รอยเตอร์/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - เกิดเหตุกลุ่มติดอาวุธที่มีจุดยืนสนับสนุนรัสเซีย บุกเข้ายึดสนามบินทหารอีกแห่งหนึ่งในสาธารณรัฐปกครองตนเองไครเมียของยูเครนในวันอาทิตย์ (9) ขณะที่นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนีเตือนรัสเซียจะโดนคว่ำบาตรหนัก หากคิดแบ่งแยกไครเมียออกจากยูเครน
รายงานข่าวซึ่งอ้าง วลาดิสลาฟ เซเลซน์ยอฟ โฆษกกระทรวงกลาโหมของไครเมีย ระบุว่า กลุ่มติดอาวุธที่แต่งกายในชุดเครื่องแบบทหารจำนวนประมาณ 80 คน พร้อมด้วยพลเรือนจำนวนหนึ่งได้ปิดกั้นทางเข้าสนามบินทหารแห่งหนึ่ง ที่อยู่ใกล้กับหมู่บ้านซากิ ก่อนที่จะบุกเข้าไปภายในและมีการจัดตั้งแท่นยิงปืนกลตลอดความยาวของทางวิ่งภายในสนามบินดังกล่าว
ก่อนหน้านี้ กำลังทหารของรัสเซียได้เข้าควบคุมจุดยุทธศาสตร์หลายแห่งทั่วสาธารณรัฐไครเมีย รวมถึงสนามบินทหาร “เบลเบ็ค” และสนามบินพลเรือนหลักในเมืองซิมเฟโรโพล โดยปราศจากการต่อต้านจากประชาชนในไครเมีย ที่ส่วนใหญ่ต้องการแยกตัวออกจากยูเครนและไปรวมเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย หลังเกิดการปฏิวัติทางรัฐสภาในกรุงเคียฟของยูเครนซึ่งมีผลทำให้ประธานาธิบดี วิคตอร์ ยานูโควิช ผู้นำที่มีจุดยืนโปรรัสเซียต้องถูกถอดออกจากอำนาจ และมีการสถาปนารัฐบาลใหม่ของยูเครนที่โปรตะวันตกเข้ามาบริหารประเทศเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน มีรายงานในวันอาทิตย์ (9) ว่า ทหารรัสเซียจำนวนหนึ่งได้เข้าควบคุมพื้นที่จุดตรวจแห่งหนึ่ง บริเวณชายแดนด้านตะวันตกของไครเมียที่ติดต่อกับยูเครนแล้ว โดยจุดตรวจดังกล่าวถือเป็นจุดตรวจแห่งที่ 11 แล้ว บริเวณชายแดนไครเมีย-ยูเครน ที่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของทหารรัสเซีย
ทั้งนี้ มีรายงานว่า ก่อนการบุกยึดจุดตรวจดังกล่าวซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเยฟปาโทริยา กองกำลังของรัสเซียได้ยื่นคำขาดให้ทหารของยูเครนยอมจำนน หรือต้องเผชิญกับการบุกเข้ายึดของทหารรัสเซีย แต่ไม่มีรายงานการปะทะกันระหว่างทหารทั้งสองฝ่ายในเวลาต่อมา
ในอีกด้านหนึ่ง นายกรัฐมนตรีหญิงอังเกลา แมร์เคิลแห่งเยอรมนี ออกโรงเตือนประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียโดยระบุว่า การจัดลงประชามติเพื่อแยกตัวจากยูเครนของไครเมีย ที่มีรัฐบาลมอสโกหนุนหลังนั้น ถือเป็นเรื่องที่มิชอบด้วยกฏหมาย และเข้าข่ายละเมิดรัฐธรรมนูญของยูเครนอย่างชัดเจน
นายกรัฐมนตรีหญิงของเยอรมนี ยังเตือนว่า รัสเซียอาจต้องเผชิญมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากโลกตะวันตก หากยังดึงดันเดินหน้าแผนผนวกไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแดนหมีขาว แม้ประชาชนส่วนใหญ่ในไครเมียจะมีเชื้อสายรัสเซีย และผูกพันกับรัสเซียก็ตาม