xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นร่วมรำลึกครบ 3 ปี มหาภัยพิบัติ ‘อาเบะ’ สัญญาเร่งโครงการฟื้นฟูที่ล่าช้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online





เอเจนซีส์ - ชาวญี่ปุ่นทั่วประเทศ ในวันอังคาร (11 มี.ค.) ร่วมรำลึกวาระครบรอบ 3 ปี มหาภัยพิบัติสึนามิ-แผ่นดินไหว ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 19,000 คน ชุมชนชายฝั่งเสียหาย และนำไปสู่วิกฤตนิวเคลียร์ ที่ผลักดันให้แดนอาทิตย์อุทัยต้องทบทวนความคิดเกี่ยวกับพลังงานทางเลือกนี้ ขณะที่นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ให้คำมั่น จะเร่งรัดความพยายามในการฟื้นฟูบูรณะที่ยังคงล่าช้า โดยผู้ประสบภัยหลายแสนคนยังคงลำบากเดือดร้อน

ผู้รอดชีวิตพากันโค้งคำนับและจับมือต่อๆ กัน ในพิธีรำลึกซึ่งจัดขึ้นตามเมืองใหญ่น้อยทั่วเขตเกิดภัยพิบัติ ตลอดจนในกรุงโตเกียว ขณะเดียวกัน ประชาชนทั่วประเทศก็ยืนสงบนิ่ง 1 นาทีในเวลา 14.46 น.ซึ่งเป็นเวลาที่เมื่อ 3 ปีก่อนเกิดแผ่นดินไหวขนาดความรุนแรง 9.0 ที่บริเวณนอกชายฝั่งโตโฮกุ ถือเป็นแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดเท่าที่มีการบันทึกในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น

ความรุนแรงของแผ่นดินไหวครั้งนั้น ยังทำให้เกิดกำแพงน้ำขนาดมหึมาซึ่งเคลื่อนที่ด้วยความเร็วพอๆ กับเครื่องบินพุ่งเข้าหาฝั่ง และภายในไม่กี่นาทีชุมชนริมชายฝั่งก็พังราบเป็นหน้ากลอง ผู้คนมากมายจมน้ำ

มหาคลื่นสึนามิ ยังถล่มโรงงานไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ทำให้เตาปฏิกรณ์หลอมละลายและระเบิด เกิดเป็นวิกฤตนิวเคลียร์ครั้งร้ายแรงที่สุดของโลกในรอบหนึ่งชั่วอายุคน และผู้คนนับแสนๆ ต้องอพยพออกไปจากบริเวณดังกล่าว

แม้ไม่มีผู้เสียชีวิตจากวิกฤตของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นี้โดยตรง แต่ชาวบ้านราว 1,650 คนต้องวางวาย ด้วยอาการแทรกซ้อนจากความเครียดและปัญหาอื่นๆ ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว

สมเด็จจักรพรรดิอากิฮิโตะ ซึ่งเสด็จร่วมพิธีรำลึกในโตเกียววันอังคาร ทรงมีพระราชดำรัสว่า ทรงเสียพระทัยมากเมื่อคิดถึงชาวฟูกูชิมะที่ยังคงไม่อาจรู้ว่าจะได้กลับบ้านอีกหรือไม่

“ผู้รอดชีวิตมากมายยังต้องเผชิญปัญหาต่างๆ สิ่งสำคัญคือ ชาวญี่ปุ่นทุกคนต้องรวมใจและยืนหยัดเคียงข้างกันนานแสนนาน เพื่อให้คนเหล่านั้นมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่สิ้นหวัง”

