เอเอฟพี/รอยเตอร์/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประกาศเปิดการไต่สวนเหตุรุนแรงในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง อดีตดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศสที่เผชิญกับวิกฤตการเข่นฆ่ากันเป็นรายวัน ระหว่างชาวคริสต์และชาวมุสลิม จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วหลายพันคน ขณะที่อีกกว่า 1 ล้านคนต้องกลายสภาพเป็นผู้อพยพ โดยในเบื้องต้นทีมสืบสวนของยูเอ็นชี้สถานการณ์ในประเทศนี้อาจเข้าข่ายการ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”
แบร์นาร์ด อาโช มูนา นักการทูตชาวแคเมอรูน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เข้ารับหน้าที่หัวหน้าทีมสืบสวนของยูเอ็น ต่อวิกฤตความรุนแรงในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง เผยต่อผู้สื่อข่าวที่นครเจนีวาของสวิตเซอร์แลนด์ในวันจันทร์ (10) โดยระบุว่ากำลังตรวจสอบความเป็นไปได้ที่ว่าอดีตดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศสแห่งนี้อาจเผชิญกับการ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”
มูนา ซึ่งเคยทำหน้าที่เป็นอัยการให้กับศาลอาชญากรระหว่างประเทศ (ICC) กรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประเทศรวันดามาก่อน เผยว่า พบหลักฐานมากมายที่บ่งชี้ว่าในขณะนี้ได้เกิดขบวนการสร้างความเกลียดชังและการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อป้ายสีกันไปมาระหว่างชาวคริสต์และชาวมุสลิมในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง
นักการทูตชาวแคเมอรูนรายนี้ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในแอฟริกากลางมีความคล้ายคลึงกับเมื่อครั้งที่ชนเผ่า “ฮูตู” ที่เป็นชนส่วนใหญ่ของรวันดา นำวิธีการเดียวกันนี้มาใช้ในการปลุกปั่นสร้างกระแสความเกลียดชังต่อชนกลุ่มน้อยเผ่า “ทุตซี” ที่มีสัดส่วนราว 15 เปอร์เซ็นต์จากประชากรราว 7 ล้านคนของรวันดา และนำไปสู่หนึ่งในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่น่าสะพรึงกลัวที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตในรวันดาไปมากกว่า 800,000 คนเมื่อปี 1994 ซึ่งราว 3 ใน 4 ของจำนวนผู้เสียชีวิตในครั้งนั้น คือ ชนเผ่าทุตซี
ทั้งนี้ เหตุรุนแรงในสาธารณรัฐแอฟริกากลางเริ่มปะทุขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว เมื่อกลุ่มกบฏมุสลิมที่เรียกตัวเองว่า “เซเลกา” ก่อรัฐประหารโค่นอำนาจรัฐบาลของประธานาธิบดีฟรองซัวส์ โบซิเซ
โดยที่มิเชล โฌโตเดีย ผู้นำกลุ่มกบฏสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ขณะที่เหล่านักรบมุสลิมเซเลกาได้เริ่มออกตระเวนก่อเหตุปล้น ฆ่า ข่มขืนตามย่านชุมชนของชาวคริสต์ที่ถือเป็นประชากรส่วนใหญ่ในแอฟริกากลาง จนชาวคริสต์ต้องรวมตัวกันจัดตั้งกองกำลังป้องกันตนเองและกลุ่มติดอาวุธที่เริ่มออกตระเวน “ล้างแค้น” โดยมีชาวมุสลิมเป็นเป้าหมาย
ข้อมูลล่าสุดของสหประชาชาติระบุว่า การเข่นฆ่ากันระหว่างชาวคริสต์และมุสลิมในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ส่งผลให้ประชาชนราว 650,000 คนต้องกลายสภาพเป็นผู้อพยพภายในประเทศ
ขณะที่อีกอย่างน้อย 300,000 คน อพยพหนีตายออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านรายรอบ ส่วนกำลังทหารจากฝรั่งเศสและองค์การเอกภาพแอฟริกัน (เอยู) ที่มีจำนวนหลายพันนายที่ถูกส่งเข้าไปในแอฟริกากลาง ประสบความล้มเหลวในการควบคุมสถานการณ์