เอเอฟพี - ประธานาธิบดี ซัลวา คีร์ แห่งซูดานใต้ วานนี้ (23 เม.ย.) สั่งปลดเสนาธิการใหญ่ของกองทัพปลดแอกประชาชนซูดาน (เอสพีแอลเอ) ออกจากตำแหน่ง ภายหลังที่กบฏเข้ายึดเมืองที่เป็นแหล่งผลิตน้ำมันแห่งสำคัญของประเทศ จนจุดชนวนให้เกิดการฆ่าล้างชาติพันธุ์ องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวว่ามีพลเมืองหลายร้อยคนถูกเข่นฆ่า
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บรรดากบฏที่ภักดีต่ออดีตรองประธานาธิบดี รีค มาชาร์ ได้เข้ายึดเมืองบองตีอู โดยยูเอ็นระบุว่ากบฏได้รุกรานพลเมืองที่อพยพหลบภัยไปอยู่อาศัยตามมัสยิด โบสถ์ และโรงพยาบาล ในความพยายามฆ่าล้างชาติพันธุ์ระลอกใหม่
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีซูดานใต้ไม่ได้ชี้แจงสาเหตุที่เขาสั่งปลด พล.อ.เจมส์ ฮอต ไม ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ประกาศผ่านทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ ขณะที่แหล่งข่าวชี้ว่าเป็นเพราะเขาตัดสินใจผิดพลาดจนทำใหักองทัพซูดานใต้พลาดท่าเสียทีปล่อยให้กบฏเข้ายึดเมืองซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันสำคัญทางภาคเหนือของประเทศเมื่อไม่นานมานี้ โดยผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนเขาคือ พล.อ.พอล มาลอง
นอกจากนี้ คีร์ยังได้ปลด พอล มาช ผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรอง แล้วแต่งตั้ง พล.อ.มาเรียล นูร์ จอก ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน
เมื่อเร็วๆ นี้กลุ่มกบฏได้เปิดฉากโจมตีระลอกใหม่ พุ่งเป้ายึดครองแหล่งน้ำมันและเมืองบองตีอู อันเป็นที่ตั้งทางภูมิศาสตร์สำคัญแห่งแรกที่ฝ่ายกบฏยึดไปได้
ทางด้านทำเนียบขาวได้ออกมาแสดงความหวั่นวิตกต่อสิ่งที่พวกเขากล่าวว่าเป็น “ความเลวทราม” ของเหตุรุนแรงที่ลุกลามบานปลายในประเทศ
เจย์ คาร์นีย์ โฆษกของทำเนียบขาวกล่าว “เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเรากำลังหวาดวิตกกับรายงานที่เผยแพร่จากซูดานใต้ ซึ่งระบุว่าบรรดานักรบที่ภักดีต่อ รีค มาชาร์ ผู้นำฝ่ายกบฏ ได้เข่นฆ่าพลเรือนผู้บริสุทธิ์หลายร้อยชีวิตในเมืองบองตีอู”
ทำเนียบขาวได้เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่าย “สร้างความมั่นใจว่าเหตุโจมตีพลเรือนที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ จะต้องมีการนำตัวผู้ก่อเหตุรุนแรงทั้งสองฝ่ายมารับโทษ และวัฏจักรแห่งความรุนแรงที่ครอบงำซูดานใต้มาเนิ่นนานจำต้องจบลง”
ภาพถ่ายที่องค์การสหประชาชาตินำออกเผยแพร่ แสดงให้เห็นกองศพที่กำลังขึ้นอืดและเน่าเปื่อยกระจัดกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ ราวกับเป็นการฉายภาพซ้ำเหตุสังหารหมู่ในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา
ยูเอ็นระบุว่า หลังกลุ่มกบฏออกคำแถลงโอ้อวดว่าสามารถยึดเมืองบองตีอูได้สำเร็จ ก็บุกเข่นฆ่าประชาชนต่อเนื่องเกือบ 2 วัน ทั้งยังระบุว่ากลุ่มกบฏได้ใช้สถานีวิทยุเป็นช่องทางปลุกปั่นความรู้สึกเกลียดชังในหมู่คนต่างชาติพันธุ์ให้ระอุคุกรุ่นยิ่งขึ้น
สหรัฐฯ และฝรั่งเศสวานนี้ (23) ได้เรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติพิจารณาการใช้มาตรการคว่ำบาตรซูดานใต้
ทั้งนี้ ความขัดแย้งในซูดานใต้ ชาติใหม่ล่าสุดของโลกซึ่งเพิ่งแยกตัวเป็นประเทศเอกราชจากประเทศซูดาน เมื่อปี 2011 ได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วหลายพันคน และบีบให้ประชาชนราวหนึ่งล้านคนต้องละทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือน นับตั้งแต่การสู้รบกันปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ในกรุงจูบา ก่อนที่จะแผ่ขยายลุกลามเข้าไปยังรัฐอื่นๆ ของประเทศที่ร่ำรวยน้ำมันแห่งนี้
การสู้รบครั้งนี้เป็นการต่อกรกันระหว่างกองทหารซึ่งขึ้นตรงต่อประธานาธิบดีซัลวา คีร์ แห่งซูดานใต้ กับกลุ่มกบฏที่จงรักภักดีต่อมาชาร์ ผู้ที่ถูกประธานาธิบดีคีร์ ปลดจากตำแหน่งรองประธานาธิบดีเมื่อปี 2013 ฐานวางแผนก่อรัฐประหาร
นอกจากนี้ การต่อสู้ยังมีลักษณะเป็นความขัดแย้งระหว่างสองกลุ่มชาติพันธุ์ คือระหว่างทหารชนเผ่า “ดิงกา” ของคีร์ และกบฏเชื้อสาย “นูเอร์” ของมาชาร์