เอเอฟพี/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ชาวกรีกจำนวนมากกว่า 2,000 คน ออกมารวมตัวเดินขบวนตามท้องถนนบนเกาะครีตในวันอาทิตย์ (9) เพื่อประท้วงแผนการนำอาวุธเคมีของซีเรียมาทำลายทิ้งในน่านน้ำฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
รายงานข่าวระบุว่า การเดินขบวนของชาวกรีกบนเกาะครีต เพื่อแสดงพลังต่อต้านการทำลายอาวุธเคมีซีเรีย ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนดังกล่าว มีขึ้นท่ามกลางฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก แต่ถึงกระนั้นสายฝนก็ไม่อาจขัดขวางประชาชนมากกว่า 2,000 คนที่ออกมารวมตัวเพื่อเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เปิดเผยข้อมูลที่มากขึ้นเกี่ยวกับแผนการดังกล่าวต่อสาธารณชน
พาฟลอส โพลากิส นายกเทศมนตรีเมืองสฟาเกียที่อยู่ใกล้เคียงออกมาเปิดเผยว่า นี่คือการแสดงพลังครั้งแรกของประชาชนบนเกาะครีตเพื่อต่อต้านแผนทำลายอาวุธเคมีซีเรีย ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเกาะ ทำให้ทะเลปนเปื้อน และทำลายอนาคตของผู้คนในเมดิเตอร์เรเนียน
ปฏิบัติการทำลายอาวุธเคมีของซีเรียที่ได้รับการหนุนหลังจากองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ดังกล่าว ก่อให้เกิดการประท้วงของประชาชนทั้งในอิตาลีและกรีซที่หวั่นเกรงผลกระทบจากการนำอาวุธร้ายแรงดังกล่าวมาทำลายทิ้ง ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนฝั่งตะวันออก แม้จะมีการให้คำมั่นว่าภารกิจดังกล่าวจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบใดๆ ต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์น้ำ
ขณะที่บรรดาองค์กรเคลื่อนไหวเอกชน รวมถึงกลุ่ม “กรีนพีซ” ต่างตั้งคำถามถึงความปลอดภัยของปฏิบัติการนี้ที่แทบไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลให้กับชุมชนต่างๆ ที่อาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งใกล้เคียง
ภายใต้แผนการดังกล่าว อาวุธเคมีของรัฐบาลดามัสกัส จะถูกขนส่งลำเลียงออกจากเมืองท่าลาตาเกียของซีเรียโดยเรือสินค้าของเดนมาร์กและนอร์เวย์ จากนั้นจะมีการขนถ่ายอาวุธเคมีซีเรียต่อไปยังเรือสินค้า “เคป เรย์” ของสหรัฐฯ ที่ขณะนี้ลอยลำอยู่นอกชายฝั่งตอนใต้ของสเปนโดยบนเรือลำดังกล่าวมีการติดตั้งอุปกรณ์สำหรับทำให้หัวเชื้ออาวุธเคมีเสื่อมสภาพ ก่อนจะมีการนำกากของเสียจากกระบวนการดังกล่าวไปทิ้งในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ก่อนหน้านี้ ซิกริด คาก นักการทูตหญิงชาวดัตช์ ซึ่งถูกบัน กี-มุน เลขาธิการใหญ่ยูเอ็น เสนอชื่อให้รับหน้าที่ดูแล “ภารกิจร่วม” ระหว่างสหประชาชาติและองค์กรห้ามการครอบครองอาวุธเคมี (โอพีซีดับเบิลยู) ออกมายอมรับเป็นครั้งแรกว่า มีความเป็นไปได้น้อยมากที่ภารกิจการทำลายอาวุธเคมีที่ได้รับการส่งมอบมาจาก รัฐบาลซีเรียจำนวนกว่า 1,300 ตันนั้น จะเสร็จสิ้นภายในเส้นตายวันที่ 30 มิถุนายน เนื่องจากขณะนี้ภารกิจดังกล่าวเพิ่งมีความคืบหน้าราว 40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
โดย คาก ยอมรับว่าปัญหาสำคัญที่กลายเป็น “อุปสรรคใหญ่หลวง” ต่อการทำลายอาวุธเคมีซีเรียจำนวนมหาศาลดังกล่าว คือ ปัญหาด้านการขนส่ง โดยเฉพาะการขาดความร่วมมือจากนานาประเทศ ในการจัดหาเครื่องมือที่เหมาะสม สำหรับใช้ลำเลียงอาวุธเคมีได้อย่างปลอดภัย
นักการทูตหญิงจากเนเธอร์แลนด์รายนี้ยอมรับว่าที่ผ่านมา คณะทำงานของเธอได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากรัฐบาลซีเรียของประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด ในการส่งมอบข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับอาวุธเคมีในครอบครอง แต่ทีมงานของเธอกลับต้องเผชิญปัญหาที่แก้ไม่ตกในการหาทางลำเลียงอาวุธเคมี ทั้งหมดออกจากคลังแสงในซีเรีย เพื่อเข้าสู่กระบวนการทำลายทิ้งอย่างปลอดภัย