xs
xsm
sm
md
lg

ออสซีเตือนหา 370 “นานและลำบาก” มาเลย์เปิด “บันทึกสนทนา” ห้องนักบิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเจนซีส์ - เจ้าหน้าที่สืบสวนกำลังนำบทสนทนาสุดท้ายระหว่างหอควบคุมภาคพื้นดิน กับห้องนักบินของ MH370 ไปตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งอาจทำให้ทราบว่าใครควบคุมห้องนักบินอยู่ รวมถึงอาจรู้ว่าผู้ที่กำลังสื่อสารจากห้องนักบินมีความเครียดหรือความกดดันหรือไม่ ขณะเดียวกัน อดีตนายทหารใหญ่ออสเตรเลียผู้ทำหน้าที่ประสานงานการค้นหา แถลงเตือนว่า ปฏิบัติการค้นหาเครื่องบินโดยสารของมาเลเซียแอร์ไลน์สที่ยังหายสูญคราวนี้ อาจใช้เวลายาวนานและถือเป็นภารกิจท้าทายที่สุดเท่าที่เคยประสบมา

ในวันอังคาร (1) ทางการกัวลาลัมเปอร์ได้เผยแพร่บันทึกถอดเสียงบทสนทนาฉบับเต็ม ระหว่างห้องนักบินของเครื่องบินโดยสารในเที่ยวบิน MH370 กับทางหอบังคับการบิน ซึ่งบ่งชี้ถึงการติดต่อสื่อสารตามปกติ โดยที่ผู้อยู่ในห้องนักบินรายงานให้หอบังคับการทราบว่า ได้นำเครื่องขึ้นสู่ระดับเพดานบินสำหรับการเดินทางปกติ และออกจากน่านฟ้ามาเลเซียเข้าสู่น่านฟ้าเวียดนามแล้ว

ตามบันทึกถอดเสียงนี้ถ้อยคำสุดท้ายจากห้องนักบินซึ่งหอควบคุมภาคพื้นดินในสนามบินนานาชาติกัวลาลัมเปอร์ได้รับเมื่อเวลา 01.19 น.วันที่ 8 มีนาคม คือ “ราตรีสวัสดิ์ มาเลเซีย 3-7-0” (Good night Malaysian three seven zero) ซึ่งผิดแปลกจากที่รัฐบาลแดนเสือเหลืองได้เคยแถลงว่า ถ้อยคำสุดท้ายจากห้องนักบิน MH370 คือ “เรียบร้อยดี ราตรีสวัสดิ์” (All right, good night)

ไม่กี่นาทีหลังจากประโยคสุดท้ายนี้ ระบบสื่อสารของเครื่องบินก็ถูกปิด และข้อมูลจากดาวเทียมและเรดาร์ทหารบ่งชี้ว่า เครื่องได้หันหัวกลับและบินผ่านคาบสมุทรมาเลเซียมุ่งหน้าสู่มหาสมุทรอินเดีย

มาเลเซียนั้นถูกวิจารณ์มาตลอดเกี่ยวกับการบริหารจัดการการค้นหาและการสืบสวนสอบสวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารกับสื่อมวลชนและญาติผู้โดยสาร

ในวันอังคารเช่นกัน รัฐบาลมาเลเซียยังแถลงว่า ตำรวจและเจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์กำลังพยายามตรวจสอบเพื่อยืนยันว่า เสียงสนทนาถ้อยคำสุดท้ายจากห้องนักบินเป็นเสียงนักบินผู้ช่วยอย่างที่เชื่อแต่แรกหรือไม่
พล.อ.อ.แองกัส ฮูสตัน อดีตผู้บัญชาการกองทัพออสเตรเลีย ซึ่งเป็นหัวหน้าศูนย์ประสานงานร่วมในภาคกิจค้นหาเที่ยวบิน MH370
ขณะเดียวกัน ปฏิบัติการค้นหา MH370 ที่ล่วงสู่สัปดาห์ที่สี่ยังคงคว้าน้ำเหลว หลังจากเที่ยวบินนี้หายไปจากจอเรดาร์พลเรือนเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พร้อมกับผู้โดยสารและลูกเรือรวม 239 คน

