xs
xsm
sm
md
lg

‘ตะวันตก’ไร้เหตุผลที่จะยับยั้ง ‘ไครเมีย’ ลงประชามติ

เผยแพร่:   โดย: เปเป้ เอสโคบาร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Crimea and Western 'values'
By Pepe Escobar
14/03/2014

ไม่ว่าจะในทางประวัติศาสตร์, วัฒนธรรม, หรือในทางอารมณ์ความรู้สึกของผู้คน ไครเมียก็คือดินแดนของรัสเซีย ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าแคเธอรีนมหาราชินี พิชิตมาได้จากจักรวรรดิออตโตมัน ในปี 1783 ส่วนเมืองเซวาสโตโปลก็ก่อตั้งขึ้นมาโดยมหาราชินีพระองค์นี้ ถ้าหากวงดนตรีแจ๊สสไตล์สวิงสักวงหนึ่งจะเล่นเพลงแปลงในเวอร์ขั่น “I Left My Heart in Sevastopol” (ทิ้งหัวใจของฉันเอาไว้ในเซวาสโตโปล) แล้ว หัวใจทุกๆ ดวงที่พาดพิงพูดถึงในเพลงนี้ก็จะต้องเป็นหัวใจของชาวรัสเซีย กระนั้นก็ตามที พวกนักกระหายสงครามในสไตล์สงครามเย็นของโลกตะวันตก ยังคงกำลังพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เพื่อวัตถุประสงค์อันเห็นแก่ตัวที่จะปฏิเสธไม่ยอมรับว่า ประชาชนในไครเมียนั้นมีสิทธิที่จะตัดสินใจวินิจฉัยอนาคตของพวกเขาเอง ในการลงประชามติวันอาทิตย์ที่ 16 มีนาคมนี้

ทุกๆ ผู้คนที่มีจิตปกติรับรู้อารมณ์ความรู้สึกว่องไว ต่างก็ทราบดีว่า “ความเป็นเอกภาพ” ของยูเครนนั้น ไม่คุ้มค่าควรแก่การทำสงครามครั้งใหม่เพื่อต่อสู้ช่วงชิงให้ได้มา ไม่ว่าจะเป็นสงครามร้อนหรือสงครามอุ่นก็ตามที หรือแม้กระทั่งเพียงแค่การแสดงอาการโรคฮีสทีเรียในสไตล์สงครามเย็นที่โลกตะวันตกกำลังพยายามปั่นให้เกิดกระแสขึ้นมาในตอนนี้ ก็ยังไม่คุ้มเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อรัสเซีย กำลังต่อกรด้วยการชูธงต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์ (fascism) ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เหมือนที่ได้เคยกระทำเช่นนี้มาแล้วในการต่อสู้ต้านทานระบอบเผด็จการฟาสซิสต์ของนาซีเยอรมนีในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เพียงแต่ว่าคราวนี้ลัทธิฟาสซิสต์ปรากฏแสดงตัวออกมาให้เห็นโดยพวกผู้เล่นคนสำคัญๆ บางคนซึ่งเวลานี้ขึ้นครองอำนาจอยู่ในกรุงเคียฟ และสหรัฐฯกับสหภาพยุโรป (อียู) กลับแสดงการตอบสนองด้วยการบิดเบือนสร้างภาพเพื่อให้รัสเซียแลดูกลายเป็นอสูรร้ายอย่างไม่ยอมหยุดไม่ยอมหย่อน

ไม่ว่าจะในทางประวัติศาสตร์, วัฒนธรรม, หรือในทางอารมณ์ความรู้สึกของผู้คน ไครเมียก็คือดินแดนของรัสเซีย ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าแคเธอรีนมหาราชินี พิชิตมาได้จากจักรวรรดิออตโตมัน ในปี 1783 ส่วนเมืองเซวาสโตโปลก็ก่อตั้งขึ้นมาโดยมหาราชินีพระองค์นี้ ถ้าหากวงดนตรีแจ๊สสไตล์สวิงสักวงหนึ่งจะเล่นเพลง (อันดัดแปลงจาก “I Left My Heart in San Francisco” ให้อยู่)ในเวอร์ขั่น “I Left My Heart in Sevastopol” (ทิ้งหัวใจของฉันเอาไว้ในเซวาสโตโปล) แล้ว หัวใจทุกๆ ดวงที่พาดพิงพูดถึงในเพลงนี้ก็จะต้องเป็นหัวใจของชาวรัสเซีย

