xs
xsm
sm
md
lg

สื่อนอกชี้นักลงทุนญี่ปุ่น “กังวลหนัก” หลังกองทัพไทยประกาศ “กฎอัยการศึก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี – นักลงทุนญี่ปุ่นซึ่งถือเป็นกลุ่มทุนต่างชาติใหญ่ที่สุดในไทยได้ออกมาแสดง “ความกังวลอย่างมาก” หลังกองทัพประกาศกฎอัยการศึกเพื่อควบคุมสถานการณ์บ้านเมือง เช่นเดียวกับบริษัทข้ามชาติอีกหลายแห่งที่เฝ้าจับตาสถานการณ์การเมืองไทยอย่างใกล้ชิด ขณะที่สหรัฐฯย้ำเตือนกองทัพควรใช้มาตรการแทรกแซงเพียง “ชั่วคราว” เท่านั้น

หลังเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองยืดเยื้อมานานถึง 6 เดือน กองทัพไทยตัดสินใจประกาศกฎอัยการศึกเมื่อเวลา 3.00 น. ของวันนี้ (20) พร้อมส่งทหารลงพื้นที่ดูแลความสงบเรียบร้อยในกรุงเทพมหานคร ตลอดจนควบคุมการเสนอข่าวของสื่อและสถานีโทรทัศน์ต่างๆ

แม้จะมีวิกฤตความขัดแย้งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 ในอาเซียนหดตัว 0.6% ในไตรมาสแรกของปี แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคงเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง

โยชิฮิเดะ สุกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้เปิดแถลงข่าวที่กรุงโตเกียว โดยระบุว่า “รัฐบาลรู้สึกกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ในไทย... เราขอเรียกร้องอีกครั้งให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้ความอดทนอดกลั้น และหลีกเลี่ยงความรุนแรงทุกรูปแบบ”

คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ทำให้กระแสการเมืองไทยกลับมาตึงเครียดหนักอีกครั้ง โดยกลุ่มคนเสื้อแดงซึ่งสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาเตือนว่าอาจเกิด “สงครามกลางเมือง” หากอำนาจปกครองถูกหยิบยื่นให้แก่นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งตามที่ฝ่ายค้านเรียกร้อง

กองทัพไทยซึ่งมีประวัติทำรัฐประหารมาแล้วถึง 12 ครั้ง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476 ยืนยันว่า การประกาศกฎอัยการศึกครั้งนี้ไม่ใช่การ “ยึดอำนาจ” และไม่ใช่ “รัฐประหาร” พร้อมขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

เทอิโคกุ ดาตาแบงก์ (Teikoku Databank) บริษัทวิจัยสินเชื่อภาคเอกชนของญี่ปุ่น รายงานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า มีบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยเกือบ 4,000 ราย คิดเป็นมูลค่าการลงทุนสูงถึง 6,890 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2013 หรือราวๆ ครึ่งหนึ่งของการลงทุนจากต่างประเทศ (inward investment) ทั้งหมด ตามข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย

ตัวเลขดังกล่าวมากกว่ามูลค่าการลงทุนในไทยของสหรัฐฯ, อังกฤษ และสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) รวมกัน ซึ่ง 3 กลุ่มนี้ถือเป็นนักลงทุนกลุ่มใหญ่ที่สุดรองลงมาจากญี่ปุ่น

ประเทศไทยนับว่ามีความสำคัญยิ่งสำหรับบริษัทญี่ปุ่น ซึ่งจำเป็นต้องใช้ต่างชาติเป็นฐานการผลิตสินค้าเพื่อลดภาระค่าจ้างแรงงานในประเทศที่สูงลิ่ว ตลอดจนหลีกเลี่ยงผลกระทบจากเงินเยนที่แข็งค่า และภัยธรรมชาติต่างๆ

บริษัทรถยนต์ฮอนด้า ชี้ว่า บริษัทกำลังทบทวนแผนเปิดโรงงานประกอบรถยนต์ในไทยแห่งที่ 2 ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเดินสายการผลิตได้ในเดือนเมษายน ปี 2015

เทรุฮิโกะ ทาเทเบะ โฆษกฮอนด้า แถลงว่า “เรากำลังรอดูสถานการณ์การเมืองไทยก่อนจะตัดสินใจ หากมีแนวโน้มที่ดีขึ้น การก่อสร้างโรงงานก็อาจจะดำเนินต่อไป และเริ่มผลิตสินค้าได้ตามกำหนด”