พื้นที่ค้นหาย้ายจากเวียดนามไปยังน่านน้ำด้านตะวันตกของมาเลเซีย และอินโดนีเซีย หลังจากผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับอย่างจำกัดจากเรดาร์และดาวเทียม ก่อนที่จะย้ายไปอีกหลายจุดทางตะวันตกของออสเตรเลีย โดยพื้นที่ค้นหาปัจจุบันครอบคลุมอาณาบริเวณ 254,000 ตารางกิโลเมตร หรือเท่ากับประเทศไอร์แลนด์ และใช้เวลาบินจากเมืองเพิร์ธ รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ราว 2 ชั่วโมงครึ่ง

ถึงแม้มีการเก็บกู้วัตถุต้องสงสัยขึ้นจากท้องทะเลเพิ่มมากขึ้น แต่ก็กลับเป็นเพียงขยะและซากอุปกรณ์ทำประมง ไม่มีชิ้นใดเชื่อมโยงถึงเครื่องบินที่หายไปไร้ร่องรอยนี้เลย

ศูนย์รักษาความปลอดภัยทางทะเลของออสเตรเลียเผยวันอังคารว่า ได้ส่งเครื่องบิน E-7A เวดจ์เทล ที่ติดตั้งเรดาร์ขั้นสูงไปประจำเหนือมหาสมุทรอินเดีย เพื่อควบคุมการจราจรทางอากาศป้องกันการชนกันระหว่างเครื่องบินที่ร่วมค้นหา 370

ทางด้าน พล.อ.อ.แองกัส ฮูสตัน อดีตผู้บัญชาการกองทัพออสเตรเลีย ซึ่งเป็นหัวหน้าศูนย์ประสานงานร่วมที่ก่อตั้งขึ้นใหม่หมาดๆ ชี้แจงว่า E-7A เวดจ์เทล ซึ่งเป็นเครื่องโบอิ้ง 737 ที่ได้รับการปรับแต่งดัดแปลง จะทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบน่านฟ้าที่มีการจราจรแออัด บริเวณพื้นที่ค้นหาที่อยู่ห่างจากทางตะวันตกของเพิร์ทราว 2,000 กิโลเมตร และห่างจากศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศภาคพื้นดินที่ใกล้ที่สุดหลายร้อยกิโลเมตร

ทั้งนี้ การค้นหาในวันอังคารที่มีเครื่องบิน 11 ลำ และเรือ 9 ลำร่วมปฏิบัติภารกิจนั้น มุ่งเน้นพื้นที่เกือบครึ่งหนึ่งของบริเวณค้นหา หรือประมาณ 120,000 ตารางกิโลเมตร ท่ามกลางสภาพอากาศและทัศนวิสัยที่ไม่ค่อยจะเอื้ออำนวย

เครื่องบินบางลำบินเหนือน้ำเพียง 60 เมตร และบางครั้งลดระดับลงต่ำกว่านั้น ทำให้เกิดความกังวลว่า อาจชนกับเรือที่ร่วมค้นหาด้วย

ฮูสตัน กล่าวว่า การค้นหาครั้งนี้เป็นภารกิจท้าทายที่สุดเท่าที่เคยพบ เนื่องจากโดยปกติแล้วจุดเริ่มต้นการค้นหาจะเป็นตำแหน่งสุดท้ายก่อนหายไปของเครื่องบินหรือยานพาหนะ แต่ในกรณี MH370 ตำแหน่งสุดท้ายก่อนสูญหายกลับอยู่ห่างไกลมากจากบริเวณที่เชื่อว่าเครื่องบินหายไปจริงๆ

“สิ่งที่เราต้องการอย่างยิ่งคือ การค้นพบซากเครื่องบิน ซึ่งอาจใช้เวลานานมาก” ฮูสตันทิ้งท้าย

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค ของมาเลเซีย มีกำหนดเดินทางไปยังเพิร์ธช่วงเย็นวันพุธ (2) เพื่อสังเกตการณ์ปฏิบัติการค้นหา และคาดว่าจะพบกับนายกรัฐมนตรี โทนี แอ็บบอตต์ ของออสเตรเลียในวันพฤหัสฯ (3)
กำลังโหลดความคิดเห็น