กระนั้นก็ตามที เหล่านักเชิดชูบูชารัฐของโลกตะวันตกคนสำคัญๆ กลับประกาศตัดสินว่าประชากรของไครเมียไม่มีสิทธิที่จะดำเนินการลงประชามติเพื่อตัดสินอนาคตของตนเอง –ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจเข้าร่วมกับรัสเซียอีกครั้งหนึ่ง หรือเป็นการตัดสินใจคงอยู่กับยูเครนแต่ด้วยระดับการปกครองตนเองที่เพิ่มทวีขึ้นอย่างมหาศาลตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญยูเครนปี 1992 ทั้งนี้เหล่าคนสำคัญพวกนี้ไม่สามารถที่จะยอมรับได้ ก็เนื่องจากมันไม่สอดคล้องกับเกมแห่งอำนาจในทางภูมิรัฐศาสตร์ของพวกเขานั่นเอง

ด้วยเหตุนี้เอง เวลานี้จึงเกิดการขับขานรับทอดอย่างพร้อมเพรียงเสมือนกับการประกอบพิธีสวดมิสซาแห่งความคลั่งไคล้วิกลจริตขึ้นมา โดยมีการรัดร้อยอ้างอิงทั้งหลักกฎหมายระหว่างประเทศ, ทั้งประวัติศาสตร์ชนิดที่ถูกบิดเบือน, และแม้กระทั่งหลักการทางศีลธรรม (โดยเฉพาะในเรื่องหลังนี้ ผู้ที่หยิบยกอ้างอิงรายหนึ่งก็คือสหรัฐฯ ซึ่งถ้าหากพิจารณาถึงประวัติความเป็นมาในเรื่องศีลธรรมของพวกเขาแล้ว การหยิบยกอ้างอิงของวอชิงตัน ก็ย่อมกลายเป็นเรื่องตลกขำขันแกมสยดสยองเท่านั้น)

ไม่มีข้อสงสัยอะไรเลย ประชากรดั้งเดิมที่พำนักอาศัยอยู่ในไครเมียคือชาวตาตาร์ (Tatar) ซึ่งสิทธิของพวกเขาย่อมจะได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างเต็มที่ในดินแดนไครเมียใหม่แห่งนี้ อย่างไรก็ตาม พวกเขาจักไม่สามารถถึงขั้นใช้สิทธิเลือกกำหนดอนาคตของพวกเขาเองได้ ด้วยเหตุผลอย่างเดียวกับที่คนพื้นเมืองอเมริกันก็ไม่ได้รับสิทธิเช่นนั้น

แต่เมื่อพิจารณากรณีนี้โดยองค์รวมแล้ว สิ่งที่น่าห่วงน่ากังวลใจยิ่งกว่านักก็คือ การที่ฝ่ายตะวันตกยังคงพยายามบังคับตัดเฉือนแบ่งแยกดินแดนเอามาเป็นอาณานิคมตามอำเภอใจ โดยพร้อมที่จะสรรหาวิธีการและเอ่ยเอื้อนหลักการใหญ่โตหรูๆ มารองรับตามแต่ความสะดวก ทั้งนี้วิธีการเช่นนี้เองเป็นเหตุผลสำคัญที่สุดซึ่งทำให้เกิดความหายนะทางภูมิรัฐศาสตร์ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ไม่รู้สิ้นสุด และยากที่จะแก้ไขเยียวยาได้

