รอยเตอร์ส - วังเครมลินแถลงในวันจันทร์(19) ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน มีคำสั่งถอนกำลังพลที่ประจำอยู่ใกล้ชายแดนยูเครนกลับสู่ฐานทัพแล้ว แต่นาโตและสหรัฐฯ ออกมาตอบโต้ทันควันว่ายังไม่พบเห็นสัญญาณแห่งการถอนทัพใดๆ พร้อมกล่าวหารัสเซียล้มเหลวในการปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ ขณะที่อีกแค่สัปดาห์เดียวก็จะถึงศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีอันสำคัญของเคียฟ
มอสโกประจำการทหารหลายหมื่นนายใกล้ชายแดนทางตะวันออกของยูเครน ดินแดนซึ่งกลุ่มแบ่งแยกดินแดนฝักใฝ่รัสเซียในหลายเมืองได้ประกาศรัฐเอกราช ขณะที่เคียฟและพันธมิตรตะวันตก เกรงว่าเครมลินอาจใช้กำลังเข้ารุกรานเพื่อสนับสนุนฝ่ายกบฏ
ยูเครน มีกำหนดจัดเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันอาทิตย์(18) ซึ่งชาติตะวันตกมองว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในการคลี่คลายวิกฤตของประเทศ ด้วยสหรัฐฯและสหภาพยุโรป(อียู) ขู่คว่ำบาตรรัสเซียให้หนักหน่วงขึ้น หากว่าพวกเขาเข้าแทรกแซงการลงคะแนนของเคียฟ
หน่วยพิทักษ์ชายแดนของยูเครนบอกว่ากองกำลังรัสเซียที่ประจำการอยู่ตามแนวชายแดนมีความเคลื่อนไหวน้อยลง แต่ทางสหรัฐฯและนาโต ยืนกรานว่ายังไม่พบสิ่งบ่งชี้ว่าถึงการถอนทหารของมอสโก ตามที่มอสโกให้คำมั่นสัญญาไว้ ในนั้นรวมถึงถ้อยแถลงของประธานาธิบดีปูตินเอง
"โชคไม่ดีที่ผมจำเป็นต้องบอกว่า เรายังไม่พบเห็นหลักฐานใดๆเลยที่ชี้ให้เห็นว่ามีการเริ่มถอนกำลังพลออกจากชายแดนของยูเครน" พลเอกอันเดอร์ส ฟอกห์ ราสมุสเซน เลขาธิการนาโตแถลงกับผู้สื่อข่าวในบรัสเซลส์ ส่วนพลเรือตรีจอห์น เคอร์บี โฆษกเพนตากอนบอกกับรอยเตอร์สว่า "เราไม่เห็นสิ่งบ่งชี้ของความเคลื่อนไหวใดๆเลย"
เมื่อเดือนมีนาคม ปูติน อ้างสิทธิ์ในการส่งกองกำลังเข้าไปยังยูเครน เพื่อปกป้องพลเรือนที่พูดภาษารัสเซียในกรณีที่มีเหตุจำเป็น และไม่นานจากนั้นก็จัดการผนวกไครเมียของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดน หลังจากประธานาธบดีผู้นิยมมอสโกถูกเหล่าผู้ประท้วงที่เดินขบวนบนท้องถนนโค่นล้มอำนาจในเดือนกุมภาพันธ์ ต่อมากลุ่มกบฏฝักใฝ่เครมลิน ก็เข้ายึดเมืองต่างๆทางตะวันออกของยูเครนและจัดลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชตามอย่างไครเมีย ความเคลื่อนไหวที่ถูกประณามอย่างดุเดือดจากชาติตะวันตก
ในวันจันทร์(19) วังเครมลินแถลงว่า ปูติน มีคำสั่งถอนทหารใน 3 มลฑล อันได้แก่มณฑลรอสตอฟ เบลโกรอด และบรีอันสค์ ซึ่งมีชายแดนติดอยู่ยูเครน ให้กับสู่ฐานทัพ แต่ไม่ได้มีการพาดพิงว่ากำลังพลที่จะถูกถอนออกมานั้นมีจำนวนเท่าไหร่ ขณะที่หน่วยพิทักษ์ชายแดนของยูเครน ไม่ได้พูดตรงๆถึงการถอนทหารของรัสเซีย เพียงแต่บอกว่าพบเห็นความเคลื่อนไหวที่ลดลงของกองกำลังรัสเซียในแถวหน้า
อีกสัญญาณแห่งความประนีประนอมที่ปรากฏออกมา ปูตินได้แสดงความยินดีในสิ่งที่เครมลินเรียกว่าการติดต่อประสานงานขั้นต้นระหว่างรัฐบาลยูเครนกับกลุ่มผู้สนับสนุนสหพันธรัฐ ที่ต้องการอำนาจในการปกครองตนเองมากขึ้นในเหล่าดินแดนที่พูดภาษารัสเซียทางภาคตะวันออกของยูเครน
ขณะที่นายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ก็แสดงความยินดีต่อความคิดริเริ่มที่จะนำรัฐบาลในเคียฟและเหล่าผู้แทนจากแคว้นต่างๆเข้าสู่การหารือกัน แต่ก็แสดงความกังวลว่ารัฐบาลฝักใฝ่ตะวันตกอาจใช้โอกาสนี้เป็นฉากบังหน้าผลักดันให้มีการปฏิรูปรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ให้อำนาจในการปกครองตนเองของแคว้นต่างๆอย่างเพียงพอ
นอกจากนี้แล้วทั้ง ปูติและลาฟรอฟ ต่างก็ย้ำถึงข้อเรียกร้องของรัสเซียที่ต้องการให้เคียฟยุติปฏิบัติการลงโทษต่อพวกแบ่งแยกดินแดนและถอนทหารกลับ หลังจากเมื่อเร็วๆนี้ เคียฟ ปฏิบัติการทางทหารกวาดล้างฝ่ายกบฏ แต่ก็ล้มเหลวในการขับไล่พวกเขาออกจากฐานทัพหลักในเมืองต่างๆทางตะวันออก