xs
xsm
sm
md
lg

UN เตือนความต้องการ “ยาบ้า” ในเอเชียพุ่งสูง - หนุนธุรกิจมืดเติบโตจนน่าเป็นห่วง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - อุปสงค์ของยาเสพติดที่กำลังเติบโตอย่างแข็งแกร่งในเอเชียกำลังเป็นแรงผลักดันการผลิตเมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) ทั่วโลก เห็นได้จากการตรวจยึดที่เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวในภูมิภาคนี้ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา หน่วนงานภายใต้องค์การสหประชาชาติแถลงวันนี้ (20)

จากการใช้และการผลิตยาเสพติดที่กำลังเติบโต ควบคู่ไปกับเศรษฐกิจที่กำลังเจริญรุ่งเรืองของทวีปที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ได้ทำให้เกิดปัญหาทางสังคมและปัญหาสาธารณสุขที่รุนแรงขึ้นทุกวัน

เมทแอมเฟตามีน หรือที่เรียกกันว่า “ยาบ้า” และ “ยาไอซ์” คือสารกระตุ้นเสพติดอย่างรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง

เพื่อที่จะเรียบเรียงรายงานล่าสุดเรื่องนี้ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNODC ได้นับรวม เมทแอมเฟตามีน แอมเฟตามีน และสารเคมีอื่นที่คล้ายกันเป็นกลุ่มเดียวกัน โดยเรียกว่า “สารกระตุ้นจำพวกแอมเฟตามีน” (amphetamine-type stmulants) หรือ เอทีเอส (ATS)

“เป็นเวลาหลายปี ที่มีการรายงานข่าวการจับกุมยาบ้าอยู่บ่อยครั้งในประเทศฝั่งตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น จีน อินโดนิเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมียนมาร์ และไทย” ยูเอ็นโอดีซี แถลงก่อนเผยแพร่รายงานที่กรุงโตเกียว

หน่วยงานนี้ระบุว่า เอเชียเป็นตลาดยาบ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกมาเป็นเวลายาวนาน และบรรดาพ่อค้ายาเสพติดต่างหวังกอบโกยผลประโยชน์จากเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วของภูมิภาคนี้

จากการประมาณอย่างคร่าวๆ พบว่า 1 ใน 3 ของเงินราว 90,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจอย่างผิดกฎหมายในเอเชียมาจากการค้ายาเสพติด เจเรมี ดักลาส ผู้แทนยูเอ็นโอดีซีประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก กล่าว

การตรวจยึดยาเสพติดจำพวกอาร์ทีเอสได้เพิ่มมากขึ้นเป็น 3 เท่าในเอเชีย ซึ่งเป็นจำนวนอย่างน้อย 36 ตันต่อปีในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาจนถึงปี 2012 ยูเอ็นโอดีซีเผย

จีนเป็นประเทศที่เผชิญปัญหายาเสพติดมากเป็นพิเศษ โดยในปี 2008 เจ้าหน้าที่จีนสามารถยึดยาบ้าได้ถึง 6 ตัน

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวได้พุ่งขึ้นเป็นมากกว่า 16 ตัน ในปี 2012 หรือคิดเป็น 45 เปอร์เซ็นต์ของยาบ้าที่ยึดได้ในเอเชียปีนั้น

ไทยเองก็ถูกเพ่งเล็งว่าเป็นประเทศที่มีการตรวจยึดยาบ้าชนิดเม็ดและชนิดผงมากที่สุดในช่วง 5 ปีท่ผ่านมา

การใช้สารเสพติดจำพวกอาร์ทีเอสที่เพิ่มขึ้นนั้นยังกระตุ้นให้มีการผลิตมากขึ้นด้วย โดยมีแหล่งผลิตใหญ่ๆ อยู่ใน จีน เมียนมาร์ และฟิลิปปินส์

การแพร่กระจายของยาบ้าไปทั่วทั้งเอเชียนั้นเป็นวิกฤตท้าทายสำหรับหน่วยงานด้านยุติธรรมและสาธารณสุขในประเทศที่มีเยาวชนมาก ยูเอ็นโอดีซี กล่าว

ดักลาส เน้นย้ำว่า การเสริมสร้างศักยภาพของตำรวจให้แข็งแกร่ง มาตรการที่จะใช้ต่อสู้กับอาชญากรรมและการคอร์รัปชัน ตลอดจนการตื่นตัวของสังคม ล้วนแต่เป็นสิ่งจำเป็น
กำลังโหลดความคิดเห็น