วอชิงตันนั้นมีอาการหมกมุ่นอยู่กับการต่อสู้เพื่อเอกราชของดินแดนซูดานใต้ (ด้วยความช่วยเหลือของพวกมนุษย์โคลนนิ่งแห่งฮอลลีวูดอย่างบุคคลประเภท จอร์จ คลูนีย์) โดยเหตุผลที่นำมาใช้อ้างสร้างความชอบธรรมก็คือ เพื่อแก้ไขการบังคับตัดเฉือนแบ่งแยกดินแดนตามอำเภอใจในยุคอาณานิคม นี่ย่อมหมายความว่า หลักการนี้ก็สามารถประยุกต์ใช้กับซูดานได้ แต่แล้วหากจะนำเอาหลักการนี้มาใช้กับไครเมียบ้าง พวกเขาก็คัดค้านเสียงหลงว่าทำไม่ได้

“พวกผู้ก่อความไม่สงบ” (insurgents) ของ ธอมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) มีสิทธิที่จะเป็นกบฏต่อต้านการปกครองของอังกฤษ ทว่าชาวไครเมียนั้นไม่สามารถเป็นกบฏต่อต้านระบอบปกครองปัจจุบันในกรุงเคียฟ ซึ่งถูกคนส่วนใหญ่มองเห็นว่าเป็นระบอบปกครองที่ผิดกฎหมาย, แอบแฝงไว้ด้วยพวกเผด็จการฟาสซิสต์, และเป็นพวกที่เข้ายึดอำนาจเอาไว้อย่างไม่ถูกต้องชอบธรรม [1]

แถมการที่ไครเมียอยู่ในสภาพเป็นส่วนหนึ่งของยูเครนในปัจจุบัน ยังเป็นตัวอย่างหนึ่งของการบังคับตัดเฉือนแบ่งแยกดินแดนแบบอาณานิคมด้วยซ้ำไป โดยเราต้องไม่ลืมว่า นิกิตา ครุสชอฟ (Nikita Khrushchev) ซึ่งเป็นชาวยูเครนโดยกำเนิด ได้ใช้อำนาจในขณะที่เขาเป็นผู้นำสูงสุดของสหภาพโซเวียต เฉือนมอบดินแดนไครเมียไปให้แก่ยูเครน ในนามของความสมานฉันท์แห่งสหภาพโซเวียต โดยที่ไม่ได้มีการจัดลงประชามติเพื่อรับฟังความคิดเห็นของชาวไครเมียด้วยซ้ำ

วอชิงตันนั้น (โดยผ่านการทำสงครามในนามขององค์การนาโต้) ได้แยกสลายอดีตสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวียให้แตกออกเป็นเสี่ยงๆ ด้วยเหตุผลข้ออ้างว่า เพื่อเชิดชูหลักการ “สิทธิของประชาชาติต่างๆ “ (right of nations) ในขณะที่ไครเมียไม่ได้รับอนุญาตให้จัดการลงประชามติอย่างสันติเพื่อเชิดชูหลักการดังกล่าวนี้ ทว่า ก่อนหน้านี้ ดินแดนที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของบอสเนีย อย่าง โคโซโว (Kosovo) (ซึ่งโดยสาระสำคัญแล้วคือดินแดนในปกครองของแก๊งมาเฟียยาเสพติด) กลับได้รับสิทธิให้สามารถ “ปลดแอก” ออกมาเป็นชาติเอกราช แท้ที่จริงแล้ว เบื้องหลังอันสลับซับซ้อนซึ่งมิได้อธิบายให้มติมหาชนในสหรัฐฯได้เข้าใจซาบซึ้งกันก็คือ การที่วอชิงตันส่งเสริมสนับสนุนให้โคโซโวกลายเป็นรัฐเอกราชนั้น เหตุผลอันเป็นสาระสำคัญที่สุดก็คือเพื่อรักษาค่ายบอนด์สตีล (Camp Bondsteel) เอาไว้ ค่ายแห่งนี้ถือเป็นฐานทัพทางทหารขนาดใหญ่ที่สุดที่ตั้งอยู่นอกดินแดนของสหรัฐฯทีเดียว ดังนั้น เหตุผลในเรื่องเกี่ยวกับ “จักรวรรดิแห่งฐานทัพ” (Empire of Bases) จึงเป็นสิ่งที่อยู่เหนือกว่าหลักการว่าด้วย “สิทธิของประชาชาติต่างๆ” อย่างที่พร่ำพูดกัน

