(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
Sun shines on forest women
By Stella Paul
10/03/2014
ชาวเผ่าโคยา และเผ่าคอนด์ส ในเทือกเขากัตตะวันออก ทางภาคใต้ของอินเดีย อาศัยป่าเป็นแหล่งหาอยู่หากินกันมาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว และรู้จักผลผลิตจากป่าเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น สมุนไพรที่กินได้, พืชที่ใช้เป็นยา, เห็ด, ตลอดจนใบไม้, เมล็ด, และรากไม้ ของพืชหลายๆ ชนิด เวลานี้ สหกรณ์ของสตรีชาวบ้านป่าเหล่านี้ ยังกำลังใช้ประโยชน์จากแสงอาทิตย์ที่สาดส่องผ่านผืนป่า มาทำให้ธุรกิจของพวกเธอเติบโตขยายตัวอีกด้วย
อนานาตากิรี (ANANATAGIRI), อินเดีย – จินตภัคคา ชัมบูลัมมา (Chintapakka Jambulamma) มองดูตู้อบพลังแสงอาทิตย์ที่อยู่ตรงหน้าเธอด้วยความชื่นชม มันเป็นทรัพย์สินมีค่าของสหกรณ์สตรีชาวชนเผ่าอัดวิตัลลี (Advitalli Tribal Women’s Co-operative Society) ที่เป็นการรวมกลุ่มกันของผู้ประกอบการผู้หญิงซึ่งมีเธอเป็นผู้นำ
ประธานสหกรณ์วัย 34 ปีผู้นี้เลื่อนเปิดลิ้นชักของตู้อบ พร้อมกับหยิบเอาต้นฟ้าทะลายโจร (Kalmegh) ออกมากำมือหนึ่ง และร้องอุทานว่า “ดูสิ มันแห้งเร็วจังเลย”
พวกผู้หญิงจากสหกรณ์ที่รายล้อมอยู่รอบๆ ตัวเธอพากันหัวเราะลั่น ผู้หญิงเหล่านี้เป็นชาวเผ่าโคยา (Koya) และเผ่าคอนด์ส (Konds) ซึ่งพำนักอาศัยอยู่ในแถบเทือกเขากัตตะวันออก (Eastern Ghat) ทางภาคใต้ของอินเดีย สำหรับพวกเธอแล้ว ป่าก็คือบ้าน และเป็นแหล่งที่มาของทรัพยากรอันมีค่าสำหรับการดำรงชีวิต เวลานี้ผู้หญิงเหล่านี้ยังกำลังใช้ประโยชน์จากแสงตะวันที่สาดส่องผ่านผืนป่าลงมาอีกด้วย
ตู้อบพลังแสงอาทิตย์นี้มีหน้าต่างกระจก 6 บานเชื่อมต่อกัน ทางมูลนิธิโคเวล (Kovel Foundation) เป็นผู้นำมาติดตั้งให้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว มูลนิธิแห่งนี้มุ่งช่วยเหลือชาวเผ่าที่อาศัยตามบ้านป่าให้สามารถปกป้องสิทธิต่างๆ ของตนเองและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น
ตู้อบนี้ ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ตู้ที่ทางมูลนิธินำไปติดตั้งให้ชาวบ้านป่าในเวลานี้ มีมูลค่าประมาณ 1 ล้านรูปี (ราว 525,000 บาท) กฤษณะ ราว (Krishna Rao) ผู้อำนวยการมูลนิธิระบุ
เขาบอกว่ามันเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะสตรีชาวบ้านป่าเหล่านี้กำลังใช้มันมาช่วยดำเนินธุรกิจของพวกเธอให้เกิดความยั่งยืน “สหกรณ์แห่งนี้มีสมาชิกผู้หญิง 2,500 คนจาก 20 หมู่บ้าน ไม่มีคนไหนเลยที่ร่ำเรียนสูงกว่าชั้นมัธยมต้น แต่เวลานี้พวกเธอรู้วิธีทำธุรกิจเป็นอย่างดี” ราว บอกกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (Inter Press Service ใช้อักษรย่อว่า IPS)
“พวกเธอรวมตัวรวมกลุ่มกัน และทำงานกันเป็นทีมได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้น พวกเธอยังกำลังเรียนรู้เพิ่มเติมถึงวิธีการในการเก็บพวกรากไม้, ใบไม้, และผลของพืชชนิดต่างๆ ซึ่งจะไม่ไปกระทบกระเทือนต้นแม่ของมัน และจะทำให้พวกเธอมีทรัพยากรที่จะเก็บไปได้เรื่อยๆ ไม่มีหมด”
