เอเอฟพี – สื่อรัฐบาลจีนเผย ร้อยละ 60 ของน้ำใต้ดินในจีนที่ผ่านการตรวจวิเคราะห์เมื่อปีที่แล้ว “ปนเปื้อนสารพิษ” จนไม่สามารถดื่มกินโดยตรงได้ สะท้อนถึงวิกฤตมลพิษในแดนมังกรที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรง
ผลสำรวจประจำปีโดยกระทรวงที่ดินและทรัพยากรจีน ระบุว่า จากการตรวจสอบคุณภาพน้ำใน 203 เมืองทั่วประเทศเมื่อปีที่แล้ว พบว่าน้ำใต้ดินมีคุณภาพ “ต่ำมาก” หรือ “ค่อนข้างต่ำ” สำนักข่าวซินหวาของจีนรายงานเมื่อค่ำวานนี้ (22)
รายงานฉบับนี้ชี้ว่า น้ำที่จัดอยู่ในเกณฑ์ “คุณภาพค่อนข้างต่ำ” จะต้องผ่านการกำจัดสารปนเปื้อนเสียก่อนจึงจะนำมาดื่มได้ ส่วนน้ำที่คุณภาพ “ต่ำมาก” นั้นไม่สามารถดื่มได้เลย
ทั้งนี้ สัดส่วนของน้ำใต้ดินที่ไม่เหมาะสมต่อการบริโภคโดยตรงเพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2012 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 57.4
การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมาหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาหมอกควันที่ปกคลุมเมืองใหญ่ๆ รวมไปถึงสารพิษปนเปื้อนในน้ำและดิน ซึ่งปัญหาเรื้อรังเหล่านี้กระตุ้นให้ประชาชนที่รู้สึกไม่พอใจลุกขึ้นมาประท้วงรัฐบาลอยู่เนืองๆ
สัปดาห์ที่แล้ว กระทรวงสิ่งแวดล้อมจีนประเมินว่า ที่ดินในแดนมังกรมีสารพิษปนเปื้อนถึงร้อยละ 16 และเกือบ 1 ใน 5 ของพื้นที่การเกษตรมีการปนเปื้อนสารอนินทรีย์ เช่น แคดเมียม เป็นต้น
เดือนที่แล้ว นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ได้ “ประกาศสงครามกับมลพิษ” เพื่อบรรเทาความกังวลของพลเมืองจีนต่อวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้น แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนก็ว่า เรื่องของผลประโยชน์อาจทำให้รัฐบาลปักกิ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม
ผู้คนที่อาศัยอยู่ตามเมืองใหญ่ๆ ของจีนเริ่มหลีกเลี่ยงที่จะดื่มน้ำประปาจากก๊อกโดยตรง โดยจะนำน้ำไปต้มก่อน หรือไม่ก็ซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดแทน
เมื่อต้นเดือนนี้ ชาวบ้านในเมืองหลานโจวทางภาคตะวันตกของจีนต่างแห่ไปซื้อน้ำแร่มาบริโภค หลังมีข่าวว่าท่อส่งน้ำมันของบริษัทน้ำมันแห่งชาติจีน (China National Petroleum Company) เกิดรั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้น้ำประปาในเมืองปนเปื้อนสาร “เบนซิน” เกินมาตรฐาน