เอเอฟพี - ประธานาธิบดีบารัค โอบามาแห่งสหรัฐฯ เมื่อวันพฤหัสบดี (20 มี.ค.) แถลงมาตรการลงโทษรัสเซียรอบใหม่ ต่อกรณีผนวกไครเมียเป็นส่วนหนึ่งในดินแดน แต่มอสโก ก็ขึ้นบัญชีดำเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอเมริกาตอบโต้อย่างทันควัน ยกระดับความตึงเครียดระหว่างสองชาติให้สาหัสหนัก ขณะที่สถานการณ์ในสาธารณรัฐปกครองตนเเอง ก็ร้อนระอุขึ้นมาอีกรอบ หลังมือปืนติดอาวุธบุกยึดเรือรบของยูเครน
โอบามา ซึ่งขู่เล่นงานเศรษฐกิจของรัสเซียอย่างกว้างขวาง หากมอสโกไม่ยอมปล่อยมือจากไครเมีย ระบุในถ้อยแถลงว่า “รัสเซียควรตระหนักว่าสถานการณ์ที่ลุกลามก็รังแต่จะทำให้พวกเขาถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมนานาชาติยิ่งขึ้น”
ในมาตรการล่าสุดของสหรัฐฯต่อวิกฤตตะวันออก-ตะวันตกครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่สงครามเย็น ได้ขึ้นบัญชีดำสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของรัฐบาลรัสเซียอีก 20 คน เพิ่มเติมจาก 11 คนที่ถูกคว่ำบาตรโดยวอชิงตันไปก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ในรายชื่อเหล่านั้นรวมถึงเหล่านักธุรกิจชั้นนำที่มีความใกล้ชิดกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน อย่างเช่นมหาเศรษฐีเกนนาดี ทิมเชนโก, อาร์กาดี โรเทนเบิร์ก และบอริส โรเทนเบิร์ก เช่นเดียวกับธนาคารแห่งหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ไม่นานหลังจากนั้น สภาผู้แทนราษฏรของรัสเซียซึ่งเห็นชอบผนวกไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของดินแดน ก็ประกาศขึ้นบัญชีดำลงโทษเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ 9 คนเป็นการตอบโต้ ในนั้นมีทั้งนักการเมืองระดับอาวุโสและผู้ช่วยของประธานาธิบดีโอบามา อาทิคาร์โรไลน์ แอตกินสัน, ดาเนียล ไฟฟ์เฟอร์, เบนจามิน โรดส์ และวุฒิสมาชิกแมรี ล็องดรีเออ, จอห์น แม็กเคน รวมถึงดาเนียล โคทส์
“ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การโจมตีที่เป็นปกปักษ์แต่ละครั้งจะต้องถูกตอบโต้ด้วยวิธีการที่พอเหมาะ” กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียระบุ ขณะที่โฆษกของประธานาธิบดีปูติน กล่าวหาความเคลื่อนไหวออกมาตรการคว่ำบาตรของโอบามา ว่า “ไม่สามารถยอมรับได้”
กระนั้นก็ดี สถานการณ์ของฝ่ายรัสเซียดูเหมือนจะโดนรุม เมื่อ 28 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) กำลังรวมตัวกันที่เมืองบรัสเซลส์ เบลเยียม เพื่อจัดประชุมซัมมิทในประเด็นยูเครน เป็นครั้งที่ 2 ในเวลาห่างกันไม่ถึง 2 สัปดาห์ ด้วยประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองก์ ของฝรั่งเศส บอกว่า “พรมแดนไม่สามารถวาดใหม่ได้และไม่มีทางที่การส่งต่อเขตปกครองของชาติหนึ่งสู่อีกประเทศหนึ่งจะถูกปล่อยไปโดยปราศจากการตอบโต้ใดๆ”
ออลลองด์บอกว่า เหล่าผู้นำกลุ่มจะแถลงมาตรการลงโทษรอบใหม่ ณ ที่ประชุม 2 วันนี้และจะยกเลิกการประชุมซัมมิทอียู-รัสเซีย ที่วางแผนจัดขึ้นในเดือนมิถุนายน อย่างไรก็ตามด้วยหลายชาติที่ต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติและน้ำมันของรัสเซียอย่างมาก จึงมีความแตกแยกถึงแนวทางการคว่ำบาตรของพวกเขา ด้วยหลายชาติอึกอักที่จะเดินหน้าลงโทษทางเศรษฐกิจให้หนักหน่วงไปกว่านี้
นายอาร์เซนีย์ ยัตเซนยุค นายกรัฐมนตรีรักษาการณ์ของยูเครน จะเดินทางมายังบรัสเซลส์ด้วย เพื่อลงนามในข้อตกลงทางการเมืองกับสหภาพยุโรป ที่เคยถูกอดีตประธานาธิบดีวิกตอร์ ยานูโควิช ปฏิเสธในเดือนพฤศจิกายน จนนำมาซึ่งการประท้วงโค่นล้มเขาลงจากอำนาจ
เบื้องต้นความตึงเครียดในไครเมียในวันพฤหัสบดี (20) ดูจะผ่อนคลายลงไป หลังอเลคซานเดอร์ ตูร์ชินอฟ ประธานาธิบดีรักษาการของยูเครน แถลงว่าพลเรือตรี เซอร์เก กายดัค ได้รับการปล่อยตัวแล้ว จากเหตุการณ์กองบัญชาการกองทัพเรือของยูเครน ซึ่งตั้งอยู่ในเซวาสโตโพล อันเป็นเมืองท่าสำคัญของไครเมีย ถูกกลุ่มติดอาวุธบุกยึดเมื่อวันพุธ (19) พร้อมจับเขาและพลเมืองยูเครนจำนวนหนึ่งเป็นตัวประกัน
การบุกยึดเกิดขึ้นไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่ยูเครนจะประกาศแผนถอนกำลังจากไครเมีย ซึ่งถูกผนวกเข้ากับรัสเซียอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันอังคาร (18) ทั้งนี้เคียฟเผยว่า กำลังเตรียมอพยพทหารและครอบครัวจำนวน 25,000 คนจากไครเมียกลับสู่แผ่นดินใหญ่ยูเครน แม้มีรายงานว่า ทหารจำนวนมากแปรพักตร์ไปอยู่กับรัสเซียแล้วก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ในช่วงค่ำวันพฤหัสบดี (20) กระทรวงกลาโหมของยูเครนเปิดเผยว่าได้มีกลุ่มมือปืนติดอาวุธราวๆ 20 คน บุกยึดเรือรบลำหนึ่งของเคียฟ ซึ่งจอดเทียบอยู่ที่ท่าเซวาสโตโพล ในไครเมีย “เรือถูกยึด” วลาดิสลาฟ เซเลซนอฟ โฆษกกระกลาโหมยูเครนในไครเมียระบุบนเฟซบุ๊ก พร้อมบอกว่ากลุ่มนักรบฝักใฝ่รัสเซียและทหารรัสเซียปิดล้อมพื้นที่ เปิดทางให้เรือลำหนึ่งบรรทุกกลุ่มติดอาวุธเข้าไปถึงเรือเตอร์โนพิลและบุกเข้าไปภายใน “ระหว่างการจู่โจมมีการใช้ระเบิดแสงและได้ยินเสียงปืนกล”