ด้าน โตโยต้า ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลกก็เผยในทำนองเดียวกัน แต่ยืนยันว่าโรงงานประกอบรถยนต์ในไทยทั้ง 3 แห่งยังเปิดดำเนินงานตามปกติ

“คนงานกะเช้าจะยังเข้าทำงานตามปกติในโรงงานทุกแห่ง ส่วนในช่วงค่ำจะมีการตัดสินใจอีกครั้ง โดยดูตามสถานการณ์” โฆษกโตโยต้า แถลงวันนี้ (20)

รัฐบาลสหรัฐฯเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในไทย “เคารพหลักการประชาธิปไตย รวมถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น”

เจน ซากี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุในถ้อยแถลงว่า รัฐบาลสหรัฐฯมีความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตการเมืองในประเทศไทย และเรียกร้องให้ทุกฝ่าย “เคารพหลักการประชาธิปไตย ซึ่งรวมไปถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น”

“เราเข้าใจว่ากองทัพไทยประกาศใช้กฎอัยการศึกในครั้งนี้ยังไม่ใช่การรัฐประหาร ซึ่งสหรัฐฯก็ขอให้กองทัพรักษาคำพูดว่าจะใช้กฎอัยการศึกเพียงชั่วคราวเพื่อป้องกันเหตุรุนแรงเท่านั้น และจะต้องไม่บั่นทอนสถาบันทางประชาธิปไตย” ซากี ระบุ

“สหรัฐฯ เชื่อมั่นว่าทุกฝ่ายควรร่วมมือกันเพื่อแก้ไขความต่างผ่านการเจรจา และหาหนทางก้าวไปข้างหน้า สิ่งที่เกิดขึ้นตอกย้ำความจำเป็นที่จะต้องจัดการเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้แสดงเจตนารมณ์ของพวกเขา”

ทางด้านของอินโดนีเซียซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 ของอาเซียน ก็แสดงความเป็นห่วงไทยเช่นกัน และขอร้องให้ทุกฝ่ายช่วยกันนำพาประเทศกลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว

“ที่ผ่านมา รัฐบาลอินโดนีเซียได้เรียกร้องให้ทุกภาคส่วนเคารพกระบวนการรัฐธรรมนูญและหลักประชาธิปไตย เพื่อให้เกิดการปรองดองและความเป็นเอกภาพของชาติ ซึ่งจะสะท้อนความปรารถนาที่แท้จริงของประชาชนชาวไทย” มาร์ตี นาตาเลกาวา รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศแดนอิเหนา ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี

ตลาดหลักทรัพย์ไทยเปิดทำการเช้านี้ (20) ดิ่งลง 1.58% ก่อนจะขยับขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 0.88% ขณะที่เงินบาทอ่อนค่าลงไปอยู่ที่ 32.53 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 32.47 บาท/ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อวานนี้ (19)

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า เศรษฐกิจไทยมีภูมิคุ้มกันต่อความผันผวนต่างๆ ซึ่งเป็นผลมาจากการเมืองที่ขาดเสถียรภาพตลอดหลายสิบปีมานี้

ญาลีล ราชีด จากบริษัท อินเวสโก (Invesco) ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าวดาวโจนส์นิวส์ไวร์สว่า “คนไทยคุ้นเคยกับการเห็นรถถังออกมาแล่นตามท้องถนน” และนักลงทุนรายย่อยในประเทศส่วนใหญ่ก็เคยผ่านสถานการณ์เช่นนี้มาก่อนแล้ว

แอนดรูส์ โคลคูห์น หัวหน้าฝ่ายประเมินเครดิตประเทศในเอเชียแปซิฟิก สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ฟิตช์ (Fitch Ratings) ชี้ว่า ท่าทีล่าสุดของกองทัพอาจมีส่วนช่วยปลดล็อกการเมืองไทยได้

“ปัจจัยหลักๆ ที่จะถูกพิจารณาในการจัดเรตติ้งก็คือ ประเทศไทยจะสามารถหลีกเลี่ยงการนองเลือดและเหตุจลาจลทางการเมืองได้หรือไม่ และจะกลับมามีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มในการกำหนดนโยบายและผ่านร่างงบประมาณได้เมื่อใด”

กำลังโหลดความคิดเห็น