั้งใหญ่จนถึงปี 2012 ซึ่งส่วนใหญ่กระทำผ่านการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด และมาตรการทางการเงินที่ห้ามไม่ให้อนุมัติสินเชื่อแก่บรรดาบริษัท และบุคคลที่ถูกจับได้ว่าทำธุรกิจกับขบวนการทำลายป่า แก๊งล่าสัตว์ป่า ชาวไร่ และคนอื่นๆ ที่ลักลอบถางพื้นที่เพื่อแสวงหาประโยชน์อย่างผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลแดนแซมบ้าได้เปลี่ยนแปลงหน่วยงาน และกฎระเบียบว่าด้วยสิ่งแวดล้อมต่างๆ ซึ่งบรรดานักวิจารณ์กล่าวว่า กลับทำให้พวกว่าที่นักพัฒนาสามารถตั้งเป้าแสวงหาผลประโยชน์จากเขตคุ้มครองได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลยังได้เปลี่ยนเขตแดนของพื้นที่โล่งบางส่วน เพื่อปูทางให้โครงการโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้นว่า เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำ ตามลำน้ำสายย่อยต่างๆ ในแอมะซอน