xs
xsm
sm
md
lg

นักธุรกิจอิตาลีที่ขึ้นไปประท้วง “มาตรการรัดเข็มขัด” บน “โดมวิหารวาติกัน” 3 วัน ยอมลงมาแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - นักธุรกิจชาวอิตาลีคนหนึ่งยุติการประท้วงนาน 3 วัน บนโดมมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์สบาซิลิกา (มหาวิหารนักบุญเปโดร) วานนี้ (31 มี.ค.) พร้อมเรียกร้องให้พระสันตะปาปาฟรานซิส ช่วยเหลือผู้ประสบวิกฤตเศรษฐกิจในอิตาลี

มาร์เชลโล ดี ฟินีซีโอ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนครรัฐวาติกันรวบตัวทันทีทันควัน และสื่ออิตาลีรายงานว่า เขาต้องเข้ารับการรักษาอาการบาดเจ็บที่ขา ซึ่งเกิดขณะปีนขึ้นยอดโดมเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (28)

“อากาศหนาวมาก ผมรู้สึกเหนื่อยเหลือเกิน” เขาระบุในเฟซบุ๊กหลังจากนั้นเพียงไม่นาน

ก่อนหน้านี้ ดี ฟินีซีโอ ซึ่งรายงานข่าวระบุว่า เป็นเจ้าของร้านกาแฟในเมืองตรีเอสเต ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของแดนมะกะโรนี โพสต์ข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์ว่า “พวกเขาเอาทุกอย่างไปจากผม แต่พวกเขาเอาศักดิ์ศรีไปจากผมไม่ได้”

ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 4 ที่ฟีนีซีโอประท้วงบนขอบหน้าต่างใกล้ยอดโดมความสูง 137 เมตร ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบของมิเกลันเจโล (Michelangelo) และปีที่แล้วเขาเคยจัดการประท้วงข้ามคืนคล้ายๆ กันนี้ โดยมีการหย่อนป้ายที่มีข้อความประณามสหภาพยุโรปว่า เป็นต้นเหตุทำให้ประเทศของเขาต้องประสบพิษเศรษฐกิจ

ในการประท้วงระลอกล่าสุดนี้ เขากางป้ายผ้าที่มีข้อความว่า “โป๊ปฟรานซิส ช่วยเราด้วย”

นอกจากนี้ เขายังเรียกร้องให้รัฐบาลอิตาลียกเลิกมาตรการรัดเข็มขัด ซึ่งส่งผลให้ตัวเลขผู้ว่างงานแดนมะกะโรนีพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

“ในนามของพระเจ้า หยุดเถอะ คุณกำลังฆ่าพวกเราทุกคน คืนชีวิตให้เรา” เขาระบุในเฟซบุ๊ก

ทั้งนี้ การฆ่าตัวตายสืบเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจได้กลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งไปทั่วอิตาลี ประเทศที่กิจการหลายแสนเจ้าต้องปิดตัวลง

เศรษฐกิจอิตาลีเริ่มฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้งในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว ภายหลังประสบสภาวะเศรษฐกิจถดถอยหลังสงครามโลกอย่างยาวนานที่สุด ทว่าเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา อัตราคนว่างงานยังทะยานสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 12.9 เปอร์เซ็นต์ จุดประกายให้เกิดความหวั่นวิตกว่า บรรดาธุรกิจต่างๆ ยังต้องดิ้นรนกอบกู้กิจการอย่างหนัก และยังไม่ต้องการว่าจ้างงาน

อัตราการว่างงานในหมู่ชาวอิตาลีที่มีอายุระหว่าง 15 ถึง 24 ปีได้พุ่งสูงขึ้นไปแตะที่ 42.4 เปอร์เซ็นต์

เมื่อวันศุกร์ (28) ต้นทุนการกู้ยืมของอิตาลีลดลง ซึ่งนับเป็นสัญญาณล่าสุดที่บ่งชี้ว่า นักลงทุนเริ่มมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจแต่ชาวอิตาลียังคงต้องทุกข์ทรมานกับการขึ้นภาษี และมาตรการรัดเข็มขัดอื่นๆ ที่ประกาศใช้ในช่วงที่วิกฤตหนี้ยูโรโซนกำลังครอบงำชาตินี้

นายกรัฐมนตรี มัตเตโอ เรนซี แห่งอิตาลี ได้ให้คำมั่นว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง ด้วยการลดภาษี ลดค่าใช้จ่ายของหน่วยงานราชการ และส่งเสริมธุรกิจ

กำลังโหลดความคิดเห็น