เอเจนซีส์ - สื่อสหรัฐฯ เช่น หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ รายงานในการพบปะเมื่อเย็นวาน(30)ระหว่าง จอห์น แคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ และ เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียประสบความล้มเหลวในการหาข้อตกลงพื้นฐานร่วมกันในการลดระดับความตึงเครียดในวิกฤตยูเครน ซึ่งทางสหรัฐฯ ตั้งข้อแม้ว่า สถานการณ์ขึ้นอยู่กับรัสเซียที่จะยอมถอนทหารออกจากยูเครนหรือไม่ ในขณะที่รัสเซียเรียกร้องให้ยูเครนมีการปกครองแบบสหพันธรัฐ และถึงแม้ทั้งสองฝ่ายจะตกลงที่จะยังคงหาทางออกร่วมในอนาคต แต่การพบปะ 4 ชม. ในกรุงปารีสยังไม่มีข้อตกลงใหม่ร่วมกัน
โดยลาฟรอฟได้แถลงข่าวหลังจากปิดห้องคุยกับแคร์รีที่กรุงปารีสเมื่อวานนี้ (30) ว่า เป็นการเจรจาที่สร้างสรรค์มาก รัสเซียต้องการให้ยูเครนมีการปกครองแบบสหพันธรัฐเพื่อปกป้องสิทธิของชาวยูเครนพูดภาษารัสเซีย โดยทั้งรัสเซียและสหรัฐฯ ต่างเห็นชอบในข้อที่ว่า จะทำงานร่วมกับรัฐบาลยูเครนเพื่อปรับปรุงสิทธินี้ และจะปลดอาวุธกลุ่มยั่วยุทางการเมืองต่างๆ ด้านนักข่าวของอัลญะซีเราะห์กล่าวว่า สหรัฐฯ ถือว่า ความเห็นของรัสเซียเรื่อง “สหพันธรัฐ” เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรับฟัง เพราะรัสเซียและยูเครนมีประวัติศาสตร์ร่วมกันมาอย่างยาวนาน
ในขณะที่อำนาจในกรุงเคียฟกลับมองเห็นว่าข้อเสนอของรัสเซียครั้งนี้เป็นเสมือนประตูหลังที่จะทำให้ยูเครนต้องเสียดินแดนเพิ่ม
ด้านแคร์รีต้องการให้รัสเซียถอนกำลังทหารออกจากยูเครน ซึ่งที่ผ่านเจ้าหน้าที่สหรัฐฯพบว่ากองกำลังรัสเซียหลายหมื่นนายประจำตามพรมแดนด้านตะวันออกของยูเครน และทำให้เกิดบรรยากาศวิตกว่ารัสเซียจะบุกยูเครน โดยแคร์รียอมรับในการแถลงข่าวหลังจากเสร็จสิ้นการเจรจาว่า “เราทั้งคู่มีความเห็น และต่างฝ่ายมีข้อเสนออยู่ในมือ แต่สหรัฐฯ ไม่สามารถทำให้รัสเซียถอนกำลังกลับมอสโกได้”
และแคร์รียังเสริมต่อว่า “ทหารเหล่านั้นอยู่ในดินแดนรัสเซีย แต่มันเป็นการเหมาะสมหรือไม่ที่จะมีกองกำลังเป็นจำนวนมากประจำอยู่ที่พรมแดนในขณะที่รัสเซียพยายามส่งสารให้โลกรู้ว่าต้องการที่จะปรับลดระดับสถานการณ์ลง”
จึงเป็นสิ่งที่ชัดเจนว่าลาฟรอฟไม่ได้รับปากในการถอนกำลังออกจากพรมแดนด้านตะวันออกของยูเครน และรัสเซียไม่มีความตั้งใจจะถอนกำลังออกจากไครเมีย ซึ่งเป็นเขตยุทธศาสตร์ทางการทหารที่สำคัญของภูมิภาคทะเลดำที่รัสเซียได้ผนวกไครเมียใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา และรัสเซียยืนยันว่าไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียอย่างสมบูรณ์แล้ว
โดยแคร์รียืนยันว่า ทั้งสหรัฐฯ และรัสเซียมีข้อสรุปร่วมกันว่า “การหาทางออกให้ยูเครนต้องมี “ยูเครน”รวมอยู่ในนั้น” และเสริมว่าทั้งสองชาติจะพยายามลดการเผชิญหน้าที่รวมถึง การลงโทษคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย ที่เพิ่งมีขึ้นหลังจากสิ้นสุดยุคสงคราวเย็น
