xs
xsm
sm
md
lg

“วิกฤตยูเครน” กระเทือนถึงอวกาศ หลัง “นาซา” ตัดสัมพันธ์รัสเซีย แต่ยังร่วมมือกันบนสถานีอวกาศได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอพี - ภายหลังที่เคยเน้นย้ำมาโดยตลอดว่าความสัมพันธ์บนอวกาศไม่มีวันสั่นคลอนเพราะประเด็นของการเมืองบนโลก องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) วานนี้ (2 เม.ย.) ได้ออกมาแถลงว่ากำลังตัดสัมพันธ์กับรัสเซีย แต่จะยังร่วมมือกันปฏิบัติภารกิจบนสถานีอวกาศนานาชาติเหมือนเดิม

บันทึกข้อความที่ส่งถึงลูกจ้างระบุว่า ลูกจ้างขององค์การนาซาจะต้องไม่เดินทางไปแดนหมีขาว หรือต้อนรับชาวรัสเซียจนกว่าจะมีการแจ้งรายละเอียดให้ทราบเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังห้ามไม่ให้พวกเขาส่งอีเมล หรือจัดการประชุมทางไกลกับลูกจ้างนาซาในรัสเซีย ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากแดนหมีขาวผนวกสาธารณรัฐไครเมีย ที่เคยเป็นดินแดนของยูเครน เข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ

อย่างไรก็ตาม นาซาระบุในคำแถลงที่นำออกเผยแพร่เมื่อช่วงดึกคืนวานนี้ (2) ว่าข้อห้ามนี้ไม่รวมถึงกิจกรรมต่างๆ บนสถานีอวกาศ โดยหน่วยงานด้านอวกาศของนาซาและรัสเซียจะ “ยังทำงานร่วมกันเพื่อให้ปฏิบัติการ (บนสถานีอวกาศ) คงดำเนินต่อไปอย่างปลอดภัยและต่อเนื่อง”

นับตั้งแต่ปลดประจำการยานอวกาศ นาซาก็ต้องพึ่งพารัสเซียทุกครั้งที่ขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่บนสถานีอวกาศนานาชาติ โดยนักบินอวกาศต้องเสียค่าใช้จ่ายเกือบคนละ 71 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 2.3 พันล้านบาท) เพื่อขึ้นไปกับยานอวกาศ “โซยุซ” ของแดนหมีขาว

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จรวดของรัสเซียได้นำนักบินอวกาศ 3 คน ซึ่งหนึ่งในจำนวนนี้คือ สตีฟ สวอนสัน ชาวอเมริกัน โดยการทดลองครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ รัสเซีย ยุโรป ญี่ปุ่น และแคนาดา โดยนักบินอวกาศชาวอเมริกันได้ผ่านการอบรมที่รัสเซียก่อนจะถูกส่งขึ้นสู่สถานีอวกาศ และคาดว่าคำสั่งใหม่จะไม่ส่งผลต่อปฏิบัติการของพวกเขา

การเปลี่ยนแปลงคราวนี้มีขึ้นภายหลังเมื่อวันที่ 4 มีนาคม นาซารับรองว่าสายสัมพันธ์ด้านอวกาศระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียจะไม่สั่นคลอน แม้วิกฤตยูเครนกำลังตึงเครียด

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นาซายังออกมาเน้นย้ำความเชื่อเดิมอีกครั้ง เมื่อรัสเซียผนวกคาบสมุทรไครเมีย อดีตดินแดนของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ

“เราไม่คิดว่า สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนในปัจจุบัน จะส่งผลกระทบต่อความร่วมมือด้านอวกาศพลเรือนกับรัสเซีย ที่ดำเนินมานานหลายทศวรรษ” คำแถลงของหน่วยงานระบุ

ภายหลังที่บันทึกฉบับนี้ได้รับการเปิดเผยวานนี้ (2) นาซาก็ออกมายืนยันว่ากำลังระงับการติดต่อกับรัสเซียหลายช่องทาง พร้อมกับตำหนิรัฐสภาอเมริกันว่า นาซาคงจะไม่ต้องพึ่งพารัสเซียเพื่อขึ้นไปบนสถานีอวกาศ หากหน่วยงานไม่ได้ถูกตัดงบประมาณ นอกจากนี้ หน่วยงานด้านอวกาศแห่งนี้ยังกล่าวด้วยว่า กำลังมองหาบริษัทจรวดเอกชน เพื่อส่งนักบินอวกาศในปี 2017

ก่อนหน้านี้ในสัปดาห์เดียวกัน รัฐสภาสหรัฐฯ และ องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ได้ยกระดับมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียซึ่งผนวกดินแดนไครเมีย โดยรัฐสภาสหรัฐฯ ส่งร่างกฎหมายค้ำประกันเงินกู้มูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 3.2 หมื่นล้านบาท) แก่ยูเครน เพื่อให้ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ลงนาม ทั้งยังประกาศคว่ำบาตรรัสเซียหนักข้อขึ้นอีก ขณะที่บรรดารัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของชาติสมาชิกนาโตได้สั่งยุติการให้ความร่วมมือกับรัสเซีย ทั้งทางพลเรือนและทางทหาร

ทางด้าน สกอตต์ เพซ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายอวกาศ จากมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตันกล่าวว่า การที่นาซากับรัสเซียยังร่วมมือกันบนสถานีอวกาศต่อไปเป็นสิ่งที่น่าสังเกต

“เรากับรัสเซียมีสายสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งมาก เราต้องพึ่งพวกเขาเหมือนที่พวกเขาต้องพึ่งเรา” เขากล่าว พร้อมทั้งระบุเพิ่มเติมว่า “การตัดสัมพันธ์จึงไม่ใช่ทางออก”

เพซชี้ว่า อาจเกิดความแตกแยกขึ้นในหมู่นักวิทยาศาสตร์ขององค์การนาซา ที่ต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือทำงานด้านการทดลองร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซีย

ข้อห้ามติดต่อนี้ถูกบังคับใช้กับการติดต่อสื่อสารทางตรง ระหว่างองค์การนาซากับ “รอสกอสมอส” สำนักงานอวกาศของรัสเซียเท่านั้น โดยไม่รวมถึงการประชุมที่รัสเซียเข้าร่วมกับชาติอื่นๆ
ยานอวกาศ โซยุซ ของรัสเซีย (ซ้าย) นำนักบินอวกาศ 3 คนขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (27 มี.ค.)
กำลังโหลดความคิดเห็น