xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นมะกันพุ่ง ทองคำและน้ำมันลงแรง หลังปูตินแย้มไม่ทำสงครามยูเครน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี/รอยเตอร์ - ตลาดหุ้นสหรัฐฯ พุ่งและทองคำขยับลงแรงวานนี้ (4 มี.ค.) หลังรัสเซียถอนทหารออกจากแนวชายแดนติดกับยูเครน รวมถึงประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่จะส่งกำลังพลเข้าไปยังชาติอดีตสหภาพโซเวียต ปัจจัยนี้เองก็ฉุดให้น้ำมันปิดลบหนัก ด้วยนักลงทุนคลายความกังวลทางอุปทาน

ดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 224.10 จุด (1.39 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 16,392.13 จุด เอสแอนด์พี เพิ่มขึ้น 27.86 จุด (1.51 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 1,873.59 จุด แนสแดค เพิ่มขึ้น 74.68 จุด (1.75 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 4,351.98 จุด

นักลงทุนคลายความกังวลต่อแนวโน้มสงครามในแถบแหลมไครเมีย หลังจากปูติน มีคำสั่งให้กำลังพลที่ร่วมซ้อมรบทางตะวันตกและภาคกลางของรัสเซียกลับคืนสู่ฐานทัพในช่วงปลายสัปดาห์ แม้ว่าในวันอังคาร (4) ผู้นำรายนี้จะประณามการโค่นล้มอดีตประธานาธิบดีวิกตอร์ ยานูโควิช ของยูเครนว่าเป็นการก่อรัฐประหารที่ไม่ชอบตามรัฐธรรมนูฐ และประเทศของเขาขอสงวนไว้ซึ่งสิทธิการใช้กำลังในยูเครนเพื่อปกป้องคุ้มครองพลเมืองของตน

ความเคลื่อนไหวเรียกกำลังพลกลับฐานทัพ ประกอบกับคำยืนยันของ ปูติน ที่ว่าในตอนนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องส่งทหารเข้าไปยังยูเครน ช่วยคลายความกังวลต่อเหตุความวุ่นวายด้านการลำเลียงเชื้อเพลิง และส่งผลให้ราคาน้ำมันวานนี้ (4) ดิ่งลงอย่างหนัก

สัญญาล่วงหน้าน้ำมันดิบชนิดไลต์สวีตครูดของสหรัฐฯ งวดส่งมอบเดือนเมษายน ลดลง 1.59 ดอลลาร์ ปิดที่ 103.33 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนเดียวกัน ลดลง 1.90 ดอลลาร์ ปิดที่ 109.30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันทะยานขึ้นอย่างแรงในวันจันทร์ (3) จากเหตุเผชิญหน้าอย่างเคร่งเครียดระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตกในประเด็นยูเครน หลังกองกำลังที่สนับสนุนโดยมอสโกเข้าควบคุมแหลมไครเมียโดยพฤตินัยมาตั้งแต่ช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ในวันอังคาร (4) น้ำมันกลับมาดิ่งลงหนัก หลังจาก ปูติน ประกาศว่าในตอนนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องส่งทหารเข้าไปยังยูเครน

ส่วนราคาทองคำวานนี้ (4) ก็ร่วงลงพอสมควร ด้วยประธานาธิบดีรัสเซีย ให้คำรับประกันว่าการใช้กำลังทหารจะเป็นหนทางสุดท้ายในวิกฤตยูเครน ซึ่งเป็นผลให้นักลงทุนเทขายทำกำไร หลังพุ่งขึ้นอย่างแรงหนึ่งวันก่อนหน้านี้ โดยราคาทองคำตลาดโคเม็กซ์ ลดลง 12.40 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,337.90 ดอลลาร์ต่อออนซ์
กำลังโหลดความคิดเห็น