ภัยพิบัติใหญ่ 3 รูปแบบที่เกิดขึ้นไล่เลี่ยกันในวันที่ 11 มีนาคม 2011 ที่คนญี่ปุ่นเรียกว่า 3-11 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 15,884 คน และสูญหายอีก 2,636 คนในบริเวณชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ และรัฐบาลจัดสรรงบประมาณ 250,000 ล้านเยนสำหรับการฟื้นฟูบูรณะจนถึงเดือนมีนาคม 2016
พิธีรำลึกครบรอบ 3 ปีมหาภัยพิบัติ แผ่นดินไหว-สึนามิ-วิกฤตนิวเคลียร์ ซึ่งจัดขึ้นในบริเวณที่เคยเป็นโรงเรียนมัธยมต้นยูริอาเกะ เมืองนาโตริ จังหวัดมิยางิ เมื่อวันอังคาร (11) มีการปล่อยลูกบอลลูนที่ทำเป็นรูปนกพิราบ ช่วยสร้างบรรยากาศให้แช่มชื่นมีความหวัง
อย่างไรก็ดี แม้ผ่านมาแล้ว 3 ปี แต่ประชาชนเกือบ 270,000 คน ยังไม่สามารถกลับบ้านได้ ซึ่งรวมถึงประชาชนในหลายพื้นที่ของจังหวัดฟูกูชิมะที่อาจไม่สามารถกลับบ้านได้ตลอดไป เนื่องจากการปนเปื้อนของกัมมันตรังสี

ล่าสุด รัฐบาลเพิ่งสร้างบ้านใหม่ได้เพียง 3.5% จากที่สัญญาไว้ว่าจะสร้างให้ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยรุนแรงคือจังหวัดอิวาเตะและมิยางิ

นายกรัฐมนตรี อาเบะ ซึ่งเดินทางไปยังพื้นที่ประสบภัยบ่อยครั้งนับจากเข้ารับตำแหน่งตอนปลายปี 2012 ประกาศเมื่อวันอังคารว่า จะเร่งรัดผลักดันโครงการฟื้นฟูบูรณะ เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมหาภัยพิบัติสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติโดยเร็วที่สุด

ผู้นำแดนอาทิตย์อุทัยยังให้สัญญาว่า จะอพยพชุมชนตามแนวชายฝั่งที่ได้รับความเสียหายขึ้นไปอยู่บนที่สูงเพื่อให้ปลอดภัยจากคลื่นยักษ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งสร้างบ้านการเคหะเพิ่มขึ้นอีกหลายพันหลังภายในหนึ่งปีในจังหวัดอิวาเตะและมิยางิ

ที่ฟูกูชิมะ การพื้นฟูบูรณะล่าช้ากว่าพื้นที่อื่นๆ เนื่องจากหายนะนิวเคลียร์ หลายเมืองยังเป็นพื้นที่ต้องห้ามเพราะมีการปนเปื้อนของกัมมันตรังสีสูง

แม้โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟูกูชิมะมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ยังคงมีปัญหาการรั่วของน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีบ่อยครั้ง รวมทั้งอุบัติเหตุต่างๆ ที่กระตุ้นความกังวลว่า สถานการณ์ในโรงงานนี้อาจยังไม่สามารถควบคุมได้อย่างแท้จริง การรั่วไหลนี้ยังขัดขวางแผนยุติการดำเนินงานของโรงงาน ซึ่งคาดว่าเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาราว 40 ปี

ในวันอาทิตย์ (9) ที่ผ่านมา ประชาชนหลายหมื่นคนเดินขบวนต่อต้านโรงงานไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ในโตเกียว และแสดงความไม่พอใจต่อแผนการของอาเบะในการเปิดใช้งานเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่เสียหายอีกครั้ง

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นแหล่งป้อนกระแสไฟฟ้ากว่า 1 ใน 4 ให้แก่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่ขาดแคลนทรัพยากรพลังงาน และนับจากมหันตภัยเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ญี่ปุ่นต้องปิดเตาปฏิกรณ์ทั้งหมด ทำให้ต้องหันไปหาเชื้อเพลิงฟอสซิลราคาแพงแทน

“นายกรัฐมนตรีอาเบะและอุตสาหกรรมนิวเคลียร์หวังว่า ชาวญี่ปุ่นและโลกจะลืมเหยื่อและบทเรียนเลวร้ายจากฟูกูชิมะ พวกเขาหวังว่าจะสามารถเปิดใช้งานเตาปฏิกรณ์เก่าที่มีความเสี่ยงอีกครั้ง” จุนอิชิ ซาโตะ กรรมการบริหารกรีนพีซในญี่ปุ่นทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น