xs
xsm
sm
md
lg

น้ำมันลงต่ำสุดรอบ 1 เดือน-ห้นมะกันปิดลบจากข้อมูลส่งออกจีน ทองคำขยับขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี/รอยเตอร์ - ราคาน้ำมันปิดลบแรงและวอลล์สตรีทขยับลงวานนี้(11) หลังข้อมูลการส่งออกที่อ่อนแอของจีน ก่อความวิตกต่อภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจแดนมังกร ขณะที่ทองคำ บวกเล็กน้อย นักลงทุนจับตาพัฒนาการความตึงเครียดในยูเครน

สัญญาล่วงหน้าน้ำมันดิบชนิดไลต์สวีตครูดของสหรัฐฯ งวดส่งมอบเดือนเมษายน ลดลง 1.09 ดอลลาร์ ปิดที่ 100.03 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ ส่วนเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนเดียวกัน เพิ่มขึ้น 47 เซนต์ ปิดที่ 108.55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันตลาดนิวยอร์กเมื่อวันอังคาร (11) สืบเนื่องจากการเปิดเผยข้อมูลที่น่ากังวลของจีน หลังพบว่ายอดการส่งออกของประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ หดตัวจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 18 นับเป็นการหดตัวรุนแรงที่สุดในรอบ 6 เดือน

ภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง ก่อความกังวลว่ามันจะกระทบต่ออุปสงค์ทางพลังงาน จึงฉุดให้ราคาน้ำมันขยับลง ทั้งนี้แม้ว่ารัฐบาลแดนมังกรจะย้ำเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2014 ที่ร้อยละ 7.5 ตามเดิม แต่นักวิเคาะห์กังวลว่าปัญหาหนี้ระดับมณฑล ฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์และความพยายามจำกัดการปล่อยกู้เพื่อสกัดเงินเฟ้อ อาจกระทบต่อเป้าหมายดังกล่าว

ปัจจัยข้างต้นฉุดให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯวานนี้ (11) ปิดลบพอสมควร ขณะที่อีกด้านหนึ่ง นักลงทุนก็ยังจับตาไปที่สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างยูเครนกับรัสเซีย

ดาวโจนส์ ลดลง 66.40 จุด (0.40 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 16,352.28 จุด เอสแอนด์พี ลดลง 9.47 จุด (0.50 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 1,867.70 จุด แนสแดก ลดลง 27.26 จุด (0.63 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 4,307.19 จุด

ความตึงเครียดเกี่ยวกับยูเครนยังคงคุกรุ่นในวันอังคาร (11) ด้วยขณะที่การเจรจาระหว่างสหรัฐฯและรัสเซีย ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทางประธานาธิบดีรักษาการของเคียฟก็จัดตั้งกองกำลังอาสาสมัครพิทักษ์มาตุภูมิ ส่วนวิกตอร์ ยานูโควิช อดีตผู้นำที่ถูกโค่นอำนาจ ก็ยืนกรานว่าตนเองยังเป็นประธานาธิบดีที่ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศ

สถานการณ์ความตึงเครียดที่ยังไม่มีวี่แววคลี่คลายในยูเครน ผลักให้นักลงทุนหันมาถือครองสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำเพื่อความปลอดภัย ส่งผลให้ราคาทองคำวานนี้ (11) ขยับขึ้นเล็กน้อย โดยราคาทองคำตลาดโคเม็กซ์ เพิ่มขึ้น 5.20 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,346.70 ดอลลาร์ต่อออนซ์
กำลังโหลดความคิดเห็น