การบังคับตัดเฉือนแบ่งแยกเขตพื้นที่พำนักอาศัยของชาวชนเผ่าในปากีสถานด้วย “เส้นดูรันด์” (Durand Line) (ซึ่งจริงๆ แล้วก็เป็นผลงานชิ้นเอกอีกชิ้นหนึ่งของจักรวรรดิอังกฤษ) คือเหตุผลสำคัญที่สุดซึ่งทำให้ปากีสถานกับอัฟกานิสถานเกิดความขัดแย้งมองหน้ากันไม่ติดไปตลอดกาล แต่การแบ่งเช่นนี้สอดคล้องกับความต้องการของ “จักรวรรดิสหรัฐอเมริกา” (ถึงแม้มีความเสี่ยงอยู่เหมือนกันที่จะทำให้พวกเขาต้องตกเป็นผู้ปราชัยในสงคราม นั่นคือความพ่ายแพ้ขององค์การนาโต้ในอัฟกานิสถาน) เพราะมันช่วยให้ “จักรวรรดิ” สามารถที่จะ “เกี่ยวข้องพัวพัน” อยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็นจุดตัดกันระหว่างเอเชียกลางกับเอเชียใต้ อันทรงความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง แถมยังอยู่ประชิดใกล้ๆ กับจีนและรัสเซียอีกด้วย

ตัวอย่างไม่กี่ตัวอย่างเหล่านี้ (ยังไม่ต้องพูดถึงอิรัก ซึ่งหากจะต้องอ้างอิงกันแล้วก็จะต้องเขียนกันอย่างยาวเหยียด) แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า มันไม่มี “กฎหมายระหว่างประเทศ” ที่ใช้บังคับกับทุกๆ ฝ่ายอย่างเสมอภาค หรือ “ค่านิยมที่เป็นสากล” อะไรหรอก จะมีขึ้นมาก็แต่เพียงเมื่อ “จักรวรรดิ” บอกว่ามันมีเท่านั้น

บินไปแบบมืดบอดในยามค่ำคืน

นโยบายด้านการต่างประเทศของโอบามานั้น เวลานี้สามารถที่จะตีความว่ามีค่าทางภูมิรัฐศาสตร์เท่าเทียมกับเครื่องบินโบอิ้ง 777 เคราะห์ร้ายของมาเลเซียแอร์ไลน์ ซึ่งกำลังบินไปแบบมืดบอดในยามค่ำคืนดึกดื่นของเอเชีย ก่อนที่จะตกลงสู่ความหายนะ โดยที่นำเอาลูกค้าผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่จำนวนมากไปด้วย

เกมแห่งอำนาจครั้งใหม่ในดินแดนยูเรเชีย เริ่มต้นขึ้นด้วยหลักเหตุผลอันเลวร้าย รัสเซียควรที่จะถูกลงโทษคว่ำบาตร เพราะกำลังประพฤติตนไม่เหมือนกับเป็นชาติประชาธิปไตยที่แท้จริง --ส่วนพวกประเทศที่ยินยอมอนุญาตให้ทำการทิ้งระเบิดถล่มใส่อิรักและซีเรีย ตลอดจนให้ความสนับสนุนการติดอาวุธแก่ขบวนการอิสลามิสต์มุ่งทำสงครามศาสนาในซีเรียนั้น คือพวกที่ทำอะไรด้วยเหตุผลอันดีและสูงส่งเสมอมา

