เอเอฟพี/รอยเตอร์ - ชนกลุ่มน้อย “ตาตาร์” ในไครเมีย มีมติผลักดันแผนการประกาศให้ดินบ้านเกิดตามประวัติศาสตร์ของพวกเขา เป็นเขตปกครองตนเองวานนี้ (29 มี.ค.) หลังรัสเซียผนวกสาธารณรัฐไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดน และในเวลาที่การประสานงานระหว่างไครเมียกับเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของแดนหมีขาวยังไม่เข้ารูปเข้ารอย
ชนกลุ่มน้อยชาวตาตาร์จากทั่วไครเมียมารวมตัวกันที่เมืองบาฮ์ชืยซาไร เพื่อประชุมฉุกเฉินที่ “กูรุลไต” หรือรัฐสภาเพื่อชี้ชะตาของชุมชนชาวมุสลิมริมทะเลดำ ที่มีประชากรราว 300,000 คนแห่งนี้
“ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะต้องตัดสินใจครั้งใหญ่ในชีวิตเพื่อกำหนดอนาคต” เรฟัต ชูบารอฟ ผู้นำชนกลุ่มน้อยชาวตาตาร์กล่าว
ทั้งนี้ การลงประชามติแยกไครเมียออกจากยูเครนอย่างฉุกละหุก เมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่่ผ่านมา ถูกชาวตาตาร์ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 12 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในไครเมียต่อต้านอย่างรุนแรง และบอยคอตต์กันอย่างกว้างขวาง
ชูบารอฟกล่าวว่า หากชาวรัสเซียในไครเมียมีโอกาสกำหนดอนาคตตนเอง ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง “ก็ต้องยอมรับในหลักการที่ว่าชาวตาตาร์ในไครเมียก็มีสิทธินี้เช่นกัน”
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ ชุมชนชาวตาตาร์ ไม่ไว้ใจรัสเซียอย่างรุนแรงนั้น สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ในสมัยสงครามโลก เมื่อ โยเซฟ สตาลิน ผู้นำของสหภาพโซเวียต ผลักดันชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้กลับภูมิภาคเอเชียกลางครั้งใหญ่ โดยที่พวกเขาเพิ่งได้รับอนุญาตให้กลับถิ่นฐานบ้านเกิดได้ในช่วงปลายทศวรรษ 1980
ภายหลังหารือกันนานหลายชั่วโมง คณะผู้แทนก็มีมติให้ “ดำเนินขั้นตอนทางการเมือง และตามกฎหมาย (เพื่อ) จัดตั้งเขตปกครองตนเองของชาวตาตาร์ในไครเมีย” บนแผ่นดินเกิดของพวกเขาที่ไครเมีย
อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า พวกเขาวางแผนการไว้อย่างไร และต้องการประกาศเขตปกครองตนเองใต้ปีกของยูเครนหรือของรัสเซีย
ราวิล ไกนุตดิน ประธานผู้ชี้ขาดทางศาสนาอิสลาม (Grand Mufti) ของรัสเซียกล่าวว่า “ผืนดินนี้คือไครเมีย มาตุภูมิของชาวตาตาร์ในไครเมีย” ก่อนที่ชาวตาตาร์กว่า 200 คนที่มาเข้าร่วมการประชุมในสภาจะปรบมือชื่นชมคำพูดของเขา
นอกจากนี้ คณะผู้แทนจากแดนหมีขาวก็มาเข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ด้วย โดยการปรากฏตัวของพวกเขาจุดประกายให้เกิดความโกรธแค้น และบรรยากาศกระอักกระอ่วนชวนลังเลว่า ควรปฏิบัติต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัสเซียอย่างไร
“เราไม่ได้ปฏิเสธรัสเซีย แต่รัสเซียต่างหากที่เคยปฏิเสธเรา” ไอเช เซย์ตมูราโตวา อดีตผู้ต่อต้านของตาตาร์กล่าว ทั้งนี้เขาเคยถูกคุมขังในค่ายกักกันโซเวียตอยู่นานหลายปี ก่อนจะถูกเนรเทศ