เอเจนซีส์ – ภาพพจน์ด้านความปลอดภัยของมาเลเซีย แอร์ไลน์ส สั่นคลอนอีกครั้ง หลังจากเที่ยวบินสู่บังกาลอร์ต้องวนกลับลงจอดฉุกเฉินที่กัวลาลัมเปอร์ เนื่องจากยางระเบิดขณะทะยานขึ้น ขณะที่การค้นหา MH370 ทั้งใต้น้ำและเหนือผิวน้ำยังไม่พบเบาะแสเพิ่มเติมใดๆ และออสเตรเลียเผยเร็วๆ นี้ อาจต้องปรับกลยุทธ์การค้นหาใหม่อีกหน
มาเลเซีย แอร์ไลน์ส (MAS) แถลงเมื่อวันอาทิตย์ (20) ว่า เที่ยวบิน MH192 ที่เดินทางด้วยเครื่องโบอิ้ง 737-800 และมีจุดหมายปลายทางที่เมืองบังกาลอร์ในอินเดีย ต้องวกกลับสู่สนามบินกัวลาลัมเปอร์ เนื่องจากสายการบินให้ความสำคัญสูงสุดในเรื่องความปลอดภัย
ฮิชามมุดดิน ฮุสเซน รัฐมนตรีคมนาคมมาเลเซีย ทวีตว่า เที่ยวบินดังกล่าวพร้อมผู้โดยสาร 159 คนและลูกเรือ 7 คน ลงจอดอย่างปลอดภัยเมื่อเวลา 0.56 น. วันจันทร์ (ตามเวลาไทย) หรือเกือบ 4 ชั่วโมงหลังขึ้นจากสนามบิน เพื่อใช้เชื้อเพลิงให้ได้ตามกำหนดก่อนลงจอด
อนึ่ง เดือนที่ผ่านมา เที่ยวบินของ MAS ที่มุ่งหน้าสู่โซลต้องหันหัวกลับสู่ฮ่องกงเนื่องจากข้อบกพร่องของระบบไฟฟ้า
ชื่อเสียงด้านความปลอดภัยของ MAS ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการสูญหายปริศนาของเที่ยวบิน MH370 ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคมในเส้นทางกัวลาลัมเปอร์-ปักกิ่ง ซึ่งเชื่อกันว่า เครื่องบินถูกเปลี่ยนเส้นทางโดยเจตนาและสุดท้ายตกลงในมหาสมุทรอินเดียพร้อมผู้โดยสารและลูกเรือ 239 คน
ปฏิบัติการค้นหา MH370 ของนานาชาติที่มีออสเตรเลียเป็นผู้นำทีมและประสานงาน พยายามสำรวจบริเวณที่เชื่อว่า เป็นจุดตกอย่างละเอียดเพื่อค้นหาซากเครื่องบินและกล่องบันทึกข้อมูลการบินเพื่อไขปริศนาการหายสาบสูญของเครื่องบินลำนี้
ทว่า หลังจากค้นหามาครบ 45 วันในวันจันทร์ยังไม่พบชิ้นส่วนใดๆ ของเครื่องบิน เบาะแสเท่าที่มีคือ สัญญาณจากใต้น้ำที่เชื่อว่า มาจากกล่องบันทึกข้อมูลการบินของ MH370 อย่างไรก็ดี ตลอดเวลาเกือบ 2 สัปดาห์มานี้ไม่พบสัญญาณใต้น้ำอีกเลย ซึ่งเป็นไปได้ว่า เนื่องจากแบตเตอรี่ของกล่องบันทึกข้อมูลการบินหมดพลังงาน
นอกจากนั้น การส่งยานดำน้ำอัตโนมัติ บลูฟิน-21 พร้อมอุปกรณ์สแกนสัญญาณโซนาร์ลงไปสำรวจใต้ทะเลในความลึกอย่างต่ำ 4,500 เมตรมานานกว่าสัปดาห์ ครอบคลุมพื้นที่ค้นหาที่กำหนดไว้ 2 ใน 3 ยังคงไม่พบร่องรอยใดๆ เช่นเดียวกัน
ศูนย์ประสานงานตัวแทนร่วม (JACC) ของออสเตรเลียแถลงเมื่อวันจันทร์ว่า บลูฟิน-21 จะปฏิบัติภารกิจค้นหารอบที่ 9 ในวันจันทร์ในรัศมี 10 กิโลเมตรที่ค้นพบสัญญาณใต้น้ำเมื่อต้นเดือน และคาดว่า ภารกิจทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายในหนึ่งสัปดาห์ ขณะที่เครื่องบินทหาร 10 ลำ และเรือ 11 ลำค้นหาซากเครื่องบินบนผิวน้ำในอาณาบริเวณเกือบ 50,000 กิโลเมตร
JACC ยังระบุว่า การค้นหาอาจเผชิญอุปสรรคจากพายุหมุนเขตร้อนแจ็คที่กำลังมุ่งหน้าสู่บริเวณดังกล่าว
แนวโน้มที่การค้นหาจะจบลงโดยปราศจากความคืบหน้าใดๆ ส่งผลให้ทีมค้นหาถูกกดดันให้พิจารณากลยุทธ์ต่อไป
รัฐบาลมาเลเซียนั้นระบุว่า การค้นหามาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ และรัฐมนตรีคมนาคมสำทับว่า อาจพิจารณาเพิ่มเรือดำน้ำอัตโนมัติในการค้นหา
ขณะเดียวกัน คิม บีซลีย์ เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำสหรัฐฯ เปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์ว่า ในอีกไม่กี่วันนี้หากยังไม่พบเบาะแสใดๆ ออสเตรเลียจะพิจารณาว่า จะเปลี่ยนแปลงหรือลดระดับการค้นหา MH370 หรือไม่ โดยจะหารือกับทุกประเทศที่ร่วมค้นหา
การเปลี่ยนแปลงที่ว่าจะรวมถึงการปรับปฏิบัติการค้นหาทางอากาศและพื้นผิวน้ำ และความเป็นไปได้ในการนำผู้รับช่วงสัญญาภาคเอกชนมาแทนทรัพยากรทางทหารบางส่วน
นอกจากนี้ JAAC ยังอาจประเมินการคำนวณทางคณิตศาสตร์ที่ใช้ในการระบุตำแหน่งที่มาสัญญาณ ping จากใต้มหาสมุทรใหม่ รวมถึงสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ที่ MH370 ส่งโต้ตอบกับดาวเทียมสื่อสาร