โอบามาบอกว่า “เราปฏิเสธไม่ยอมรับอย่างสิ้นเชิงสำหรับการลงประชามติที่ปะติดปะต่อขึ้นมาภายในเวลาไม่กี่อาทิตย์ โดยที่บุคลากรทางทหารชาวรัสเซียโดยพื้นฐานแล้วกำลังเข้าครอบครองไครเมียอยู่ในขณะนี้” สิ่งที่เขาไม่สามารถพูดออกมาได้ก็คือ เวลานี้เจ้าหุ่นเชิดมืออ่อนตีนอ่อนรายใหม่ในกรุงเคียฟ (ซึ่งก็คือนายกรัฐมนตรีรักษาการ อาร์เซนีย์ “ยัตส์” ยัตเซนยุค Arseniy “Yats” Yatsenyuk) ได้เข้ามาหมอบราบคาบแก้วต่อจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิแล้ว ขณะที่ “มูลนิธิ” ของ “ยัตส์” ก็ได้รับความสนับสนุนจากพวกหน้าเก่าๆ ที่ต้องสงสัยทั้งหลาย (เป็นต้นว่า กองทุนแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย National Endowment for Democracy ใช้อักษรย่อว่าNED, กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ, และองค์การนาโต้) [2] โอบามายังบอกว่า “ทีมงานจากกระทรวงการคลังและกระทรวงยุติธรรม ตลอดจนเอฟบีไอ” กำลังอยู่ในกรุงเคียฟ เพื่อ “เปิดโปงระบอบปกครองแบบโจรครองเมืองของรัฐบาลยานูโควิชที่ถูกโค่นล้มลงไปแล้ว” ทั้งนี้ถ้อยคำเช่นนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าคือถ้อยแถลง “อย่างเป็นทางการ” สำหรับโยนให้พวกสื่อมวลชนภาคบรรษัทของสหรัฐฯ (US corporate media) เอาไปเผยแพร่ ดังนั้นจึงนำไปสู่ข่าวลือที่ไม่ได้รับการยืนยันทว่าแสดงออกซึ่งความโกรธเกรี้ยว ที่ว่าทองคำของยูเครนที่ฝากเอาไว้ทั้งหมดอาจถูกลำเลียงไปยังสหรัฐฯแล้ว เพื่อเป็นการชดใช้เงินทองซึ่งวอชิงตันได้ใช้จ่ายล่วงหน้าไปสำหรับการเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองในยูเครนคราวนี้ ทั้งนี้ตามคำพูดจากปากของ วิกตอเรีย “F**k the EU” นูแลนด์ (Victoria "F**k the EU" Nuland) ระบุว่ามีจำนวน 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือราวๆ นั้น (หมายเหตุผู้แปล – วิกตอเรีย นูแลนด์ คือผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯฝ่ายกิจการยุโรปและยูเรเชีย สำหรับฉายา “F**k the EU” ที่ผู้เขียน คือ เปเป้ เอสโคบาร์ นำมาล้อเลียนนั้น เป็นคำสบถของเธอเอง ในเทปบันทึกเสียงพูดคุยทางโทรศัพท์ระหว่างเธอกับเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำยูเครน แล้วได้ถูก “มือดี” แอบบันทึกแอบนำออกมาเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต)

อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาครั้งแล้วครั้งเล่า นี่ก็เป็นความพยายามอีกคำรบหนึ่งของนาโต้ที่บุกรุกแทรกเข้าไปในยูเครน ขณะที่พวกซึ่งต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองก็กำลังพยายามใช้เล่ห์เหลี่ยมวางกลอุบายเพื่อขับไสรัสเซียให้ออกจากฐานทัพเรือใหญ่ของแดนหมีขาวในเมืองเซวาสโตโปล (Sevastopol) พล.อ.มาร์ติน เดมป์ซีย์ ประธานคณะเสนาธิการทหารผสมของสหรัฐฯ (Chairman of the Joint Chiefs of Staff) นั้นได้เปิดฉากรุกด้วยคำหวาน ด้วยการระบุถึง “พันธกรณีตามสนธิสัญญาที่มีอยู่กับเหล่าพันธมิตรนาโต้ของเรา” (ดูรายละเอียดคำพูดของเขาในเรื่องนี้ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=IjIZfSdlAp0) ภายใต้สมมุติฐาน (อันผิดพลาด) ที่ว่า มอสโกกำลังใกล้จะรุกรานยูเครน (แท้ที่จริงแล้ว ยูเครนไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของนาโต้ ไม่ได้ถูกรวมอยู่ในพันธกรณีของนาโต้ด้วยซ้ำไป –อย่างน้อยในขณะนี้ก็ยังไม่ได้เป็น)