ป่าให้ประโยชน์มากกว่าเพียงแค่การตัดไม้เอาเนื้อไม้มาใช้ ผืนป่าแถบนี้ให้ผลิตผลต่างๆ มากกว่า 700 อย่าง ในรูปของสมุนไพรที่กินได้, พืชที่ใช้เป็นยา, เห็ด, ตลอดจนใบไม้, เมล็ด, และรากไม้ ของพืชหลายๆ ชนิดซึ่งใช้ประโยชน์ได้หลายหลาก ทั้งนี้ของป่าในแถบนี้ซึ่งเป็นที่รู้จักและนิยมกันมากที่สุดย่อมได้แก่ น้ำผึ้ง, ยางไม้, มะขามป้อม (Amla), ใบเทนดู (Tendu leaves), ดอกมาฮัว (Mahua flowers), และเม็ดประคำดีควาย (soap nuts)
ชาวเผ่าคอนยาและเผ่าคอนด์ส ใช้ชีวิตหาอยู่หากินโดยอาศัยของป่าเหล่านี้มาหลายร้อยปีแล้ว เปนิกาลา อิศวรามมา (Penikala Ishwaramma) หญิงวัย 23 ปี เป็นนักเก็บสมุนไพรป่าคนหนึ่งของพื้นที่นี้ ในวันที่ทำงานได้ราบรื่น เธอจะรวบรวมสมุนไพรได้ถึงราว 20-25 กิโลกรัมทีเดียว สำหรับปีนี้นับเป็นปีที่สมุนไพรฟ้าทะลายโจรในป่าเติบโตดีมาก และอิศวรามมา ก็เก็บได้มากถึง 116 กิโลกรัมทีเดียว
ที่ผ่านมา กรมป่าไม้เป็นผู้รับซื้อผลิตผลเหล่านี้เอาไว้เป็นจำนวนมาก โดยที่มีของป่ารวม 25 ชนิดซึ่งมีระเบียบกำหนดว่าต้องนำมาขายให้กรมป่าไม้เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านชนเผ่าพบว่ากระบวนการจัดซื้อของทางกรมดำเนินไปตามระบบราชการซึ่งล่าช้ามาก แถมยังให้ราคาต่ำกว่าราคาตลาดเสียอีก เป็นต้นว่า มะขามป้อม 1 กิโลกรัม กรมป่าไม้ให้ราคา 45 รูปี ขณะที่ราคาตามตลาดนั้นสูงกว่า 60 รูปีด้วยซ้ำ
ด้วยความผิดหวังกับราคาของรัฐบาลเช่นนี้เอง ที่ผลักดันให้สตรีชาวชนเผ่าหันมารวมกลุ่มสร้างธุรกิจขายของป่าของพวกเธอเองขึ้นมา และปรากฏว่าภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี พวกเธอก็สามารถทำรายได้เกือบๆ จะถึง 200,000 รูปี (ราว 105,000 บาท) ซึ่งทางมูลนิธิโคเวลให้พวกเธอกู้ยืมมา
มูลนิธิแห่งนี้ยังให้ความรู้เสริมทักษะพื้นฐานทางด้านการเป็นผู้ประกอบการ ทุกๆ วันสตรีเฉกเช่นอิศวรามมา จะนำของป่าที่เก็บรวบรวมได้มาที่สหกรณ์โดยตรง ซึ่งทีมงานบริหารจะชั่งน้ำหนักและรับซื้อ โดยที่ให้ราคาสูงกว่าอัตราของรัฐบาล
“พวกเราทำงานหนัก เก็บสมุนไพรและเม็ดพืชต่างๆ ที่มีคุณภาพ” อิศวรามมา กล่าว “ชีวิตของพวกเราต้องพึ่งพาอาศัยเงินที่ขายได้นี้ แล้วทำไมเราต้องยอมขายในราคาต่ำๆ ล่ะ”
แต่การที่สหกรณ์จะทำกำไรจากธุรกิจเช่นนี้ได้ ต้องอาศัยการผลิตสมุนไพรคุณภาพสูงให้ได้ด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ อันเป็นงานที่ยากลำบากมากสำหรับสตรีเหล่านี้ซึ่งขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมสำหรับเก็บหรือตากผลิตผลของพวกเธอ นอกจากนั้น หมู่บ้านป่าแถบนี้ยังต้องเผชิญสภาพอากาศที่เลวร้ายมากอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพายุไซโคลน
ตามข้อมูลของกรมการบริหารจัดการวินาศภัย (Disaster Management department) ของรัฐอานธรประเทศ (Andhra Pradesh) ในภาคใต้ของอินเดีย อาณาบริเวณนี้เผชิญกับพายุไซโคลนมากกว่า 60 ลูกในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา และความถี่ที่พายุพัดผ่านเข้ามาก็กำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
