เอเอฟพี – บรรดาผู้นำของยูเครน ที่มีชาติตะวันตกคอยหนุนหลังเมื่อวันศุกร์ (4 เม.ย.) ได้เร่งหาแหล่งพลังงานใหม่ หลังรัสเซียปรับขึ้นราคาแก๊สสูงลิ่วถึง 80 เปอร์เซ็นต์ เพื่อตอบโต้การโค่นล้มระบอบปกครองซึ่งมีจุดยืนสนับสนุนรัสเซีย
ทั้งนี้ ประเทศที่กำลังเผชิญวิกฤตแห่งนี้จะต้องซื้อแก๊สปริมาตร 1,000 ลูกบาศก์เมตร ในราคาถึง 485.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 15,700 บาท) จากเดิมที่ 268.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 8,700 บาท) ภายหลังที่แดนหมีขาวประกาศขึ้นราคาถึงสองรอบในช่วง 3 วันที่ผ่านมา โดยสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า รัสเซียกำลังไม่พอใจอดีตชาติสมาชิกสหภาพโซเวียต ที่หันไปฝักใฝ่ฝ่ายตะวันตก อย่างรุนแรง
ยูรี โปรดัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยูเครน กล่าวว่าอัตราราคาใหม่นี้เป็นการกดดันทาง “การเมือง” พร้อมทั้งเรียกร้องให้หาหนทางแก้ไขปัญหา เป็นต้นว่า การหันไปพึ่งพาพลังงานถ่านหิน ซึ่งเป็นทรัพยากรก่อมลพิษ ที่ทำให้คุณภาพอากาศในประเทศต่างๆ อย่างจีนเข้าขั้นวิกฤตอยู่ทุกวันนี้
“เรากำลังทบทวนสมดุลพลังงานไฟฟ้า และเชื้อเพลิงสำหรับปี 2014 เรากำลังพิจารณาว่าจะหันมาใช้ถ่านหินในประเทศแทนแก๊สธรรมชาติให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้” โปรดันกล่าวกับคณะรัฐมนตรีผ่านทางเว็บไซต์ของรัฐบาลยูเครน
ทั้งนี้ เกือบตลอดหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ยูเครนต้องพึ่งพาพลังงานถ่านหิน แม้ว่าสถาบันระดับโลกอย่างธนาคารโลกจะพยายามช่วยให้กรุงเคียฟเลิกใช้ทรัพยากรธรรมชาติชนิดนี้ หลังตีตัวออกห่างจากรัสเซียแล้วก็ตาม
ทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) ประมาณการว่า ถ่านหินนั้นคิดเป็นสัดส่วนราว 30 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณพลังงานทั้งหมดในยูเครน เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการใช้แก๊สธรรมชาติที่ 40 เปอร์เซ็นต์
***“มูดีส์” หั่นเรตติ้งยูเครน***
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (4) เป็นอีกครั้งที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ “มูดีส์” ปรับลดความน่าเชื่อถือของยูเครน โดยอ้างว่าเป็นมาผลจากวิกฤตการเมืองที่กำลังทวีความตึงเครียด ทั้งยังให้ภาพรวมเป็น “ลบ” ซึ่งบ่งชี้ว่าในระยะกลางยูเครนมีสิทธิ์ถูกปรับลดความน่าเชื่อถือลงอีก
“มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส” ได้หั่นเรทติ้งยูเครนลดลงเหลือเกรด “Caa3” จากเดิมที่ระดับ “Caa2” ซึ่งเป็นการปรับลดหนึ่งขั้นเช่นเดียวกับเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ สถาบันจัดอันดับเรตติ้งเจ้านี้ชี้ว่า ปัจจัยที่ผลักให้เศรษฐกิจและการคลังของยูเครนซึ่งตกอยู่ในสภาพไร้เสถียรภาพมานาน ถูกปรับลดความน่าเชื่อถือมีด้วยกัน 3 ประการ
ประการแรกคือ “วิกฤตการเมืองยูเครนที่กำลังทวีความตึงเครียด ดังสังเกตได้จากการเปลี่ยนระบอบปกครองเมื่อไม่นานมานี้ และการที่รัสเซียผนวกสาธารณรัฐไครเมีย ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของยูเครนเข้าเป็นดินแดนของตน” มูดีส์กล่าว พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่า รัสเซียซึ่งมีความน่าเชื่อถือในระดับ “Baa1” ก็เสี่ยงต่อการถูกปรับลดเรทติ้งเช่นกัน
ประการที่สองคือ สภาพคล่องภายนอก (external liquidity) ที่กำลังสั่นคลอน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากเงินตราต่างประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง และรัสเซียถอนความช่วยเหลือทางการเงิน ตลอดจนราคาของแก๊สนำเข้าทะยานสูงขึ้น
ปัจจัยที่สามคือ เสถียรภาพทางการเงินของยูเครนกำลังสั่นคลอน