เอพี/รอยเตอร์- องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยในวันอังคาร (25) ปัญหามลพิษทางอากาศได้คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปกว่า 7 ล้านคนเมื่อปี 2012 นับเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สร้างความเสียหายต่อสุขภาพมนุษย์มากที่สุด ชี้ กลุ่มคนยากจนและผู้มีรายได้ปานกลางใน “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เสี่ยงตายเพราะอากาศเป็นพิษมากที่สุดในโลก
องค์การอนามัยโลกเผยว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่สูงกว่า 7 ล้านคนจากปัญหามลพิษทางอากาศดังกล่าวสูงกว่าการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญกว่าเท่าตัว พร้อมชี้ การลดสิ่งปนเปื้อนในอากาศจะช่วยรักษาชีวิตของผู้คนได้หลายล้านคนในอนาคต
มาเรีย เนรา ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุขของ WHO เผยว่า มลพิษในอากาศทำให้มนุษย์เจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวกับหัวใจ หลอดเลือด และโรคระบบทางเดินหายใจ รวมถึง มะเร็งที่ปอด พร้อมเผย ประชากรกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเสียชีวิตเพราะมลพิษทางอากาศมากที่สุดคือ กลุ่มคนยากจนและผู้มีรายได้ปานกลางใน “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” และหมู่เกาะทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก จากการที่ภูมิภาคดังกล่าวมีจำนวนผู้เสียชีวิตเพราะความเจ็บป่วยจากผลของสภาพอากาศที่เลวร้ายสูงถึง 5.9 ล้านคนในปี 2012
ด้านฟลาเวีย บุสเทรโอ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาวะครอบครัวของ WHO เผยว่า ปัญหามลพิษทางอากาศที่มีผลต่อสุขภาพนั้นมิได้หมายถึง มลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นภายนอกบ้านเรือน อย่างเช่น ควันพิษจากการเผาไหม้ของรถยนต์ หรือควันจากโรงงานอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว เนื่องจาก “ควันพิษในครัวเรือน” อย่าง ควันที่เกิดจากการประกอบอาหาร ก็มีส่วนสร้างปัญหาต่อสุขภาพได้เช่นกัน
ขณะที่คาร์ลอส โดรา ผู้เชี่ยวชาญอีกรายขององค์การอนามัยโลกออกโรงเรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศต่างๆรวมถึงบรรดาหน่วยงานด้านสาธารณสุขเร่งออกมาตรการที่เป็นรูปธรรมเพื่อหาทางลดมลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการลดมลพิษทางอากาศในภาคขนส่ง พลังงาน อุตสาหกรรม และการจัดการของเสีย
ทั้งนี้ ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า 5 เมืองใหญ่ที่ได้ชื่อว่า มีค่ามลพิษภาวะทางอากาศสูงที่สุดในโลกในเวลานี้ประกอบด้วย กรุงไคโรของอียิปต์ กรุงนิวเดลีของอินเดีย เมืองกัลกัตตาของอินเดีย นครเทียนสินของจีน และนครฉงชิ่งของจีน ตามลำดับ ขณะที่กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย ครองตำแหน่งเมืองที่มีมลพิษทางอากาศสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้