การใช้พลังงานแสงอาทิตย์มาอบสมุนไพรของพวกเธอให้แห้ง ช่วยให้ผู้หญิงเหล่านี้สามารถลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายลงไปได้มาก ในปี 2013 ที่ผ่านมา ป่าที่พวกเธออาศัยทำกินต้องเผชิญกับพายุไซโคลนใหญ่ถึง 5 ลูก ทว่าทางสหกรณ์ไม่ได้สูญเสียผลผลิตอะไรไปนักหนาเลย
“ก่อนที่พายุจะพัดเข้ามาถึง พวกเราจะพยายามอบสมุนไพรให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และรีบนำออกมาบรรจุให้เสร็จอย่างรวดเร็ว” ชัมบูลัมมา เล่า “เราไม่จำเป็นต้องนำเอาสมุนไพรมาตากแห้งในลานอีกต่อไปแล้ว”
เมื่อกระบวนการในการอบแห้งและในการบรรจุไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยสภาพอากาศอีกต่อไป เวลานี้ทางกลุ่มก็สามารถหันมาเน้นหนักเรื่องการสร้างเครือข่ายลูกค้าประจำ โดยเฉพาะผู้ซื้อรายใหญ่ ซึ่งจะช่วยทำให้พวกเธอมีรายได้สม่ำเสมอมากขึ้น
โภกยา ลักษมี (Bhagya Lakshmi) ผู้จัดการโครงการของมูลนิธิโคเวล ซึ่งเป็นผู้ติดต่อเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มสตรีที่ทำผลผลิตสมุนไพรเหล่านี้กับพวกโรงงานผลิต กล่าวเสริมว่า “ตอนนี้พวกเธอได้ลูกค้ารายใหญ่รายแรกแล้ว ซึ่งก็คือ บริษัทยาสมุนไพรซึ่งตั้งอยู่ในเมืองบังกาลอร์ ชื่อ บริษัทเนเจอรัล เรเมดีส์ จำกัด (Natural Remedies) ขณะนี้บริษัทขอซื้อฟ้าทะลายโจรทีนึงเป็นจำนวนมากๆ เลย เรายังกำลังพยายามหาบริษัทอื่นๆ มากขึ้นอีกที่จะมาซื้อผลผลิตจากพวกเธอ”
นอกเหนือจากหาเครือข่ายลูกค้าแล้ว สตรีกลุ่มนี้ยังกำลังวางแผนการปรับปรุงยกระดับเทคโนโลยีของพวกเธออีกด้วย ครุปา ชานติ (Krupa Shanti) เป็นหัวหน้ากลุ่มของหมู่บ้านป่า 5 แห่งในพื้นที่นี้ ชานติบอกว่าเธอรู้สึกภาคภูมิใจกับสหกรณ์ของผู้หญิงแห่งนี้มาก และต้องการให้มันเติบโตขยายใหญ่ขึ้นไปอีก
รัฐบาลได้มาจัดตั้งสถานีผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ขึ้นที่โรงเรียนใกล้ๆ แห่งหนึ่ง ซึ่งสามารถผลิตและเก็บไฟฟ้าแสงอาทิตย์ได้ ชานติจึงกำลังวิ่งเต้นติดต่อกับพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบให้มาติดตั้งสถานีเช่นนี้สักแห่งหนึ่งที่หมู่บ้านของเธอบ้าง
“รัฐบาลมีโครงการด้านสวัสดิการด้านการพัฒนาเยอะแยะมากมายไปหมด แต่สำหรับผู้หญิงบ้านป่าอย่างพวกเราแล้ว โครงการที่ดีที่สุดคืออันที่จะช่วยให้เรามีอิสระทางเศรษฐกิจ ถ้ารัฐบาลติดตั้งสถานีทำไฟฟ้าแสงอาทิตย์ขึ้นที่หมู่บ้านของพวกเราทุกๆ แห่งแล้ว เราก็จะสามารถขยายธุรกิจนี้และเปลี่ยนแปลงอนาคตของเราได้อย่างแน่นอน”
ข้อเขียนชิ้นนี้มาจาก สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (ไอพีเอส) http://www.ipsnews.net ซึ่งเป็นสถาบันเพื่อการสื่อสารระหว่างประเทศที่มีสำนักข่าวระดับโลกเป็นแกนกลาง ไอพีเอสซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1964 มีความชำนาญเป็นพิเศษในการเสนอข่าวด้านพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจ, สิทธิมนุษยชน, สิ่งแวดล้อม, ตลอดจนนโยบายการต่างประเทศของพวกมหาอำนาจพัฒนาแล้ว ในแง่มุมของการที่พวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับพวกประเทศกำลังพัฒนา