xs
xsm
sm
md
lg

งานวิจัยระบุ การเลี้ยงลูกด้วย “นมแม่” อาจช่วยลดความเสี่ยงเป็น “โรคหัวใจ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - งานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งนำออกเผยแพร่วันนี้ (23 เม.ย.) ชี้ว่า คนที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อย และได้กินนมแม่เพียงช่วงเวลาสั้นๆ อาจมีโอกาสเข้าสู่สภาวะอักเสบเรื้อรัง ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจในผู้ใหญ่

จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างเกือบ 7,000 คน คณะนักวิจัยในสหรัฐฯ พบว่าน้ำหนักตัวในช่วงแรกเกิด หรือระยะเวลาในการบริโภคนมแม่มีความเชื่อมโยง “อย่างมีนัยสำคัญ” กับระดับโปรตีนซี - รีแอคทีฟ (CRP) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้สภาวะอักเสบที่พบได้ในตัวอย่างเลือดของคนรุ่นหนุ่มสาว

โปรตีนชนิดนี้เป็นสารที่ตับผลิตออกมา โดยที่ระดับของโปรตีนจะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อร่างกายของบุคคลมีอาการอักเสบ

“คาดการณ์ได้ว่าน้ำหนักแรกเกิดที่เพิ่มขึ้นแต่ละปอนด์ จะส่งผลให้ค่าความเข้มข้นของ CRP ลดลง 5 เปอร์เซ็นต์” ทั้งนี้เป็นคำกล่าวของมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น ที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญได้เข้าร่วมทำการวิจัย ซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสาร “โพรซีดดิงส์ ออฟ เดอะ รอยัล โซไซตี บี”

“การได้ดื่มนมแม่ตั้งแต่ 3 - 12 เดือนจะช่วยให้ระดับของ CRP มีแนวโน้มลดลง 20 - 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับบุคคลที่ไม่มีโอกาสได้บริโภคนมแม่”

การศึกษาชิ้นนี้พบว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ “มีสรรพคุณที่มีประสิทธิภาพสูงเช่นเดียวกับ” ยาลดระดับ CRP ที่ให้คนหนุ่มสาวรับประทาน

ทั้งนี้ เป็นรับรู้กันมานานแล้วว่า สภาวะอักเสบเรื้อรังมีความเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและหลอดเลือด แม้จะยังไม่สามารถระบุถึงสาเหตุที่แน่ชัดได้ก็ตาม

งานวิจัยของสหรัฐฯ ชิ้นนี้จัดทำในกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุระหว่าง 24 - 32 ปี จากหลายเชื้อชาติ และหลากภูมิหลังทางการศึกษา ทั้งยังมีการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างพี่น้อง เพื่อชี้ให้เห็นว่า การเลี้ยงดูในสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจสังคมที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงนั้นไม่ได้มีอิทธิพลต่อผลลัพธ์ที่ออกมา

อลัน กัตต์มาเชอร์ ผู้อำนวยการสถาบัน ยูนีซ เคนเนดี ชริฟเวอร์ เพื่อสุขภาพเด็กและพัฒนาการของมนุษย์แห่งชาติระบุว่า “ผลการศึกษาชี้ว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจในวัยผู้ใหญ่ได้อย่างมาก”

ทางด้านองค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่าการให้นมแม่เป็น “หนึ่งในวิธี” ที่ช่วยให้เด็กมีสุขภาพที่ดีและมีชีวิตรอด “ได้อย่างมีประสิทธิผลมากที่สุด”

นอกจากนี้ องค์การชำนาญการด้านสุขภาพขององค์การสหประชาชาติยังเสนอแนะว่า ในช่วง 6 เดือนแรก ควรให้ลูกกินแต่นมแม่ แต่ชี้ว่ามีเด็กทั่วโลกน้อยว่า 40 เปอร์เซ็นต์ที่มีโอกาสได้ดื่มนมแม่จนครบช่วงเวลาที่แนะนำ

กำลังโหลดความคิดเห็น