รอยเตอร์ส - ความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ไบโอดีเซลจนถึงแหล่งพลังานที่พบตามหินดินดาน (Shale gas กับ tight oil) ถือเป็นภัยเงียบร้ายแรงต่อน้ำจืดสำหรับใช้สอยในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ที่ในทุกวันนี้มีจำนวนลดลงเนื่องจากผลกระทบจากภาวะโลกร้อน องค์การสหประชาชาติเตือนผ่านรายงานWorld Water Developmentที่เผยแพร่ในวันศุกร์(21)ล่วงหน้า 1 วันก่อนวัน World Water Day (22 มีนาคม)
ยูเอ็นได้กระตุ้นให้บริษัทพลังงานลงมือกระทำมากกว่านี้ในการจำกัดการใช้น้ำเพื่อผลิตพลังงาน ตั้งแต่ทำให้ถ่านหินเย็นตัวลง จนถึงใช้เป็นแหล่งชลประทานเพื่อปลูกพืชสำหรับไบโอดีเซล
ซึ่งพบว่าก่อนปี 2030 ทั้งโลกจะต้องงานน้ำจืดเพิ่มมากขึ้น 40% และต้องการพลังงานเพิ่มมากกว่า 50% จากที่เป็นอยู่ในขณะนี้ โดยรายงานของยูเอ็นฉบับนี้ได้ชี้ว่า “น้ำ”นั้นถูกคุกคามด้วยปัจจัยหลายอย่างตั้งแต่ การเพิ่มจำนวนประชากร มลพิษและภัยแล้ง น้ำท่วม และสภาวะโลกร้อน
และพบว่า ทั่วทั้งโลกมีประชากรราว 770 ล้านคนจากทั้งหมด 7 พันล้านคนที่ไม่สามารถเข้าถึงการบริโภคน้ำสะอาด และภาคพลังงานมีส่วนที่ใช้น้ำถึง 15% จากแหล่งน้ำตามธรรมชาติทั้งหมด เช่น แม่น้ำ ทะเลสาบ และแหล่งน้ำใต้ดิน
โดยรายงานฉบับนี้ได้อธิบายถึงการขาดอิทธิพลของภาคการผลิตน้ำจืดเมื่อเปรียบเทียบกับ “ภาคพลังงาน” ที่ถือเป็นภาคส่วนที่สำคัญของแต่ละประเทศและใช้การเมืองเป็นตัวผลักดัน
ในขณะที่อุตสาหกรรมพลังงานส่วนใหญ่ใช้น้ำในการผลิต ซึ่งพบว่าการผลิตพลังงานจากลมและโซลาร์เซลล์นั้นใช้น้ำน้อยที่สุด ในขณะที่การผลิตพลังงานจากแหล่งพลังานที่พบตามหินดินดานนั้นใช้น้ำมากที่สุดในการกระบวนการผลิตพลังงาน
เขื่อนพลังงานน้ำนั้นบางทีสร้างขึ้นโดยไม่คำนึงถึงว่าอาจจะมีภาคส่วนอื่นที่มีความต้องการใช้น้ำด้วยเช่นกัน และรายงานชิ้นนี้ของยูเอ็นยังเตือนให้ระวังถึงการผลิตไบโอดีเซล ที่ต้องใช้น้ำเป็นจำนวนมากในการทำชลประทานปลูกพืชพลังงาน
“ทั้งจีนและอินเดียถือเป็น 2ประเทศที่บริโภคและผลิตผลผลิตทางการเกษตรหลายชนิดมากที่สุดในโลกต่างประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการชลประทานอยู่แล้ว แต่กระนั้นทั้งจีนและอินเดียต่างได้เริ่มโครงการเพื่อการผลิตไบโอดีเซล” อ้างจากรายงานขององค์การสหประชาชาติ
ซึ่ง ซาฟาร์ อาดีล เจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูเอ็นด้านน้ำ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ได้ให้ความเห็นว่า รัฐบาลของแต่ละประเทศควรกลับมาทบทวนในการอุดหนุนทั้งพลังานและน้ำ
อย่างไรก็ตาม บรรดาบริษัทพลังงานต่างประสานเสียงว่า จะหาทางจำกัดการใช้น้ำในกระบวนการผลิต เช่น บริษัทเอ็กซอน โมบิล ได้เปิดเผยว่า ตัว้ลขการใช้น้ำโดยรวมในกระบวนการผลิตของบริษัทได้ลดลงไป 11% ถึง 2.1 พันล้านบาร์เรลในปี 2012 จากปีก่อนหน้านั้น
และท้ายที่สุดของรายงานด้านน้ำฉบับนี้ได้ยกตัวอย่างถึง การที่สามารถใช้น้ำเสียเพื่อเป็นแหล่งผลิตพลังงาน ในกรุงสตอกโฮล์ม สวีเดน ทั้งรถโดยสารสาธารณะและรถแท็กซีต่างใช้พลังงานไบโอแก๊สที่ผลิตมาจากน้ำเสียซึ่งมีมีเทนอยู่ในระดับสูง
และร่างรายงานของคณะกรรมการด้านสภาวะอากาศเปลี่ยนของยูเอ็นที่จะเผยแพร่ในวันที่ 29 มีนาคมนี้ได้ชี้ว่า ภาวะโลกร้อนจะทำให้ปริมาณน้ำจืดลดลง โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งผลกระทบจะมีในวงกว้างตั้งแต่อาหารไปจนถึงสุขภาพ