แล้วเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับโครงข่ายท่อส่งแก๊สและน้ำมันของโลก (Pipelineistan) [3] ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ไร้ความจงใจแต่อย่างใด ดังที่ วลาดิมีร์ คอนสแตนตินอฟ (Vladimir Konstantinov) ประธานสภานิติบัญญัติสูงสุดของไครเมีย (Crimean Supreme Council) ได้ประกาศแก้ลำออกมาเรียบร้อยแล้วว่า ไครเมียต้องการให้ กาซปรอม (Gazprom รัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ด้านแก๊สและน้ำมันของรัสเซีย) เป็นผู้พัฒนาแหล่งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติที่อยู่ในแหลมไครเมีย ไม่ใช่พวกบริษัทยักษ์ใหญ่น้ำมันสัญชาติสหรัฐฯ

ในส่วนของการเล่นเกมข่มขู่ตอบโต้กัน อเล็กเซย์ ลิคาเชฟ (Alexei Likhachev) รัฐมนตรีช่วยเศรษฐกิจของรัสเซีย ได้ประกาศออกมาแล้วเช่นกันว่า จะใช้มาตรการลงโทษคว่ำบาตร “อย่างสมน้ำสมเนื้อกัน” เป็นการตอบโต้ ถ้าหากอียูเดินหน้าประกาศมาตรการเช่นนี้ต่อรัสเซีย สำหรับ จอห์น เคร์รี (รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ) นั้น ได้ประกาศขีดเส้นตายต่อมอสโกแล้ว

สถานการณ์เช่นนี้ทำให้จีนต้องออกมาแสดงตนเป็นผู้มีเหตุมีผล ฉี หมิงเต๋อ (Shi Mingde) เอกอัครราชทูตจีนประจำเยอรมนี กล่าวว่า “การลงโทษคว่ำบาตรอาจนำไปสู่การกระทำที่เป็นการตอบโต้ และนี่ย่อมจะเป็นชนวนทำให้เกิดผลต่อเนื่องหมุนวนเป็นเกลียวอย่างยาวไกลต่อไปในอนาคต ... เรามองไม่เห็นว่ามีประโยชน์ใดๆ เลยในการลงโทษคว่ำบาตร”

เช่นเดียวกับประชามติของโลกที่ไม่ได้ถูกล้างสมอง ย่อมไม่เห็นประโยชน์ใดๆ เลยในบทเรียนทางศีลธรรมที่ฝ่ายตะวันตกพยายามเทศนาสั่งสอนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับยูเครนเวลานี้

หมายเหตุ

[1] ดูเรื่อง Kiev Snipers Shooting From Bldg Controlled By Maidan Forces – Ex-Ukraine Security Chief, RT, March 13, 2014.

[2] ดูรายละเอียดเกี่ยวกับมูลนิธิของ “ยัตส์” ได้ที่ http://openukraine.org/en/about/partners

[3] ดูเรื่อง Ukraine crisis is about Great Power oil, gas pipeline rivalry, The Guardian, March 6, 2014.

เปเป้ เอสโคบาร์ เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง Globalistan: How the Globalized World is Dissolving into Liquid War (Nimble Books, 2007), Red Zone Blues: a snapshot of Baghdad during the surge (Nimble Books, 2007), และ Obama does Globalistan (Nimble Books, 2009) ทั้งนี้สามารถติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ pepeasia@yahoo.com
กำลังโหลดความคิดเห็น