อย่างไรก็ตาม แคร์รียังย้ำกับลาฟรอฟว่า สหรัฐฯ ไม่ยอมรับการผนวกไครเมียของรัสเซีย และถือว่า “ผิดกฎหมาย” ถึงแม้การพูดจาครั้งนี้จะเน้นหนักไปที่ต้องการห้ามไม่ให้รัสเซียรุกคืบทางทหารเข้าไปในแผ่นดินใหญ่ยูเครน
รัฐบาลโอบามาเชื่อว่า การพบปะครั้งนี้เกิดมาจากที่ฤทธิ์การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียกำลังมีผลกระทบ และทางมอสโกนอกจากจะพยายามที่จะป้องกันไม่ให้มีการขยายขอบเขตคว่ำบาตรเพิ่มขึ้นในอนาคต และยังจะต้องการให้ยกเลิกมาตรการกดดันทางเศรษฐกิจนี้อีกด้วย โดยทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปขู่ที่จะออกมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มขึ้นหากกองทัพรัสเซียลุกคืบไปยึดครองทางภาคตะวันออกของยูเครน
นอกจากนี้ วอชิงตันยังต้องการให้รัสเซียยอมรับอำนาจรัฐบาลยูเครน และไม่ขัดขวางการเลือกตั้งประธานาธิบดียูเครนที่จะมีขึ้นในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ซึ่งรัสเซียมีความต้องการให้การเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไป ในขณะที่สหรัฐฯ ต้องการให้มีการเลือกตั้งตามกำหนดในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้
และในวันเดียวกัน (30) กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ผู้บัญชาการทหารสหรัฐฯระดับสูงในยุโรปถูกส่งตัวกลับก่อนกำหนดเพราะรัสเซียปกปิดการเคลื่อนย้ายกำลังพลตามชายแดนยูเครน
พล.อ.ฟิลิป บรีดเลิฟ ที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการร่วมนาโตในยุโรป และผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐฯประจำยุโรปได้เดินทางมาถึงยุโรปในวันเสาร์เย็น (29) ซึ่งตามจริงแล้วบรีดเลิฟมีกำหนดต้องเข้าให้ข้อมูลรายงานประจำปีกับสภาคองเกรสสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้
การตัดสินในวันศุกร์ (28) ให้ระยะเวลาที่บรีดเลิฟอยู่ในสหรัฐฯ สั้นลงนั้นมาจาก ชัค ฮาเกิล รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ที่มีความเห็นว่าบรีดเลิฟอยู่ให้การสนับสนุนพันธมิตรนาโตที่ยุโรปนั้นมีความจำเป็นมากกว่า ท่ามกลางสถานการณ์ทางทหารที่ไม่แน่นอนในยูเครน โดย พล.ร.ต.จอห์น เคอร์บี โฆษกเพนตากอนแถลงว่า “ในระหว่างที่สถานการณ์ในยูเครนยังไม่แน่นอน การเดินกลับไปประจำยังยุโรปของบรีดเลิฟจะมีประโยชน์ต่อพันธมิตรสมาชิกนาโตและเจ้าหน้าที่ในกองกำลังสหรัฐฯ ประจำยุโรป”
โดยนักข่าวอัลญะซีเราะห์สรุปว่า ความก้าวหน้าในการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียที่แท้จริงในครั้งนี้คือ ทั้งสองฝ่ายสัญญาที่จะมีการพบปะเพื่อหาข้อตกลงร่วมในครั้งต่อไป