รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - ตำรวจยูเครนสามารถผลักดันกลุ่มผู้ประท้วงนิยมมอสโกให้ออกไปจากอาคารบริหารระดับภูมิภาคแห่งหนึ่งได้สำเร็จ ด้วยการปฏิบัติการแบบสายฟ้าแลบช่วงกลางคืน แต่พวกผู้ชุมนุมฝักใฝ่รัสเซียในอีก 2 เมืองใหญ่ทางภาคตะวันออกของประเทศ ยังคงดำเนินการประท้วงต่อไปในวันอังคาร (8 เม.ย.) ท่ามกลางเสียงประณามจากรัฐบาลชั่วคราวนิยมตะวันตกในเมืองหลวงเคียฟที่ระบุว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเหล่านี้เป็นแผนการที่มีรัสเซียอยู่เบื้องหลัง ซึ่งมุ่งหมายที่จะทำให้ยูเครนแตกออกเป็นเสี่ยงๆ
กระทรวงมหาดไทยของยูเครนแถลงว่า มีการยิงปืนและขว้างระเบิดมือ รวมทั้งจับกุมพวกผู้ประท้วงไว้ได้ 70 คน ในการปฏิบัติการ “ต่อต้านการก่อการร้าย” ของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งดำเนินไปราว 18 นาทีเมื่อคืนวันจันทร์ (7) เพื่อยุติการยึดครองอาคารบริหารของรัฐในเมืองคาร์คิฟ
แต่ตามจุดอื่นๆ ในเขตภาคตะวันออกของยูเครน ซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่ประชากรเป็นชาวยูเครนทว่าพูดภาษารัสเซียเป็นส่วนใหญ่นั้น ยังคงปรากฏกลุ่มนักคลื่อนไหวที่ถือปืนอาก้าเป็นอาวุธ คอยป้องกันแนวรั้วลวดหนามและเครื่องกีดขวาง โดยประกาศว่าพวกเขาจะไม่ยอมถอยหลังกลับจนกว่าจะได้ตามข้อเรียกร้อง นั่นคือการจัดลงประชามติเพื่อให้ดินแดนเหล่านี้กลับไปผนวกรวมกับรัสเซีย
รัฐบาลชั่วคราวของยูเครนระบุว่า การเข้ายึดอาคารที่ทำการของรัฐบาลท้องถิ่นตามเมืองใหญ่หลายแห่งในภาคตะวันออกของประเทศซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่คืนวันอาทิตย์ (6) ที่ผ่านมานั้น คือการก่อเหตุซ้ำรอยสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วในแหลมไครเมีย ซึ่งมอสโกประกาศผนวกรวมเข้ากับรัสเซียในเดือนมีนาคม ภายหลังการจัดลงประชามติ โดยที่กองทหารแดนหมีขาวเข้าควบคุมพื้นที่เอาไว้แล้ว
ทางด้าน เซียร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ได้ออกมาแถลงปฏิเสธข้อกล่าวหาของฝ่ายตะวันตกที่ว่า มอสโกกำลังสั่นคลอนเสถียรภาพของยูเครน โดยเขากล่าวว่าสถานการณ์จะกระเตื้องดีขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อกรุงเคียฟยินยอมพิจารณาถึงผลประโยชน์ของเขตพื้นที่ซึ่งประชากรจำนวนมากเป็นผู้พูดภาษารัสเซีย
ทว่า อังกฤษแสดงความวิตกว่ารัสเซียมุ่งหวังที่จะก่อกวนการเลือกตั้งประธานาธิบดีของยูเครนซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในเดือนหน้า โดยที่ในเวลานี้ผู้ที่ปกครองประเทศนี้อยู่ยังคงมีฐานะเป็นคณะรัฐบาลชั่วคราว ซึ่งขึ้นบริหารยูเครนหลังจากการโค่นล้มประธานาธิบดีวิกตอร์ ยานูโควิช ที่เป็นผู้สนับสนุนรัสเซีย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ยูเครน ซึ่งตกอยู่ใต้การควบคุมของมอสโกจวบจนกระทั่งสหภาพโซเวียตล่มสลายไปเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ได้เข้าสู่ภาวะปั่นป่วนวุ่นวายตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เมื่อยานูโควิชปฏิเสธไม่ยอมลงนามในข้อตกลงที่จะทำให้ยูเครนเข้าใกล้ชิดกับสหภาพยุโรป (อียู) ทั้งทางการค้าและทางการเมือง แล้วพยายามหันเหให้ประเทศกลับไปสนิทสนมกับรัสเซียอีกครั้งหนึ่ง การกระทำเช่นนี้ทำให้พวกที่นิยมยุโรปในกรุงเคียฟและทางภาคตะวันตกของประเทศ ออกมาประท้วงอย่างยืดเยื้อยาวนาน และเกิดการเสียเลือดเสียเนื้อมีผู้เสียชีวิตไปกว่า 100 คน จวบจนกระทั่งมีการโค่นล้มยึดอำนาจจากยานูโควิชในที่สุด ทว่าก็นำไปสู่การที่เคียฟสูญเสียการควบคุมแหลมไครเมียให้แก่มอสโก
ในกรุงเคียฟ อาร์เซน อะวาคอฟ รักษาการรัฐมนตรีมหาดไทย ระบุว่า ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย คือผู้รับผิดชอบการเข้ายึดครองอาคารบริหารของภาครัฐในเมืองคาร์คิฟ “ทั้งหมดนี้ล้วนแต่ได้รับแรงบันดาลใจและได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากกลุ่มปูติน-ยานูโควิช” เขาบอก